ถอดบทเรียน..เจ็บแต่ไม่จบ! ร้านอาหารจะสู้! หรือถอย ฝ่าวงล้อมโควิด-19

ถอดบทเรียน..เจ็บแต่ไม่จบ!  ร้านอาหารจะสู้! หรือถอย ฝ่าวงล้อมโควิด-19

โควิดระบาดรอบ 3 เป็นเฟส "วัดใจ" ธุรกิจ "ร้านอาหาร" มีกี่รายจะอยู่รอด หรือยกธงขาว เลิกกิจการ กี่การปรับตัว พลิกกระบวนท่าจึงจะยื้อให้ลูกค้าที่เงินน้อยลงทุกวัน ยังควักกระเป๋าซื้ออาหารร้านโปรดได้ ฟังกูรูอาหารแชร์ไอเดีย

ธุรกิจร้านอาหารทุกประเภทมีมูลค่ารวมกันกว่า 4 แสนล้านบาท แม้จะมี Big4 เป็นเชนยักษ์ใหญ่ เช่น ไมเนอร์ฟู้ด, เอ็มเค เรสโทรองสต์, เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ปหรือซีอาร์จี แต่ยังมีรายใหญ่อื่นอีกมากมาย ยิ่งกว่านั้นยังเป็นธุรกิจที่เต็มไปด้วย เอสเอ็มอี ทำตลาดอยู่จำนวนมาก

จากโควิด-19 ระบาดรอบแรกที่ทำให้ผู้คนช็อก!! ทั้งโลก เศรษฐกิจพังพาบ ธุรกิจเสียหาย รัฐงัดมาตรการล็อกดาวน์มาใช้ ทำให้ธุรกิจเจอผลกระทบหนักเบาแตกต่างกัน 

ร้านอาหาร โดนคลื่นโควิด-19 ซัดเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากมาตรการรัฐที่สั่งให้ปิดร้านห้ามนั่งทานที่ร้าน และซื้อกลับบ้าน รอบแรกที่หนักหน่วง รายไหนไหวตัวทัน ปรับตัว ตีลังกากลับหัวคิดจนหาทางฝ่าวิกฤติมาได้ ทว่า โควิดระบาดรอบ 3 ที่ยอดผู้ติดเชื้อทะลุพัน คนตายทุกวันหลักสิบรายบ้าง หลักหน่วยบ้าง เพื่อกำราบโรคร้าย พื้นที่สีแดง 6 จังหวัด จึงต้องมาตรการขั้นสุดอีกระลอก ร้านอาหารเปิดได้แต่ห้าม!!นั่งรับประทานที่ร้าน สั่งกลับบ้านได้แต่จำกัดเวลาบริการถึง 21.00

เสียงโอดครวญของผู้ประกอบการจึงตามมา และครั้งนี้จะเป็นการชี้ชะตากรรมธุรกิจด้วยว่า จะกลืนเลือด จะสู้ไหวไหม หรือยอมยกธงขาวม้วนเสื่อปิดกิจการ รอวันฟ้าเปิดแล้วค่อยกลับมาอีกที 

ห้วงเวลา เป็น-ตายของธุรกิจ การตัดสินใจที่ยากยิ่ง เพราะงานนี้ต้องมีคนอยู่และมีคนไป! จะเป็นใครต้องติดตาม เมื่อสถานีวิทยุ จส.100” จัดรายการบนคลับเฮ้าส์ เชิญผู้ประกอบการมาคุยผ่านหัวข้อขายอาหาร Take Home เท่านั้น ปรับตัวยังไง มาฝากร้านกันมีกูรูการตลาด ผู้บริหารร้านอาหาร และเชฟ มาแบ่งปันไอเดีย กลยุทธ์ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจกัน 

161996444564

++สถานการณ์โหด! แต่ใจห้ามหดหู่

ยอดขายเดลิเวอรี่ ไม่เซ็กซี่อีกต่อไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บาบีคิวพลาซ่า ที่มีมังกร บาบีก้อนเป็นพี่ใหญ่ในวงการธุรกิจอาหาร วิกฤติที่ผ่านมาบริษัทพลิกหลายกระบวนท่าเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดมาได้จนถึงวันนี้ 

