‘พิชเยนทร์’ เปิดแนวคิด จุดพลุแจ้งเกิดสตาร์ทอัพ ปั้นแบรนด์อย่างไรให้รอด!

‘พิชเยนทร์’ เปิดแนวคิด จุดพลุแจ้งเกิดสตาร์ทอัพ ปั้นแบรนด์อย่างไรให้รอด!

“สตาร์ทอัพ” เป็นเรื่องของวิธีคิดในการเริ่มต้นธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ หากใครจับจุดสำคัญได้ ก็จะมีแนวทางสู่ความสำเร็จได้ไม่ยากนัก “พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือน “แอนิเทค (Anitec)"

ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการทำชิปเซตในห้องเล็กๆ ของอพาร์ตเมนต์ในกรุงปารีส ความสำเร็จของเขามาจากวิธีคิดล้วนๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างการเติบโตได้รวดเร็ว

ในงานสัมมนาออนไลน์ “สตาร์ทอัพ สร้างตัวเองให้เป็นแบรนด์ (ที่ต้องรอด)” หัวข้อ “ธุรกิจสตาร์ทอัพ หากมีใจง่ายนิดเดียว” จัดโดย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พิชเยนทร์ กล่าวถึงธุรกิจสตาร์ทอัพที่น่าจับตา-น่าลงทุนในปี 2564 สังเกตได้จาก 2 ประเทศชั้นนำ จีน อเมริกา ที่มีการวางนโยบายอันดับ 1 คือ การนำพลังงานมาหมุนเวียนเข้ามาทดแทนพลังงานรูปแบบเดิมที่เป็นฟอสซิล เพื่อลดปัญหาโลกร้อนและมลภาวะ ส่งผลกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี มูลค่ามหาศาล 

เห็นได้จากบริษัทระดับโลกประกาศนโยบาย Zero Carbon Company จำนวนมาก ฉะนั้น สิ่งที่ควรลงทุนในขณะนี้คือ สตาร์ทอัพเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ที่จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและเติบโตได้เร็วขึ้น

เผยฮาวทูเข้าถึงแหล่งทุน

พิชเยนทร์เล่าย้อนถึงวันเริ่มต้นธุรกิจได้ใช้วิธีคิดอย่างสตาร์ทอัพ แต่ลงมือทำอย่างเอสเอ็มอี และมีเป้าหมายสู่การเป็นมหาชน นี่คือบิซิเนสโมเดลที่มีความแข็งแรง และถือเป็นทางลัดให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่หลงทาง

สตาร์ทอัพ คือ ธุรกิจที่มีการเติบโตสูงอย่างก้าวกระโดด ใช้การทำงานผ่านเทคโนโลยีสร้างเป็นธุรกิจใหม่ การทำและคิดอย่างสตาร์ทอัพ ก็คือ “การคิดยังไงให้โต สเกลได้ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาใช้” แต่ไม่ใช่วิธีการทำแบบสตาร์ทอัพเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการนำเอาทุกศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้อยู่รอด แข็งแรง และยั่งยืน

วิธีการที่ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้นั้น ในยุคนี้ถือว่าไม่ยาก แต่นักลงทุนต้องพร้อมที่จะลงทุนในธุรกิจ ผู้ก่อตั้งที่มีศักยภาพและต้องมีความแข็งแรงในธุรกิจ ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ต้องมี Traction หรือ ผู้เข้ามาใช้บริการ ความสามารถในการดึงลูกค้ามาใช้บริการที่ดี ไม่ใช่ไอเดียอย่างเดียว 2.Unfair-Competitive Advantage ต้องค้นหาข้อได้เปรียบของตนเอง หรือ ประสบการณ์ที่มีที่จะสามารถนำมาต่อยอดธุรกิจ 3.Product-Founder Alignment สินค้าต้องเป็นที่ต้องการของตลาด ในขณะที่ตัวผู้สร้างธุรกิจกิจจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ถนัดหรือสนใจในสิ่งนั้นเป็นพิเศษ 

หากมี 3 สิ่งข้างต้นนี้เงินทุนจะวิ่งเข้ามาทันที ส่วนสถานการณ์โดยรวมของแหล่งเงินทุนขณะนี้ถือว่า ล้นระบบ ปัญหาของนักลงทุน คือ ไม่มีที่จะลงทุน แม้จะมีคนที่มีไอเดียและอยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพมากมาย แต่เพราะนักลงทุนมองหาสตาร์ทอัพที่มีปัจจัย 3 อย่างและมีความแข็งแรงในตัวเองไม่ได้ หรืออาจจะหาได้แต่การคิดมูลค่าบริษัท (Valuation) สูงเกินไป

“แหล่งทุนในประเทศไทยมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น SCB10x, KBTG, 500 TukTuk หรือแม้กระทั่งหน่วยงานธนาคารออมสิน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า แต่ทั้งนี้การเริ่มต้นคุยกับนักลงทุนให้นึกไว้เสมอว่า อย่าคิดว่าจะได้เงิน ให้คิดไว้ว่าจะมีคำถาม ซึ่งจะทำให้สตาร์ทอัพมีวิสัยทัศน์ที่ดีและมีความเก่งขึ้นอีกขั้น”

ปั้นแบรนด์อย่างไรให้รอด

ส่วนความท้าทาย พิชเยนทร์ มองว่าคือ การทำตัวเองให้เหมาะสมกับเงินทุนที่จะมาสนับสนุน ฉะนั้น การดำเนินการคือ 1.ต้องมีสามปัจจัยอย่างที่กล่าวไป 2.จะต้องหาว่าเงินทุนอยู่ตรงไหน และสุดท้าย คือ การตกลงร่วมกัน ที่ไม่ได้มีแค่การประเมินมูลค่าบริษัท แต่ยังมีในเรื่องของสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง และข้อกำหนดต่างๆ ดังนั้น หากเข้าใจวงจรทั้งหมด การค้นหาแหล่งทุนจึงเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่ปลายทางไปสู่การได้รับเงินทุนนั้นยังอีกยาวไกล

การที่จะสร้างความแตกต่างจากธุรกิจที่มีอยู่เดิมได้ และลูกค้ารับรู้ได้ถึงคุณค่าของธุรกิจ นั่นคือ จิตวิญญาณผู้ประกอบการเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จะต้องมีสายตาที่แตกต่าง เห็นปัญหามากกว่าคนอื่น และความแตกต่างนั้นไม่ควรมาจากการเลียนแบบ แต่ควรมาจากตัวตน เพื่อสร้างความแตกต่างให้ยั่งยืนได้ ทั้งนี้ต้องมีแนวคิดแบบคนทำธุรกิจ เพราะต้องฉีกหนีคู่แข่งตลอดเวลา จนสามารถเกิดเป็นประสบการณ์และ Touchpoint ต่อลูกค้า เนื่องจากความแตกต่างที่ดีต้องทำให้ลูกค้าเกิดการจดจำ ซื้อซ้ำ ซึ่งถือเป็นความแตกต่างที่ถูกต้อง

‘เคล็ดลับ’ รอดในช่วงโควิด

“เคล็ดลับที่จะทำให้สตาร์ทอัพอยู่รอดในช่วงโควิดได้ คือ อย่าใจเสีย อาจจะต้องตัดใจเลิกธุรกิจบางอย่าง เพื่อรักษาสภาพคล่องและกระแสเงินสด ถัดมาคือ การนำเวลามาช่วยสังคม เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นสถานการณ์ให้ดีขึ้น และจะได้กำลังใจ และได้มุมมองใหม่ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจได้”

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของสตาร์ทอัพที่จะเกิดขึ้นในยุคนิวนอร์มอล คือ 1.การได้รับเงินทุนยากขึ้น เพราะสภาพคล่องในตลาดพิถีพิถันมากขึ้น และส่วนใหญ่นักลงทุนมักเบนเข็มไปลงทุนในโอกาสที่มีความเสี่ยงน้อยลง 2.การใช้จ่ายของคน 3.การหาบุคลากรที่เหมาะสมเข้ามาทำงานยากขึ้น ดังนั้น สตาร์ทอัพที่เพิ่งเริ่มจะเหนื่อยมากขึ้น ส่วนสตาร์ทอัพที่ติดลมบนไปแล้วก็จะดำเนินการต่อไปได้

“ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรในช่วงนี้จึงถือเป็นช่วงที่ท้าทาย เพราะการแข่งขันและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ไทยอยู่ในจุดที่แข่งขันลำบาก และแทบไม่มีเส้นแบ่งในการทำธุรกิจ อีกแง่คือเป็นโอกาส จากเดิมการที่จะเริ่มธุรกิจที่เกิดจากแพชชั่นหรือ สิ่งที่เห็นเป็นปัญหาอาจจะมีคนน้อยที่จะฟัง แต่ปัจจุบันคนจำนวนมากกลับต้องการที่จะแก้ไขเช่นกัน นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำให้แพชชั่นเกิดขึ้นได้ แต่ต้องตรวจสอบก่อน” 

ดังนั้น สิ่งที่แตกต่างคือ ต้องมีความฝันและต้องลุกขึ้นมาทำ และทำอย่างไม่หยุด ด้วยการ “ทะยาน คิดแบบสตาร์ทอัพ ทำอย่างเอสเอ็มอี มีระบบแบบมหาชน”