แคมเปญ ‘Change.org’ เมื่อ ‘ฆ่าไม่ตาย’...ไปต่ออย่างไร

แคมเปญ ‘Change.org’  เมื่อ ‘ฆ่าไม่ตาย’...ไปต่ออย่างไร

หลายร้อยเรื่องใน‘Change.org’ เว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนส่งประเด็นเข้ามารณรงค์เรียกร้องความชอบธรรม หลายประเด็นร้อนแรง จนทำให้เว็บถูกบล็อก เพิ่งกลับมาได้ไม่นาน ล่าสุด 'เอมมี่' ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย เล่าถึงการรณรงค์ในก้าวต่อไป...

Change.org เป็นเว็บไซต์ของบริษัท Change.org, Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา รณรงค์แคมเปญและการร้องเรียนต่างๆ ทั่วโลก มีทั้งเสียค่าใช้จ่ายด้วยหน่วยงาน เช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล และ Humane Society หรือรณรงค์โดยอาสาสมัคร ที่ต้องการรวมคนที่มีความเห็นคล้ายกัน สนับสนุนโครงการ มีการลงชื่อมากกว่า 1,000,000 ชื่อต่อเดือน และมีโครงการรณรงค์ใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายพันหัวข้อในแต่ละเดือน อาทิ ความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน การศึกษา สิ่งแวดล้อม สัตว์ สุขภาพ และอาหาร

      นี่คือแพลตฟอร์มการรณรงค์ของคนไทย ที่มีคนร่วมเข้าไปตั้งแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายประเด็น ทั้งเรื่องการคุกคามทางเพศ ฉากข่มขืนในละคร หรือเรื่องความรุนแรงต่างๆ ฯลฯ 

       ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้มีสมาชิกผู้ใช้งานเกือบ 5 ล้านคนในประเทศ และเมื่อเดือนตุลาคม 2563 Change.org ในเมืองไทย ถูกบล็อกการเข้าถึง เนื่องจากมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

      และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564  Change.org ประกาศว่า กลับมาแล้ว และฆ่าไม่ตาย

161987144354

Emmy Suzuki Harris ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย (Asia Regional Director) Change.org 

      ล่าสุด รณรงค์ในประเด็นร้อนๆ  “หมอไม่ทน” แคมเปญล่ารายชื่อไล่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ลาออก เพื่อให้ผู้มีความสามารถ มีความเหมาะสมมากกว่าเข้ารับตำแหน่ง หลังจากไม่มีความสามารถมากพอในการควบคุมดูแลการแพร่ระบาดของ“โควิด-19” การรณรงค์ครั้งนี้ มีผู้ร่วมชื่อสนับสนุนกว่า 220.000 ราย ( 1 พฤษภาคม 2564)

      เอมมี่ ซูซูกิ แฮริส (Emmy Suzuki Harris) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย (Asia Regional Director) Change.org กล่าวกับจุดประกาย หลังจากเว็บไซต์กลับมาทำหน้าที่อีกครั้ง ว่า การที่เว็บโดนปิดกั้น ยิ่งตอกย้ำว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่เปิดแบบ Change.org 

      "เมื่อเว็บไซต์กลับมาแล้ว วิธีการทำงานหลักๆ ของเราก็ยังเหมือนเดิม เพราะพันธกิจ (mission) ของเราก็ยังคงเดิม ในบริบทของสังคมตอนนี้ที่พื้นที่ส่งเสียงของประชาชนหดเล็กลง อย่างบางประเทศในเอเชีย เรารู้ว่า เราต้องทำงานหนัก เพื่อให้ Change.org ได้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน ได้แสดงออกและผลักดันสังคมต่อไป" 

       และนี่คือ 5 ประเด็นที่เอมมี่ เล่าถึงการทำงานของ  Change.org อย่างละเอียด ...

161987154038

การรณรงค์สนับสนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิตเพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศ

1.การผลักดันประเด็นทางสังคมที่มีผลต่อส่วนรวมพิจารณาอย่างไรว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม

"เราเชื่อว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ มันแล้วแต่มุมที่มอง บางคนมองเรื่องนี้ว่า เหมาะสม หรือเป็นประโยชน์กับสังคม ในขณะที่บางคนอาจคิดไปในทางตรงกันข้าม Change.org เป็นพื้นที่เปิด เราจะไม่บอกว่าแคมเปญนี้ โอเค. มีพื้นที่บน Change.org ได้ ส่วนแคมเปญนี้หมดสิทธิ์ โพสต์ไม่ได้ 