บาบีก้อนเป็นแบรนด์อายุ 33 ปี แข็งแกร่งพอสมควร แต่การเป็นอาหารประเภทปิ้งย่างบางครั้งไม่เหมาะกับซื้อกลับบ้านหรือTake Home แต่บาบีก้อนได้ทลายกฏเหล่านั้นและเสิร์ฟความอร่อยถึงบ้านมาแล้ว 

กล่าวถึงสถานการณ์กึ่งล็อกดาวน์ธุรกิจร้านอาหาร ให้เปิดบริการได้ แต่ห้ามนั่งทานที่ร้าน ซื้อสั่งกลับบ้านเท่านั้น มาตรการที่รัฐงัดมาใช้ครั้งนี้ บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหารฟู้ดแพชชั่น บอกว่า ไม่ใช่สิ่งที่เซอร์ไพรส์ เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะการเกาะติดโรคโควิดระบาดในต่างประเทศ จะมีการยกระดับการสกัดไวรัสไม่ต่างจากที่ไทยทำอยู่ 

เมื่อจำลองสถานการณ์ธุรกิจไว้แล้ว จึงมีแผน 1 แผน 2 รองรับการทำงาน ประกอบกับโควิดระบาดรอบแรกรอบสองทำให้ได้บทเรียนจากการพลิกโมเดล กลยุทธ์การตลาดแบบไหนที่เวิร์คทำต่อได้ เพราะครั้งแรกผู้บริหาร ทีมงานบ้าพลังมาก ดิ้นรนให้รอด 

 ระลอกนี้ไม่เซอร์ไพรส์ สิ่งที่รัฐบาลสั่งแบบนี้ คิดไว้แล้วว่าน่าจะมีการปิดร้านในช่วงวันหยุดยาว วันแรงงาน เพราะเรียนรู้จากสถานการณ์ต่างประเทศ และสงกรานต์ที่ผ่านมาเราเดินทางกันจนทำให้เกิดการแพร่ระบาดไวรัสอีกรอบ”  

กล่าวกันว่าถ้าเราอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น จะใช้สูตรสำเร็จเดิมย่อมไม่ได้ผลดีนัก การขายสินค้าผ่านเดลิเวอรี่ ซื้อกลับบ้านรอบนี้จึงหนักหน่วง 

โหดแหละ แต่ใจห้ามหดหู่ และมันจะผ่านไปเธอขยายความว่ารอบนี้การซื้อสินค้ากลับบ้าน ยอดขายโคตรน้อยและยอดขายน้อยตั้งแต่ก่อนรัฐสั่งไม่ให้นั่งทานที่ร้านด้วย เพราะคนกลัวมากจริงๆ ออกจากบ้านน้อยลง ยอดขายเดลิเวอรี่ก็ไม่เซ็กซี่เหมือนเดิมรอบแรกเดลิเวอรี่บูมมาก เพราะผู้ประกอบการ ผู้บริโภคปรับตัวอยากมี ประสบการณ์ จนการสั่งอาหารออนไลน์ เดลิเวอรี่กลายเป็นแฟชั่น

ยอดสั่งซื้อสินค้ากลับบ้านน้อยลงกว่ารอบแรก เดลิเวอรี่ไม่หวือหวา การปรับตัวจึงต้องทำตอเนื่อง หนึ่งในนั้นคือการออกแคมเปญการตลาดปั๊มยอดขายให้ได้ เมื่อผู้บริโภคต้อง Stay Home จงยกขบวน Gon Gang และแบรนด์ในเครือ จัดโปรแรงสุดคุ้มภายใต้ 5 มาตรGONเยียวยา คอนเซปต์ “GON MADE FROM HEART”  ได้แก่ GON ช่วยครึ่ง ไทยฌานา หม้อชนะ .333 เรารักกัน และ GON ไม่ทิ้งกัน หลังเจาะลึกอินไซต์ผู้บริโภคที่มีความกังวลจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเงิน แต่ให้ลูกค้าคได้อร่อยกับอาหารเในราคาจับต้องได้ เป้นต้น โดยกิจกรรมทยอยปล่อยออกมาตั้งแต่ 28 เมษายน - 21 พฤษภาคม 2564 

161997417273

แคมเปญตลาดออกมารอบนี้ บุณย์ญานุช บอกว่าท้าทายการทำงานของตัวเองและทีมงานมาก เพราะโรคระบาดเข้ามาแต่ละระลอกสิ่งที่ต้องทำคือวาด ลายเซ็นต์แบรนด์ให้ชัดขึ้น เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานการทำงานการตลาดและสร้างแบรนด์

การพลิกศาสตร์การตลาดเข้าสู้โควิดไม่จบแค่นี้ เพราะฟู้ดแพชชั่นจะมีโมเดลใหม่ออกมาเพิ่ม นอกจากปรับตัวการทำงานสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการปรับวิธีการคิดหรือ Mindset ใหม่ เตรียมรับบทสดทอบการทำธุรกิจให้อยู่รอดที่ยากขึ้นเรื่อยๆ  

++เฟสวัดใจ

เจ้าของกิจการ-ลูกน้องใครรอด?? 

