ไขข้อสงสัย ใครปลูก 'กัญชา' ได้บ้าง ภายใต้เงื่อนไข ไม่เอื้อนายทุน

ไขข้อสงสัย ใครปลูก 'กัญชา' ได้บ้าง ภายใต้เงื่อนไข ไม่เอื้อนายทุน

จากกระแสตื่นตัวเรื่อง "กัญชา" ทำให้มีหลายคนยังคงสับสนว่า ตกลงแล้วใครที่สามารถปลูกกัญชาได้บ้าง ปลูกอย่างไรให้ถูกต้องตามกฏหมาย ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ทั้งนี้ อย. ได้ไขข้อสงสัยถึงประเด็นการปลดล็อกกัญชาในครั้งนี้

วันนี้ (2 พ.ค. 64) นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า การปลดล็อก "กัญชา" เพื่อสามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยได้ รวมทั้งการนำส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์ ต่าง ๆ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมีกระแสตอบรับอย่างดีและผู้ประกอบการให้ความสนใจในการปลูก แปรรูปในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมถึงมีคำถามว่าประชาชนสามารถปลูกได้หรือไม่นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ขอชี้แจงว่า การปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย. ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ระบุ ผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน เป็นต้น

โดยวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไข การอนุญาตมิได้ผูกขาดให้กลุ่มทุนใดเป็นการเฉพาะ และไม่ได้สงวนเฉพาะสำหรับภาครัฐ แต่ทั้งภาคการเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือภาคการศึกษาสามารถปลูก ผลิต หรือสกัดกัญชาได้

รวมทั้ง เงื่อนไขการปลูก ก็ไม่ได้กำหนดว่าต้องปลูกแต่เฉพาะในโรงเรือนระบบปิดเท่านั้น ผู้ปลูกสามารถปลูกกลางแจ้งได้ แต่ต้องมีระบบการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้กัญชามีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และป้องกันการหลุดออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์  โดย การยื่นขออนุญาตปลูก "กัญชา" ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ยื่นที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า หากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาต้องการนำใบหรือส่วนต่าง ๆ ที่ ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่ายก็สามารถทำได้ ด้วยการยื่นขอแก้ไขแผนการนำไปใช้ประโยชน์ที่ อย. ย้ำ ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชาที่ไม่เป็นยาเสพติดได้ แต่ต้องได้มาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย