ย้อนรอย’สัปปายะสภาสถาน’ 8ปีมหากาพย์’ซิโน ไทย-รัฐสภา’

 ย้อนรอย’สัปปายะสภาสถาน’ 8ปีมหากาพย์’ซิโน ไทย-รัฐสภา’

8ปีกับงบก่อสร้างนับหมื่นล้าน สถานที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่ที่ทำการใหญ่ของฝ่ายนิติบัญญัติ หากแต่เป็นที่รวมไว้ซึ่งสมาชิกที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ผูัทรงเกียรติ"

อาคาร “สถาปัตยกรรม” รูปทรงสมัยใหม่ สอดแทรกด้วยศิลปกรรมไทยตามความเชื่อทางศาสนา “หลักไตรภูมิ”ผสมผสานด้วย “เทคโนโลยีการก่อสร้าง” ที่ทันสมัยตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นที่123ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือที่ทำการใหญ่ของฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นคือ “รัฐสภา” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สัปปายะสภาสถาน” อันหมายถึงสภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย ซึ่งเดิมที่มีกำหนดส่งมอบในวันที่1พ.ค.นี้

สถานที่แห่งนี้ออกแบบโดย “ธีรพล นิยม” ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2556 เป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้ร่วมบุกเบิกบริษัทแปลนคิเต็ค และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันอาศรมศิลป์ และทีมงานภายใต้ชื่อ สงบ 1051

ทั้งยังถือเป็นอาคารรัฐสภาที่ใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่อาคารรัฐสภาแห่งโรมาเนีย ซึ่งมีพื้นที่ในอาคาร 365,000 ตารางเมตร และเป็นอาคารของรัฐที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก โดยจะเป็นรองเพียงอาคารเดอะเพนตากอนในสหรัฐที่มีพื้นที่ 600,000 ตารางเมตรเท่านั้น

สำหรับพื้นที่ใช้สอยอาคารแห่งนี้มีการตั้งประมาณ ในการก่อสร้างไว้ที่ 12,000 ล้านบาท มีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก

ถูกแบ่งอาคารเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)

นอกจากนี้ยังมีมีส่วนต่างๆอาทิ ห้องประชุมของ ส.ส. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระสุริยัน", ห้องประชุม ส.ว. หรือที่เรียกว่า "ห้องพระจันทรา", โถงรัฐพิธี, พิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย, ห้องอาหาร ส.ส., ห้องอาหาร ส.ว. ในส่วนของดาดฟ้าอาคาร ประกอบด้วยกำแพงแก้วล้อมรอบส่วนเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ชาติไทย

161978571275

ทว่าภายใต้สถาปัตยกรรมที่นับว่าเป็นเมกะโปรเจคระดับประเทศนี้เอง หากนับถึงปัจจุบันเฉพาะกระบวนการก่อสร้าง ได้ใช้เวลานานถึง 8 ปี จากเดิมที่ต้องดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จภายใน 900 วัน หรือสิ้นสุดลงในวันที่ 24 พ.ย. 2558 มีการขยายสัญญามาแล้ว 4 ครั้ง

ครั้งที่ 1 วันที่ 25 พ.ย.2558 -15 ธ.ค.2559 รวม 387 วัน ครั้งที่ 2 วันที่ 16 ธ.ค.2559 - 9 ก.พ.2561 รวม 421 วัน ครั้งที่ 3 วันที่ 10 ก.พ.2561 - 15 ธ.ค.2562 รวม 674 วันครั้งที่ 4 วันที่ 16 ธ.ค.2562 - 31 ธ.ค.2563 รวม 382 วัน

กระทั่งวันที่ 30 ธ.ค. 2563 คณะกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีมติ “ไม่ขยายสัญญาการก่อสร้างครั้งที่ 5”

“เหตุผลที่ไม่ต่อสัญญาการก่อสร้างให้เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ(ซิโน-ไทย) ไม่สามารถชี้แจงเหตุผลเรื่องระบบท่อร้อยสายที่สัมพันธ์กับสัญญาก่อสร้างหลัก จนเป็นเหตุให้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เสร็จไม่ทันตามกำหนดนั้น จะทำให้การก่อสร้างเกิดความล่าช้าไปกี่วัน ทางบริษัทฯ ไม่สามารถพิสูจน์รายละเอียดเรื่องนี้ได้ชัดเจน แม้จะให้โอกาสพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วก็ตามจึงพิจารณาเห็นว่าไม่ควรต่อสัญญาครั้งที่5”  สาธิต ประเสริฐศักดิ์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเมื่อวันที่30 ธ.ค. 2563

161978573465

ผลที่ตามมาคือรัฐสภา "สั่งปรับ" บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)ในฐานะผู้รับเหมาหลัก เป็นจำนวนเงิน12 ล้านบาทต่อวัน

ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ควบคุมงานและที่ปรึกษาบริหารโครงการ 3.3แสนบาทบาทต่อวันนับตั้งแต่วันสิ้นสุดสัญญาไปจนถึงวันก่อสร้างแล้วเสร็จ

ตลอดระยะเวลา8ปีในการก่อสร้างสถานที่แห่งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความล่าช้า ยังไม่นับรวมหลายประเด็นที่นำมาซึ่งข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใส และความคุ้มค่าของงบประมาณจำนวนมหาศาล

หากเทียบกับหลายโครงการ ที่มีการก่อสร้างหน่วยงานราชการในลักษณะเดียวกัน อาทิ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ บนที่ดิน 449 ไร่ ที่ใช้เวลาราว 8 ปี (พ.ศ.2548-2556) ใช้งบประมาณเพียง 19,000ล้านบาท

ต่างจากรัฐสภา ซึ่งมีพื้นที่เพียง 119.6 ไร่ จากเดิมที่มีการกำหนดกรอบงบประมาณไว้ที่ 12,000 ล้านบาท แต่จากความยืดเยื้อบานปลายกว่า 8ปีนี้เองบานปลายส่งผลให้ตัวเลขล่าสุดบานปลายแตะ 2 หมื่นล้าน

เดิมที “รัฐสภา”และ “บริษัทซิโน-ไทย” มีกำหนดการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง และเปิดใช้อาคารอย่างเต็มรูปแบบ100%ในวันที่1พ.ค.2564 แต่ทว่าจะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่เวลานี้ยังลุกลามในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่รัฐสภาส่งผลให้ต้องมีการเลื่อนส่งมอบพื้นที่ออกไปอย่างไม่มีกำหนด