การมองโลกแง่บวกเป็นเรื่องดี แต่ต้องตั้งบนพื้นฐานความจริงด้วย โควิดรอบแรกพัดผู้ประกอบการอ่อนแอให้ออกจากตลาดไปบ้างแล้ว รอบนี้แกร่งไม่พอ อาจไปต่อไม่ไหว ทำให้ เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย ประธานกรรมการ บริษัท ลูกชิ้นจัง ดิสทริบิวเตอร์ จำกัด ที่มีแฟรนไชส์ร้านลูกชิ้นปลาพรีเมี่ยมแบรนด์ ลูก-ชิ้น-จังกว่า 600 สาขาทั่วไทย

เจตบัญชา แชร์มุมมองน่าสนใจหลายด้าน มุมบวกคือการเจอโรคโควิดส่งผลให้การทำงานแก้ปัญหามีความสนุก รอบแรกที่เจอไวรัสเป็นห้วงเวลาแห่งการปรับตัวของร้านอาหารจากนั่งทานในร้านไปสู่โลกเดลิเวอรี่มากขึ้น 

รอบแรกตกใจ แต่สนุก เพราะวิถีเปลี่ยนหมด สนุกที่ได้ทำสิ่งใหม่ คิด พร้อมทำสิ่งใหม่ๆให้ลูกค้า แต่เพราะตอนนั้นยังพอมีกระสุนอยู่ทว่า ตอนนี้ทุกอย่างตาลปัตรสวนทางกัน เพราะยอดขาย รายได้หด กระสุนทุนน้อยลง สิ่งที่ผู้ประกอบการร้านอาหารทำได้ ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นคือต้องประหยัดค่าใช้จ่ายรอบด้านเพื่อให้องค์กร Lean มากที่สุด 

เฟสสามกระสุนทุนหมด ทุกคนเริ่มไม่มีทุน เพราะยื้อมาปีกว่าแล้ว เฟสนี้น่าจะได้เห็นคนทำร้านอาหารล้มหายตายจากไปบ้าง น่าเสียดาย 

เจตบัญชา ย้ำ 2 ทางเลือกมาสะท้อนสถานการณ์ หากผู้ประกอบการสู้ต่อ ต้องมีฝ่ายอยู่และไประหว่างเจ้าของ-ลูกน้อง พนักงาน” 

ถ้าหยุดตรงนี้ เจ้าของกิจการรอด พนักงาน ร้านสาขา 600 ตายหมด แต่หากสู้ต่อ ทุกคนรอด เรา(เจ้าของกิจการ)ตาย เป็นเฟสวัดใจว่าเรารักองค์กร และแบรนด์ที่สร้างแค่ไหน

ส่วนวิธีรอด มอง 2 แบบ แบบแรก ต้องปรับเรื่องเมนู บริการและสร้างโมเดลแบบใหม่เข้าสู่ ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องจับมือกันทำอะไรสักอย่าง นำจุดแข็ง ของดีที่แต่ละแบรนด์มีมาผสานพลังหรือ Synergy กัน เช่น อาหารดีรสเลิศ สาขาเยอะ มีไรเดอร์ส่งอาหารของตัวเอง ก็ทำสิ่งใหม่ให้ลูกค้าทั้ง 2 ฝ่าย ได้แชร์ฐานลูกค้า ไม่แย่งกันเอง ทำสิ่งใหม่ที่คนอยากได้ จาก 2 แบรนด์ ลูกน้องที่มีมากมายผันมาเป็นคนส่งสินค้าถึงบ้านผู้บริโภคแทนการพึ่งไรเดอร์จากแพลตฟอร์มอื่นที่โขกค่า GP สูง เป็นต้น 