เพราะทุกความคิดเห็น มีพื้นที่บน Change.org ตราบใดที่ไม่ละเมิดนโยบายหรือระเบียบชุมชนของเรา เช่น ไม่ผิfกฎหมายในประเทศ ยุยงให้เกิดความรุนแรง มีวาจาสร้างความเกลียดชัง และอื่นๆ 

นอกจากระเบียบเหล่านี้แล้ว คนที่จะตัดสินตัวจริง ก็คือ ผู้ใช้งานเว็บไซต์ ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปนั่นเองว่าเห็นด้วยกับแคมเปญไหน เห็นด้วยก็เข้าร่วมลงชื่อสนับสนุน ไม่เห็นด้วยก็ข้ามไป หรือไปตั้งแคมเปญคัดค้านเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากมุมมองของตัวเองก็ได้ เรามองว่านี่คือความสวยงามของพื้นที่เสรีในยุคประชาธิปไตย"

2.อะไรที่ทำให้ทีมงาน Change.org มีกำลังใจทำงานต่อไป

"สิ่งที่ทำให้เรามีกำลังใจมากที่สุดก็คือ คนที่ลุกขึ้นมาเริ่มเรื่องรณรงค์ของตัวเองบน Change.org และคนที่สนับสนุนแคมเปญด้วยการลงชื่อ แชร์ต่อ หาทางเข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ พยายามเข้าไปพบ ยื่นรายชื่อ หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้แคมเปญของตัวเองสำเร็จ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นคนธรรมดาๆ มีงานประจำ มีครอบครัวที่ต้องดูแล แต่มีความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาลงแรงทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ 

แม้บางครั้งจะมีอุปสรรคมากมาย แต่ก็ยังเดินต่อ บางคนรู้สึกตัวเล็กมากตอนเริ่มแคมเปญ แต่พอเห็นคนมาช่วยกันลงชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้มีหวังขึ้นมา รู้สึกถึงพลังของตัวเองและกลุ่มคนที่มารวมกัน มันเป็นภาพของ empowerment ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นในสังคม รวมทั้งพวกเราที่ Change.org ด้วย บางทีทำให้เราน้ำตาซึมด้วยความชื่นชม

หลายเดือนที่ผ่านมา ช่วงที่เว็บไซต์ของเราถูกรัฐบาลไทยบล็อก เราได้ยินเสียงจากผู้ใช้งานเว็บไซต์มากมาย ทั้งที่ถามว่าเว็บหายไปไหน และที่ท้อใจ เพราะไม่สามารถผลักเรื่องรณรงค์ของตัวเองต่อได้ 

หลายคนส่งเสียงแสดงความห่วงใยเข้ามา บอกว่าอยากให้พื้นที่แห่งนี้กลับมา บางครั้งที่มีคำถามถึงบทบาทและการทำงาน เช่น ลงชื่อไปแล้วยังไงต่อ? ก็มีคนเข้าไปตอบให้ว่ามันทำให้เกิดพลังทางสังคมขึ้นมา เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคลื่นเคลื่อนสังคม ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจนิ่งเฉยต่อไม่ได้ ดูสิมีแคมเปญมากมายที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ หรือคำถามง่ายๆ อย่างจะลงชื่อต้องให้เงินด้วยเหรอ ก็มีคนเข้าไปช่วยตอบให้ว่า ไม่ได้บังคับ 

ทุกคนใช้ Change.org ได้ฟรี ถ้าอยากสนับสนุนให้มีพื้นที่นี้ต่อ ก็ค่อยช่วยสนับสนุนตามสะดวก แต่เราก็อยากให้ช่วยสนับสนุนนะ เพราะเราจะได้มีเงินทำงานต่อได้ (ยิ้ม) เวลามีคนเข้าใจและช่วยอธิบายให้เราแบบนี้ เราก็รู้สึกปลื้มใจ ทั้งหมดนี้คือกำลังใจที่ทำให้เรามีพลังทำงานต่อ"

161987163897

คุณแม่น้องการ์ตูน (ศรัญญา ชำนิ) เรียกร้องให้ "เพิ่มบทลงโทษคนขับรถแข่งบนทางสาธารณะแล้วชนคนตายให้เท่ากับเจตนาฆ่าคนตาย"

3.อะไรทำให้พวกคุณมีความกล้าเดินหน้าต่อในหลายๆ ประเด็น ทั้งๆ ที่เสี่ยงต่อการใช้อำนาจไม่ชอบธรรม

"คนที่กล้าจริงๆ ก็คือผู้ใช้งานเว็บไซต์ในประเทศไทย ที่กล้าลุกขึ้นมาเริ่มหรือสนับสนุนการรณรงค์ในหลายๆ เรื่องที่อาจจะดูสุ่มเสี่ยง หรือถึงดูไม่น่าเสี่ยงอะไร แต่การจะลุกขึ้นมาประกาศความคิดของตัวเองและเรียกร้องสิ่งต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ดูไม่ใหญ่โตอะไร ก็ต้องอาศัยความกล้าและความมุ่งมั่นอยู่ดี เราเคารพคนเหล่านี้ ซึ่งก็คือ คนที่เติมพลังให้เรายังกล้าทำงานต่อไป เพื่อรักษาพื้นที่ที่ ช่วยให้คนเหล่านี้เสียงดังขึ้นไปอีก

ส่วนเรื่องเว็บโดนปิด จริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นประเทศแรกเลยที่สั่งปิด Change.org ยาวนานถึง 6 เดือน เราเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้เริ่มเรื่องหรือลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์ 

หลายคนยังเข้าใจผิดว่า Change.org เป็นคนเริ่มเรื่องรณรงค์ทั้งหลายเอง จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทุกแคมเปญสร้างโดยผู้ใช้งานเว็บไซต์ และผลักดันโดยคนทั่วไปในสังคมที่มาลงชื่อสนับสนุน บน Change.org ถึงได้มีแคมเปญที่หลากหลายมาก

ตั้งแต่เรื่องขอเปลี่ยนกฎหมายให้เป็นธรรมขึ้น เช่น พ.ร.บ. คู่ชีวิตเพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศ ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า ไปจนถึงเรื่องขอให้ฉายหนังสารคดีในโรงเรียนต่างๆ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจต่อผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรม ฯลฯ การที่เว็บโดนปิดก็เหมือนปิดพื้นที่ของทุกประเด็นเหล่านี้เลย"

4.ล่าสุดกับประเด็นร้อนแรง“หมอไม่ทน”แคมเปญล่ารายชื่อไล่ “อนุทิน ชาญวีรกูล”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ลาออก คุณคิดเห็นอย่างไร

"พอเว็บกลับมาเปิดเราจึงไม่แปลกใจที่เห็นการระเบิดพลังล้นหลามอย่างที่เห็นในแคมเปญนี้ ที่ตอนนี้มีคนลงชื่อเกินสองแสนคนแล้ว ถือเป็นแคมเปญที่มีคนลงชื่อเยอะมากสำหรับประเทศไทยเวลามีแคมเปญแบบนี้ที่มาจากความรู้สึกไม่ไหวแล้ว คนก็จะหาทางทำอะไรสักอย่าง เพราะอัดอั้นอยู่เฉยไม่ได้ 

การมาลงชื่อสนับสนุนแคมเปญก็เป็นการแสดงออกทางหนึ่งที่มีพลังมาก บางคนอาจจะคิดว่า ไหนชื่อเยอะแล้ว ทำไมยังไม่ได้ตามที่ขอ แบบนี้แสดงว่าไม่เวิร์คใช่ไหม ไม่มีผลทางกฎหมายนี่ แต่เราอยากชวนให้ดูว่า การรณรงค์บน Change มันมีหลายองค์ประกอบ มีทั้งกระบวนการทางสื่อ สังคม และหลายครั้งนำไปสู่ผลทางกฎหมายด้วย เช่น การนำชื่อผู้สนับสนุนไปยื่นที่สภานิติบัญญัติ หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือทำงานร่วมกับนักข่าวจนสื่อสนใจเรื่องนั้นๆ แล้วไปเจาะถามผู้มีอำนาจออกกฎหมาย

ในแง่การเคลื่อนไหวทางสังคมเราก็อยากบอกว่า การแสดงออกด้วยการลงชื่อก็ช่วยขยับสังคมไปขั้นหนึ่งแล้ว เพราะมันเป็นการแสดงจุดยืน แล้วสร้างแนวร่วมให้แข็งแกร่งขึ้น จนเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ หลายครั้งช่วยเปิดพื้นที่ให้มีการคุยอภิปรายกัน ทำให้สังคมได้รับรู้ในวงกว้าง เกิดการตั้งคำถาม ถกเถียง หาทางออก จนสุดท้ายทำให้คนที่โดนเรียกร้อง ทำเฉยต่อไม่ได้ 

161987222042

'ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา' กับการรณรงค์ 'เยียวยาผู้เสียหาย โดยไม่ฟ้องหมอ'

