ฝัง'ความคิด ความจำ' ต้องทำแบบไหน 'จำแล้วไม่ลืม'

ฝัง'ความคิด ความจำ' ต้องทำแบบไหน 'จำแล้วไม่ลืม'

มาทำความเข้าใจเรื่อง"ความทรงจำ" ที่เชื่อมโยงกับกลไกในสมอง แล้วจะรู้ว่า นักโฆษณา นักการตลาด และคนสร้างภาพยนตร์ เอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้อย่างไร

ยิ่งนักวิทยาศาสตร์ศึกษาความคิดและความจำของคนเรามากเท่าใด ก็ยิ่งพบธรรมชาติที่น่าประหลาดใจมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่องความจำของเรานั้น ไม่ว่าเราจะมั่นใจว่าเราจำได้แม่นยำเพียงใด แต่คนส่วนใหญ่นั้นหากไม่มีการทบทวนความทรงจำนั้น หรือนำความจำนั้นมาใช้งานใหม่อยู่เรื่อย ๆ ก็อาจจะหลงลืมไปได้มาก แม้กระทั่งตัวเองก็ยังอาจประหลาดใจ

ในสหรัฐอเมริกาปี 1994 ช่วงที่เกิดคดีนักอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง โอ.เจ. ซิมป์สัน ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมภรรยาตัวเอง สามวันหลังเกิดเหตุ มีนักวิจัยสอบถามความทรงจำเรื่องนี้ของผู้คนกลุ่มหนึ่งแล้วบันทึกไว้

จากนั้นก็สอบถามอีกเป็นครั้งคราว ทำให้ทราบว่าหลังเหตุการณ์ผ่านไป 15 เดือน (กว่า 1 ปีเล็กน้อย) มีคนที่จำเหตุการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำลดลงเหลือแค่ครึ่งเดียว ขณะเดียวกันก็มีคนที่จำเนื้อหาผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงราว 11%

ครั้นถึงเดือนที่ 32 (2 ปีกว่าไม่ถึง 3 ปี) คนส่วนใหญ่ก็เริ่มจำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้สับสนไปหมด คนที่ยังจำรายละเอียดเรื่องราวได้ถูกต้องเหลือเพียงแค่ไม่ถึง 1 ใน 3 (29%) เท่านั้น

 ภาพยนตร์เรื่อง อินเซ็ปชั่น จิตพิฆาตโลก (The Inception) ที่ตัวเอกและพรรคพวกเข้าไปแก้ไขความคิดของเป้าหมาย โดยการ "ปลูก" ความคิดใหม่ลงไปในความทรงจำนั้น หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุการณ์แบบนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

คำตอบคือ การปลูกความคิดไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันไปเสียทั้งหมด !

ตัวอย่างเช่น มีเทคนิคที่เรียกว่า "แบ็กเวิร์ดเฟรมิง (back framing)" ที่อาศัยการใส่ข้อมูลใหม่ๆ ที่ "จงใจ" ให้เข้าไป ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จก็ได้ แต่สมองคนเราจะสับสนคิดไปว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นความจริง และบางครั้งแม้แต่คิดว่าเป็นความคิด "ต้นฉบับ" จากมันสมองของเราเองเสียด้วยซ้ำ

มีการทดลองโดยเลือกใช้เรื่องภาพพจน์นักการเมืองมาเป็นตัวอย่าง โดยนักวิจัยให้คนมากกว่า 200 คน มาอ่านประวัตินักการเมือง แล้วให้ตัดสินให้คะแนนไว้ก่อนในรอบแรก หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ ก็ให้คนเหล่านี้มาอ่านบทวิจารณ์นักการเมืองพวกนี้ ซึ่งก็รวมทั้งนโยบายการเมืองของพวกเขาด้วย

ผลก็คือ เมื่อพอถามความเห็นว่า ผู้เข้าทดลองแต่ละคน เห็นว่านักการเมืองเหล่านั้นเป็นคนเช่นใด ไว้วางใจได้หรือไม่  ผลการทดลองก็ชัดเจนว่า สิ่งที่แต่ละคนตอบนั้นมักเป็นผลลัพธ์ที่มาจากบทวิจารณ์ที่อ่านกันไป  แต่ทุกคนรู้สึกราวกับ นั่นคือความเห็นที่สมองตัวเองกลั่นออกมาก

ที่น่าทึ่งก็คือ มีหลายคนที่คำวิจารณ์และคะแนนที่ให้ขัดแย้งกันกับที่ตัวเองเคยให้คะแนนไว้ก่อนหน้านี้จากหน้ามือเป็นหลังมือก็มี  หากลองมาทดลองแบบเดียวกันกับนักการเมืองไทย คาดว่า ก็น่าจะได้ผลไม่ต่างออกไปมากนัก

อีกการทดลองหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ให้ผู้ทดลองชมภาพยนตร์ตัวอย่าง จากนั้นจึงให้ประเมินพร้อมกับให้คะแนน แล้วจึงให้อ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ ซึ่งก็มีทั้งที่วิจารณ์ไปในทางบวกและทางลบ

ภายหลังเมื่อทดสอบความจำว่าแต่ละคนชอบหรือไม่ชอบภาพยนตร์นั้นเพียงใด  ปรากฏว่าพวกที่อ่านบทวิจารณ์ที่บอกว่าดี มักจะจำว่าตัวเองค่อนข้างชอบภาพยนตร์นั้น ตรงกันข้ามพวกที่อ่านบทวิจารณ์ทางลบก็จะจำว่าตัวเองไม่ค่อยชอบภาพยนตร์นั้นเท่าใดนัก 

 

โดยคำตอบที่ได้ในคราวหลัง ไม่สัมพันธ์กับที่ตัวเองให้คะแนนไว้ครั้งแรกเท่าใดนัก

จะเห็นได้ไม่ยากว่าการโฆษณาแบบกระหน่ำ การแนะนำแบบปากต่อปาก และความเห็นจากบุคคลที่สาม เช่น นักวิจารณ์ ล้วนแล้วเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความทรงจำ และมีโอกาสสร้างความจำใหม่ที่เป็น "ความทรงจำเทียม" ให้กับผู้บริโภคได้

นี่ก็คือการตลาดยุคใหม่และเป็น "อินเซ็ปชั่น" ในโลกความจริง !

อีกเทคนิคหนึ่งเรียกว่า เมมเมรีมอร์ฟิง (memory morphing) หรือ "การแปลงความทรงจำ" เทคนิคนี้มีพลังขนาดทำให้กลุ่มเป้าหมายหลงเชื่อว่า เคยมีประสบการณ์บางอย่างมาแล้ว

ทั้งๆ ที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ มาก่อนเลย คือไม่ได้แค่งงๆ สับสนแบบเดียวกับเทคนิคแรก คำว่า morphing ในวงการภาพยนตร์ หมายถึง เทคนิคพิเศษที่ใช้เปลี่ยนภาพสิ่งหนึ่งให้กลายไปเป็นภาพของอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เปลี่ยนจากภาพใบหน้านักแสดงคนหนึ่งให้กลายไปเป็นใบหน้าของนักแสดงอีกคนหนึ่ง หรือกลายไปเป็นใบหน้าของสัตว์ เป็นต้น

ตัวอย่างการทดลองแบบนี้ เช่น  มีการทดลองอยู่คราวหนึ่งที่อาศัยนักจิตวิทยามาพูดคุยและตะล่อมแบบไม่ให้รู้ตัว จนทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นผู้ใหญ่มากถึง 25% สับสนและเชื่อว่า ตัวเองเคยหลงในห้างสรรพสินค้าตอนอายุ 5 ขวบ ทั้งที่ไม่เคยมีเรื่องเช่นนั้นเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เข้าร่วมการทดลองเลย 

อีกการทดลองหนึ่งยิ่งสนุก  ทีมวิจัยนำเอาป้ายโฆษณาบั๊ก บันนี่ (Bug Bunny) ไปติดเอาภายในดิสนีย์แลนด์ให้เห็นได้ชัดถนัดตา ผลก็คือนักท่องเที่ยวผู้ใหญ่ราว 16% เมื่อตอบแบบสอบถาม ก็แสดงความสับสน

และเชื่อว่าตัวเองเคยเจอกับบั๊ก บันนี่ในดิสนีย์แลนด์มาก่อนสมัยมาเที่ยวตอนยังเป็นเด็ก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบั๊ก บันนี่ เป็นแคแร็กเตอร์การ์ตูนในเครือบริษัท วอร์เนอร์ ซึ่งไม่มาปรากฏตัวในดิสนีย์แลนด์แน่

เรื่องความทรงจำเทียมแบบนี้ เคยเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลมาแล้วจำนวนไม่น้อยในประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดมีการตั้งมูลนิธิผู้ป่วยโรคความจำผิดเพี้ยน (False Memory Syndrome Foundation) ที่มีสมาชิกเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากความจำแบบผิดๆ ที่จิตแพทย์เป็นผู้ฝังเอาความทรงจำนั้นไว้ในสมองผู้ป่วยขณะรักษา โดยมักทำให้ผู้ป่วยที่เป็นหญิงหลงผิดคิดไปว่า เคยโดนพ่อล่วงเกินทางเพศขณะตนเองเป็นเด็ก 

ไม่น่าเชื่อว่าเราจะอยู่ในยุคที่เชื่อถือเชื่อใจอะไรไม่ได้เต็มที่อีกต่อไปแล้ว เราเชื่อใจไม่ได้แม้แต่...ความทรงจำของตัวเอง !!!