กลยุทธ์ดังกล่าวสะท้อนว่าเวลานี้ One-man show โซโล่เดี่ยวคนเดียวสร้างสิ่งแปลกใหม่ได้ แต่ เงินในกระเป๋าลูกค้าน้อยลงนี่คือสิ่งที่น่ากลัว เพราะเงินคือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องแย่งชิงกัน

แบบที่สอง มีของดีแล้ว ต้องมาดูว่า จะอยู่รอดคุ้มทุนจะต้องขาย หรือมีลูกค้ากี่คนมาซื้อสินค้า ลูกค้าเป็นใคร อยู่ไหน นำมาวิเคราะห์เป็นขั้นตอน เพราะเมื่อรู้ต้นทุน คำนวณยอดขายได้ จะทำให้จัดสรรวัตถุดิบพอเหมาะกับคนซื้อ เมื่อเห็นตัวเลขยอดขาย-คุ้มทุนต่อวันอาจรอด!  

ถ้าเราไม่รู้ว่าต้องการลูกค้ากี่คนมาทำให้ร้านเราอยู่รอด จะมองปัญหาไม่ออกเลย

161997484242

++ไม่ใช่ช่วงทำกำไรแต่ยืนระยะให้ได้

วิกฤติโจมตีรอบด้านขนาดนี้ อาจไม่ใช่จังหวะดีที่ผู้ประกอบการร้านอาหารจะมานึกถึงกำรี้กำไรนี่เป็นมุมมองจาก วิน สิงห์พัฒนกุล เจ้าของร้านไวน์ ไอ เลิฟ ยู และร้านชอคโกแลตวิลล์ฯ กลับกันเป็นห้วงเวลาที่ต้องทำทุกอย่างให้ธุรกิจฝ่าวงล้อมโควิดเพื่อให้อยู่รอดได้รอวันฟ้าสดใสอีกครั้ง 

เมื่อร้านอาหารปรุงสูตรเด็ด แต่เสิร์ฟความอร่อยในร้านไม่ได้ ทำให้ร้านที่มีในพอร์ตของวินต้องปิดให้บริการ แต่เพราะยังมีวัตถุดิบอยู่ จึงเลือกระบายสต๊อก ไม่เช่นนั้น เงินทุนจะจมทิ้งไว้ จึงนำวัตถุดิบไปปรุง หีบห่ออย่างดี ถูกสุขอนามัย และขายเป็นอาหารแช่แข็ง ส่วนร้านซูชิ เอ็กซ์เพรส ซูชิสายพานเกรดพรีเมี่ยม ก็พร้อมรับออเดอร์ออนไลน์ ส่งอร่อยถึงบ้าน ซึ่งผู้บริโภคจะได้ ราคาที่ต่ำลงกว่าทานในร้าน จากจำหน่ายจานละ 30 บาท เหลือราว 10-12 บาท 

ทั้งนี้ การส่งอาหารสดถึงบ้านไม่ง่าย สภาพอากาศที่ร้อน มีผลต่อรสชาติ คุณภาพสินค้าทั้งสิ้น ทำให้รอบแรกบริษัทไม่ส่งซูชิออนไลน์เลย ทว่าบทเรียนโรคระบาดครั้งก่อนทำให้ปรับตัว เมื่อต้องส่งเดลิเวอรี่จึงปรุงสุกเสิร์ฟลูกค้า เว้นแต่แซลมอนที่ยังคุมอุณหภูมิ รสชาติจนถึงมือลูกค้า 

มองโลกในแง่ดี 14 วัน ต้องหาทางเอาตัวรอด  จัดระเบียบหลังบ้าน  ระบายวัตถุดิบให้มากสุด อย่าหวังว่าจะได้กำไร อาจทำให้สบายใจขึ้น ช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงทำกำไร หากผ่านตรงนี้ไปได้ จำนวนเคสผู้ติดเชื้อลดลง พฤติกรรมผู้บริโภคอยู่บ้าน 2 สัปดาห์ พอสัปดาห์ที่ 3 เริ่มจะใช้จ่าย หวังเป็นแบบนั้น”  

++ คุมคุณภาพอร่อยในร้าน-ซื้อกลับบ้าน

เมื่อการซื้อกลับบ้าน ส่งเดลิเวอรี่ เริ่มสิ้นเสน่ห์ ไม่เซ็กซี่ แต่ยังตอบโจทย์ ความสะดวก ของผู้บริโภค บางส่วนไม่ต้องการออกจากบ้านไปซื้อ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหรือ Pain point ใหญ่ของการเสิร์ฟอาหารถึงบ้านคือ รสชาติความอร่อยที่เสถียรหรือรสชาติคงที่เหมือนกับนั่งกินในร้านนั่นเอง 