ในสังคมที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เสียงประชาชน เช่น บางประเทศในเอเชีย ผู้มีอำนาจตัดสินใจก็อาจจะมีท่าทีตอบสนองไปในทางลบ เช่น วิจารณ์คนที่ออกมาเรียกร้อง หรือแม้แต่ใช้อำนาจรัฐจัดการ แต่เรามองว่าแบบนี้คือ เสียงของประชาชนจากแคมเปญมีผล ไม่งั้นเขาก็คงอยู่เฉยๆ ต่อไปเรื่อยๆ

สิ่งที่เราคิดว่าจะเพิ่มพลังให้แก่การเคลื่อนไหวทางสังคมได้ ก็คือคนรณรงค์และคนลงชื่อในแต่ละเรื่องไม่หมดหวัง ไม่ถอดใจออกไปกลางทาง คอยจับตาดูเรื่องนั้นๆ และสื่อสารกันในกลุ่มและสังคมต่อไป ไม่ใช่แค่ในช่วงเวลาของแคมเปญนั้นๆ เท่านั้น เพราะแม้แคมเปญจะดูเหมือนจบ แต่จริงๆ พลังไม่ต้องจบ ถ้าสั่งสมแรงกระเพื่อมจากแคมเปญแรกไปจนแคมเปญที่ห้า พลังก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ"

5.นอกจากรณรงค์ผ่านโซเชียลมีเดีย ทางทีม Change.org  ประเทศไทย รณรงค์รูปแบบอื่นๆ ด้วยไหม

"บางคนอาจจะคิดว่าการรณรงค์บน Change.org ก็คือการลงชื่อออนไลน์ อาจจะเห็นเพื่อนแชร์มาทางโซเชียล ลงชื่อแล้วจบกัน เรียกร้องอะไรไปพอชื่อถึงจำนวนหนึ่ง คนที่โดนเรียกร้องก็จะทำตามที่ขอ 

จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย การลงชื่อหรือแชร์แคมเปญต่อ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เท่านั้น เบื้องหลังยังมีคนจริงๆ นำโดยเจ้าของเรื่องรณรงค์ ที่เดินหน้าผลักดันข้อเรียกร้องต่างๆ จนไปถึงหูผู้มีอำนาจตัดสินใจ

นอกจากการหาแนวร่วมบนโซเชียลมีเดียแล้ว ก็ยังมีวิธีการอื่นๆ เช่น ทำงานร่วมกับสื่อให้ช่วยเกาะติดประเด็น เฟ้นหาคนมีชื่อเสียงมาร่วมสนับสนุน หาทางสื่อสารกับผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างเปิดเผยผ่านหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ายื่นรายชื่อผู้สนับสนุน หรือขอเข้าชี้แจง

161987230173

การรณรงค์ให้ภาครัฐงดทำสัญญากับบริษัทที่ไร้ธรรมภิบาล

และยังรวมถึงการจัดงานอีเวนท์ หรือกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์รูปแบบต่างๆ ด้วย จะใช้วิธีการไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นแคมเปญอะไร เรียกร้องกับใคร เช่น เรียกร้องกับบริษัทต่างๆ เพื่อสิทธิผู้บริโภคก็อาจจะมีวิธีการแบบหนึ่ง

อาจจะมีการโยงเรื่องภาพลักษณ์ของแบรนด์มาเกี่ยวข้อง หรือต้องหาข้อมูล วิเคราะห์ว่า มีใครบ้างที่แบรนด์นี้จะฟัง ผู้บริโภคกลุ่มไหน หรือต้องเป็นผู้ถือหุ้น แต่ถ้าเรียกร้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ก็อาจจะต้องใช้วิธีอื่นๆ ที่ต่างไป 

งานแคมเปญบน Change.org ไม่ได้จบหรือสำเร็จได้ด้วยการมาตั้งแคมเปญ หรือลงชื่อสนับสนุนเท่านั้น หน้าที่ของทีมเราก็คือช่วยให้คนที่มารณรงค์บนเว็บทำทุกกระบวนการต่างๆ ที่ว่ามาได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

เบื้องหลังหรือแม้แต่เบื้องหน้าเหล่านี้หลายคนอาจจะไม่เห็น เพราะลงชื่อแล้ว อาจจะไม่ได้ติดตามต่อ ปกติแล้วเจ้าของแคมเปญสามารถอัพเดทความคืบหน้าของแต่ละแคมเปญได้ อัพเดทนี้จะปรากฏที่หน้าแคมเปญบนเว็บ และส่งไปเป็นอีเมลให้ผู้ลงชื่อสนับสนุนทุกคนได้อ่าน และร่วมเดินทางรณรงค์ต่อไปด้วยกัน"