‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.18 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.18 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าตามดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดการเงินสหรัฐเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นักลงทุนยังรอปัจจัยใหม่และระยะสั้นจับตายังทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติอย่างใกล้ชิดคาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30- 31.40บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.18 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.21 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.10 - 31.25 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าตามดอลลาร์อ่อนค่า แต่ระหว่างวันอาจปรับตัวอ่อนค่า จากโควิด-19ทวีความรุนแรงขึ้นแต่นักลงทุนรอปัจจัยใหม่ ตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แม้เฟดไม่เร่งรีบปรับนโยบายการเงิน

คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30- 31.40บาทต่อดอลลาร์ในส่วนทิศทางค่าเงินบาท เรามองว่า ในระหว่างวัน อาจมีฝั่งผู้นำเข้าบางส่วน รวมถึงบริษัทจดทะเบียนที่มีภาระต้องจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติในเดือนพฤษภาคม อาจเข้ามารอซื้อเงินดอลลาร์ หลังเงินบาทแข็งค่าลงมาพอสมควร ทำให้ เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวรับอยู่แถว 31.15 บาทต่อดอลลาร์

ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าไปมาก หากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนต่างชาติ เทขายสินทรัพย์ไทย ซึ่งยังคงต้องติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์ต่างชาติอย่างใกล้ชิดในระยะสั้นนี้  นอกจากนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ เราคาดว่าจะเริ่มเห็นผู้ส่งออกเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์ เช่นกัน

ตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ อยู่ในภาวะที่เปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากความหวังแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สดใส หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายกว่า 6.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่ง ตลาดก็คาดหวังว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ American Families Plan กว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ และ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับมาขยายตัวได้แข็งแกร่ง

ประกอบกับรายงานผลประกอบการที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดนั้น ทำให้ ตลาดกลับมาเทรดธีม Reflation trade และเน้นลงทุนในหุ้น Cyclical เป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากการที่ ดัชนี Dowjones ที่มีสัดส่วนหุ้น Cyclical มากนั้น ปรับตัวขึ้นกว่า 0.71% ขณะที่ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมอย่าง S&P500 ปิดบวก ราว 0.68% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเพียง 0.22%  ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนีหุ้นยุโรป STOXX50 ย่อตัวลงราว 0.45% กดดันโดยการปรับตัวลงกว่า 0.90% ของดัชนี DAX ของเยอรมนี หลังจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่ม Retail, Tech. และ Insurance ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งมาจากผลประกอบการที่ดีน้อยกว่าที่ตลาดคาดหวัง และผู้เล่นบางส่วนยังคงกังวลปัญหาการระบาด โควิด-19 ในยุโรปอยู่

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.68% หลังตลาดรับรู้รายงานจีดีพีสหรัฐฯ ก่อนที่จะย่อตัวลงมา มาสู่ระดับ 1.64% (เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า ราว2bps) สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวในกรอบในระยะสั้น โดยผู้เล่นส่วนใหญ่จะรอคอยให้ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (ราคาบอนด์ลดลง) ก่อนที่จะเข้าซื้อ (Buy on Dip)

นอกจากนี้ ในฝั่งตลาดค่าเงิน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งและบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีดอลลาร์ (DXY) สู่ระดับ 90.6 จุด ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 1,771 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และมีโอกาสที่ราคาทองคำจะยังคงแกว่งตัวในกรอบไปก่อน

ขณะที่ในฝั่งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ไฮไลท์ คือ ราคาทองแดงที่พุ่งขึ้นแตะระดับ 10,000 ดอลลาร์ ต่อตัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด นับตั้งแต่ปี 2011 ท่ามกลางความต้องการใช้ทองแดงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และเทรนด์การเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว ร่วมถึงความต้องการใช้ในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกที่เพิ่มสูงขึ้น  ขณะที่กำลังการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของโควิด-19  ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ก็ปรับตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อีกครั้ง จากความหวังว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะช่วยหนุนความต้องการใช้พลังงานที่มากขึ้น

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีดังนี้

ในฝั่งเอเชีย ตลาดยังคงคาดการณ์การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนเมษายนที่ระดับ 51.9 จุด และ 56.3 จุด ตามลำดับ(ดัชนี เกิน 50จุด หมายถึง การขยายตัวของภาคการผลิตหรือการบริการ)

ถัดมาในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE โดยแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่หนุนโดยการบริโภคครัวเรือนอาจทำให้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) เริ่มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1.8% จาก 1.4% ในเดือนก่อน ซึ่งต้องระวังในกรณีที่เงินเฟ้อพื้นฐานพุ่งขึ้นมากกว่าคาด เช่น 2.0% อาจกดดันให้ตลาดเทขายบอนด์ระยะยาว กดดันให้ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้