เมนูอาหารหลายอย่างที่ปรุงสุก แล้วบรรจุลงกล่อง ถุงทันที ไอน้ำ อาจทำให้รสชาติเพี้ยนจากเดิม เชฟดัง และกูรูร้านอาหารจึงทิ้งเทคนิคให้ปรับใช้ 

เชฟกิ๊ก กมล ชอบดีงาม ผู้ร่วมก่อตั้งร้านเผ็ดมาร์ค ทายาทร้านเลิศทิพย์ และร่วมเปิดครัวแม็กกี้ คิทเช่นเล่าว่า ในส่วนของร้านเผ็ดมาร์คขายเดลิเวอรี่อยู่แล้ว ส่วนนั่งทานในร้านมี 4-6 โต๊ะ โควิดมาจึงมีผลกระทบไม่มากนัก แต่ร้านข้าวต้ม เลิศทิพย์ซึ่งเปิดให้บริการ 17.00-02.00 . กระทบเต็มๆ เนื่องจาก เป็นร้านที่ให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายครอบครัวมากันหลายคน สั่งหลายอย่างและเป็นจานใหญ่”(Portion) การสั่งกลับบ้านจึงไม่ตอบโจทย์ธุรกิจ ทำให้การสั่งปลาทอด หรืออาหารที่ทานกันหลายคนลดลงไปโดยปริยาย 

นอกจากนี้ อาหารที่ทานร้านข้าวต้มต้องร้อน ทานทันที เมื่อสั่งกลับบ้าน การปรุงแล้วมีไอน้ำ ระยะเวลาส่งที่นาน ล้วนมีผลต่ออุณหภูมิและรสชาติอาหารตกลง ดังนั้น เพื่อให้ยอดขายยังอยู่ ร้านจึงต้องพัฒนาคุณภาพ ปรับเมนูที่เหมาะกับการส่งเดลิเวอรี่ หรือซื้อกลับบ้าน 

ต้องเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคให้ได้ ที่ว่าอาหารส่งถึงบ้านไม่อร่อย มาทำให้คนรับประทานประทับใจ”  

อีกประเด็นคือการส่งอาหารกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ไม่รู้ว่าอาหารจะผ่านอะไรบ้าง ร้านจึงต้องเข้มเรื่องสุขอนามัยตั้งแต่จัดคิวไรเดอร์ การปรุง การหีบห่อ คุมคุณภาพความสะอาดขั้นสุดเพื่อให้ผู้รับประทานมั่นใจความปลอดภัยนั่นเอง 

161997517314

แม้จะเป็นผู้ประกอบการ แต่อีกมุมก็เป็นผู้บริโภคเช่นกัน ดร.เชษฐา ส่งทวีผล ประธานที่ปรึกษา บริษัท ยู แอนด์ ไอ กรุ๊ป จำกัด เลยสวมวิญญาณเป็นลูกค้าแบรนด์ตัวเอง สั่งสุกี้ ยูแอนด์ไอไปรับประทานเป็นประจำ เพื่อทดสอบคุณภาพสินค้า เพราะการส่งสินค้าในระยะเวลาที่ใกล้ไกลมีผลต่อวัตถุดิบ รสชาติอาหารทั้งสิ้น อีกทั้งการส่งเดลิเวอรี่รอบแรก สุกี้ทางร้านโดนลูกค้าคอมเพลนมากเรื่องน้ำซุปบ้างใส่ถุงบางทำให้น้ำซุปรั่วเมื่อถึงมือลูกค้า เป็นต้น 

บรรยากาศสู้นั่งทานที่ร้านไม่ได้ แต่ทำยังไงให้ผู้บริโภคยังทานอาหารอร่อยแม้สั่งกลับไปทานที่บ้าน”  

ยูแอนด์ไอ มีร้านสุกี้ 13 สาขา ปรับตัวมา 2 รอบ เจอโควิดรอบ 3 ไม่ตกใจ แม้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง ผู้เสียชีวิต แต่ก็ไม่คิดว่ามาตรการรัฐจะมาเร็วขนาดนี้ เพราะร้านอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ภาพพรวมยอดขายยังไม่กระทบนัก 

