‘ไทยออยล์’ มองสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบยังสูง เหตุโอเปกพลัสเชื่อมั่นการใช้ฟื้นตัว

‘ไทยออยล์’ มองสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบยังสูง เหตุโอเปกพลัสเชื่อมั่นการใช้ฟื้นตัว

“ไทยออยล์” คาดราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวในระดับสูง เวสต์เท็กซัส อยู่ในกรอบ 61-66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่เบรนท์ อยู่ในกรอบ 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังกลุ่มโอเปกพลัสเชื่อมั่นการใช้ฟื้นตัว ท่ามกลางยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังสูง

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ระหว่างวันที่ 3 – 7 พ.ค. 2564 โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากความเชื่อมั่นของกลุ่มโอเปกต่อการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันของโลก ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับสถาบันทางการเงินคาดการณ์การฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น 5.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับครึ่งปีแรกจากปัจจัยความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ และยุโรป

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้นต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันมาตรการล็อคดาวน์ในหลายประเทศจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ได้แก่

กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรีของกลุ่มโอเปกพลัส (JMMC) เพื่อทบทวนเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตเร็วขึ้นกว่ากำหนด 1 วัน โดยที่ประชุมมีมติคงระดับการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตเดือน พ.ค. ถึง ก.ค. ที่ระดับ 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. และเดือน มิย. ส่วนเดือน ก.ค. จะปรับการผลิตเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 1 เม.ย.

162001323234

โดยกลุ่มเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้น้ำมันจะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ผลิตยังจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศอินเดียในและประเทศแถบอเมริกาใต้ที่ยังมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ การประชุมของกลุ่มผู้ผลิตครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 1 มิ.ย. เพื่อพิจารณาระดับการผลิตอีกครั้ง

ขณะที่สถาบันโกลด์แมน แซคซ์ คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มสูงขึ้นในปลายปีนี้ โดยโกลด์แมน แซคซ์คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะอยู่ที่ระดับ 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีหลังของปี โดยราคาน้ำมันจะได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในครึ่งปีหลังที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรกถึง 5.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปัจจัยความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่องโดยเฉพาะในแถบยุโรปและสหรัฐฯ และมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เริ่มมีการผ่อนคลาย ขณะที่รายงานประจำเดือนของ Rystad คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ในช่วง 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งปีหลังของปี

อีกทั้ง สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 23 เม.ย. ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 0.09 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 493.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.66 ล้านบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่นปรับสูงขึ้น 0.4% สู่ระดับ 85.4%

162001338560

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศเริ่มมีการเริ่มประกาศนโยบายการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (Travel Bubble) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สิงคโปร์และฮ่องกงประกาศนโยบายท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศโดยไม่ต้องกักตัวโดยจะเริ่มวันที่ 26 พ.ค. หลังจากนโยบายนี้ถูกเลื่อนมาจากปลายปีที่แล้ว นอกจากนี้สายการบินเส้นทางระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้งวันที่ 28 เม.ย. หลังนโยบาย Travel Bubble ระหว่างสองประเทศหยุดชะงักชั่วคราว จากพบผู้ติดเชื้อในออสเตรเลียเดินทางด้วยสายการบินภายในประเทศเมื่อวันที่ 21 เม.ย. เพียง 3 วันจากวันที่เริ่มเปิดพรมแดน

ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำมันระยะสั้นยังคงมีแนวโน้มถูกกดดันจากผู้ติดเชื้อโควิด-19ในแถบเอเชียเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดสถานการณ์ในประเทศอินเดียแย่ลงมากหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในประเทศอินเดียเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 300,000 ราย ส่งผลให้หลายรัฐจำเป็นต้องขยายเวลาการใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ขณะที่ญี่ปุ่นเตรียมมาตรการเพิ่มความเข้มงวดการเดินทางเข้าประเทศหลังมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียในประเทศแล้ว 21 ราย ท่ามกลางผู้ติดเชื้อที่ยังเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดระรอกที่ 4

รวมถึง เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน เดือน เม.ย. 64 และ ดัชนียอดขายปลีกยูโรโซน เดือน มี.ค.