ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารสุดอ่วม! โอดรัฐเมินเยียวยาแผลโควิดระลอก 3

ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารสุดอ่วม!  โอดรัฐเมินเยียวยาแผลโควิดระลอก 3

ธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหารอ่วมหนัก โอดรัฐเลี่ยงบาลี! เมินเยียวยาผลกระทบผู้ประกอบการจากโควิด-19 ระลอก 3 จี้คลอดมาตรการช่วยเหลือให้ครอบคลุมเหมือนการระบาดระลอกแรกปี 63 อุ้มผู้ประกอบการพ้นปากเหว

หลังจากวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งเรื่องร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น., ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน, สนามกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ และให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม งดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค

แน่นอนว่าภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารย่อมได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้กันถ้วนหน้า ผู้ประกอบการหลายรายต่างสะท้อนว่า แม้ไม่ใช่คำสั่งปิด แต่ก็เหมือนสั่งปิดโดยอัตโนมัติ!

แหล่งข่าวรายหนึ่งจากวงการธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า จากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่าภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารน้อยมาก หลังได้รับผลกระทบจากคำสั่งของ ศบค. ทั้งที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโรงแรมและร้านอาหารไม่ได้แตกต่างจากการระบาดระลอกแรกเมื่อปี 2563 เลย

โดยเมื่อปี 2563 ภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาในด้านต่างๆ อาทิ

-ช่วยลดค่าไฟ

-ช่วยลดภาษีหลายรายการ

-ช่วยลดเงินนำส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

-และที่ช่วยผู้ประกอบการได้มากที่สุดคือลูกจ้างในสถานประกอบการโรงแรมและที่พักซึ่งที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับการชดเชยเงินกรณีว่างงานในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน จากกองทุนประกันสังคมตามเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดทุกกรณี ทั้งมีคำสั่งปิดโดยรัฐ และผู้ประกอบการโรงแรมปิดกิจการชั่วคราวเอง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ซึ่งช่วยประคองธุรกิจโรงแรมฝ่าวิกฤติและรักษาการจ้างงานเอาไว้ได้

“ปีที่แล้วภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาจากการระบาดระลอกแรกได้ค่อนข้างครอบคลุมและดีในระดับหนึ่ง แม้อาจจะสู้หลายๆ ประเทศไม่ได้ ซึ่งมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่านี้ควบคู่กับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ากระเป๋าประชาชน”

แต่พอเผชิญการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ในปีนี้ ทุกฝ่ายต่างพุ่งประเด็นไปที่เรื่องการเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่ไม่อยากให้ภาครัฐมองข้ามเช่นกันคือเรื่องมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการซึ่งปัจจุบันยังมีออกมาน้อยมากและไม่ทันการ ที่เห็นอยู่มีแค่เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งขยายต่อเป็นปีที่ 2 แบบทันใจ และเรื่องลดภาษีจดทะเบียนโรงแรม แต่ก็แค่หลักหมื่นบาทต่อปี ไม่ได้มากมายอะไร

ขณะที่ล่าสุดได้สอบถามไปยังสำนักงานประกันสังคม ได้รับคำตอบว่าปีนี้จะจ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่อัตรา 50% เฉพาะกรณีที่รัฐมีคำสั่งปิดเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมเหมือนปีที่แล้วซึ่งธุรกิจโรงแรมสามารถปิดกิจการชั่วคราวเองจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ แล้วรัฐก็เข้ามาช่วยเหลือ

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ธุรกิจร้านอาหารทั้งร้านอาหารทั่วไปและร้านอาหารที่อยู่ในโรงแรมได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐ และต้องการให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเช่นกัน หลัง ศบค.ประกาศว่าร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นได้เท่านั้น โดยงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น.

“มองว่าคำสั่งของรัฐเหมือนคำสั่งที่ ‘เลี่ยงบาลี’ เพราะไม่ได้สั่งปิดกิจการชั่วคราว ยังอนุญาตให้ร้านอาหารขายอาหารได้ ทั้งแบบซื้อกลับไปบริโภคที่บ้านหรือที่อื่นแทนการนั่งทานภายในร้าน หรือสั่งซื้อแบบดิลิเวอรี่ได้”

เพราะเมื่อมองในมุมผู้ประกอบการร้านอาหารซึ่งมีจำนวนผู้ประกอบการมากกว่าโรงแรม จะพบว่ามีพนักงานบางส่วนที่ต้องว่างงานจากกรณีนี้ เช่น พนักงานเสิร์ฟ เพราะไม่ได้อนุญาตให้นั่งทานในร้าน และยอดการสั่งซื้ออาหารก็น่าจะหายไปมากกว่า 50% ทำให้พนักงานในครัวไม่ได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าเป็นร้านอาหารในโรงแรมที่เน้นเสิร์ฟให้ทานในร้าน ไม่ได้มุ่งผลิตอาหารเพื่อดิลิเวอรี่อยู่แล้ว และใช่ว่าร้านอาหารทุกร้านทั้งในและนอกห้างจะสามารถขายแบบดิลิเวอรี่ได้ กลายเป็นว่ากลุ่มนี้ก็โดนทิ้งเต็มๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วรัฐสามารถออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาได้ ในขณะที่กำลังรอการกระจายวัคซีนกัน

“หากจะบอกว่าประกันสังคมมีเงินไม่พอจ่ายชดเชยลูกจ้างกรณีว่างงาน รัฐบาลก็สามารถอัดฉีดเงินมาที่ประกันสังคมได้ เหมือนอย่างที่ต่างประเทศเขาทำกัน และถ้ารัฐบาลไทยจะทำ ก็ไม่น่าจะแปลกอะไร ซึ่งถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้แบบทันที ก็เป็นเรื่องยากที่จะรักษาการจ้างงานเอาไว้เหมือนเดิม หากรอให้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันผ่านจุดแย่ที่สุดเพียงอย่างเดียว มองว่าจะมีผู้ประกอบการที่อยู่ไม่ได้เสียก่อน โดยเฉพาะรายเล็ก” แหล่งข่าวกล่าว

ก่อนหน้านี้ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ทางสมาคมฯทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงผลกระทบที่ได้รับจากคำสั่งล่าสุดของ ศบค. รวมทั้งมาตรการที่จะทำให้รัฐบาลมั่นใจได้ว่า คนที่เข้ามาใช้บริการในร้านอาหารจะไม่ได้รับการติดเชื้อ เพราะในที่ประชุม ศบค.มีสถิติที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำรวจจากผู้ที่ติดเชื้อจำนวนมาก พบว่ามาจากการนัดพบเข้าไปรับประทานอาหารในร้านและพูดคุยกัน

“ทางสมาคมฯจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าว่าร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA ที่ออกให้โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการดูแลสุขอนามัยอย่างดี และเมื่อครบ 14 วันแล้วจะจัดโต๊ะนั่งแบบเว้นระยะห่าง และให้มีฉากกั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ”

รวมทั้งจะให้ร้านอาหารยกระดับตัวเองเพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ SHA มากขึ้น เพื่อความสบายใจและปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งเรื่องขอเงินกู้ดอกเบี้ยผ่อนปรน และลดเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมด้วย

ด้านสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเสนอมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนค่าจ้างพนักงานภายใต้รูปแบบโค-เพย์เมนท์ รัฐช่วยจ่าย 50% และผู้ประกอบการจ่ายเอง 50% เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้างซ้ำเติมเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลแต่อย่างใด