เชฟแอนดี้ ยังเอกสกุล เชฟเทเบิลส์ร้านเทเบิล 38 ผู้ก่อตั้งร้านผัดไทไฟทะลุ การันตีว่าต่อให้เชฟฝีมือเทพปรุงอาหารรสชาติดีแค่ไหน เมื่อลูกค้าสั่งกลับไปทานที่บ้าน รสชาติตกลง 10-15%แน่นอน ดังนั้น การทำให้อาหารคงรสชาติอร่อยได้มาตรฐานการรับประทานในร้าน-ที่บ้านไม่ต่างกัน จึงเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการต้องทำวิจัย ซึ่งร้านผัดไทของเชฟแอนดี้ยังต้องคิดหาวิธีปรุงเส้นผัดไทไม่ให้ติดกันเมื่อเสิร์ฟลูกค้าถึงบ้าน เวลาผ่านไป 7 ชั่วโมง รสชาติอาหารยังคงเดิม  

++ห่วงเปิดร้าน แต่ขายไม่ได้

พลังทำลายล้างของโรคโควิด-19 มีมหาศาล และกวาดกำลังซื้อของผู้บริโภคให้หดหายไปจำนวนมาก การเปิดร้านให้นั่งทานไม่ได้ มีผลต่อยอดขายอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หลังโควิดคลี่คลาย ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าผู้บริโภคจะกลับมาจับจ่ายใช้สอย เพราะเงินในกระเป๋าลดลงเรื่อยๆ ประกอบกับความไม่แน่นอนสูง ทำให้การออมประหยัดเงินกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนตระหนักมากขึ้น

ร้านเนื้อเหนือ ร้านอาหารเหนือเน้นนำวัตถุดิบเนื้อมาทวิตส์เมนูร่วมสมัย แจ้งเกิดร้านหลังโรคโควิดระบาดรอบแรก เรียกว่าน้องใหม่ในวงการอย่างมาก หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน เล่าว่า ผลกระทบของร้านจากโรคระบาดคือหุ้นส่วน 2 คน ติดเชื้อโควิด ปัจจุบันรักษาตัวหายแล้ว แต่ยังกักตัวต่อ จึงต้องปิดร้านยาว 

เมื่อมีคนป่วย ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของและเชฟของร้าน จึงมีผลต่อการเสิร์ฟความอร่อยเดลิเว

อรี่จึงพึ่งพาเชฟชั่วคราวมาช่วย เมื่อร้านต้องทำตามมาตรการรัฐ การปรับตัวลุยออนไลน์ เดลิเวอรี่จึงเป็นทางออก ซึ่งแรกยอดขายไม่มาก แต่ปัจจุบันฟื้นตัว 80% แต่นั่นไม่ทำให้ร้านชะล่าใจ และยังคุมเข้มแผนธุรกิจ ทั้งคำนวณต้นทุน ยอดขายต่อวัน เพื่อให้ยืนระยะอย่างมั่นคง

161997441029

เรามีการคำนวณผลกระทบไว้ ซึ่งก่อนหน้านี้กังวล แต่เมื่อกลับมาเปิดให้บริการ(หลังปิดร้านเพราะหุ้นส่วนติดโควิด) ค่อนข้างโชคดีที่คุ้มทุนทั้งเดือนเมษยนแล้ว ส่วนจะย้อนไปเท่าเดือนกุมภาพันธ์ที่เราเจ็บแต่ไม่ถึงกับเจ๊ง ที่ห่วงอีกคือกลับมาเปิดร้านแต่ขายไม่ได้” 

อย่างไรก็ตาม ในโชคร้ายมีโชคดี คือเจ้าของที่ให้ลดค่าเช่าเดือนเมษายนและพฤษภาคมให้ล่วงหน้า จึงพอมีออกซิเจนยืดธุรกิจสู้โควิด 

นี่เป็นแค่บางส่วนของธุรกิจที่เดือดร้อนแต่ละคนมีไอเดียต่างกัน วางกลยุทธ์ การทำตลาดในแนวทางของตัวเอง แต่จะมากพอที่ทำให้อยู่รอดวิกฤติโรคระบาดที่ล้อมรอบไหม เพราะซื้อกลับบ้านรสชาติก็เป็นโจทย์ต้องแก้ ส่งเดลิเวอรี่ ค่า GP ก็ไม่ใช่ย่อย จะฝ่าวงล้อมวิกฤติจึงต้องแกร่งเข้าไว้