ราคาน้ำมันพุ่ง 1.15 ดอลล์

ราคาน้ำมันพุ่ง 1.15 ดอลล์

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าเวสต์เท็กซัส ปิดตลาดวันพฤหัสบดี (29เม.ย.)พุ่งขึ้น 1.15 ดอลลาร์ ขานรับตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐ ซึ่งบ่งชี้การฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาดไนเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 1.15 ดอลลาร์ ปิดที่ 65.01 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ ปิดที่ 68.56 ดอลลาร์/บาร์เรล

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 1/2564 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 6.4% ในไตรมาส 1 ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในช่วง 6.1-6.5% และเป็นตัวเลขการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 หลังจากที่เติบโต 4.3% ในไตรมาส 4/2563

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 33.4% ในไตรมาส 3/2563 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490 หรือมากกว่า 70 ปี จากการที่สหรัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมีการเปิดเศรษฐกิจ หลังจากหดตัว 31.4% ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ และหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวมากกว่า 7.0% ในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากหดตัว 3.5% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 74 ปี

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยบวกจากการที่โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะพุ่งขึ้น 13.5% ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์, อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง รวมถึงดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง

โกลด์แมน แซคส์คาดว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จะแตะระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสจะแตะ ระดับ 77 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยได้อานิสงส์จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น 5.2 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการในการเดินทางระหว่างประเทศ

ขณะกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเพิ่มกำลังการผลิต 350,000 บาร์เรล/วันในเดือนพ.ค. และอีก 350,000 บาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. ขณะที่เพิ่มกำลังการผลิต 441,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.ค.

ขณะเดียวกัน โอเปกพลัสคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 6 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ หลังจากดิ่งลง 9.5 ล้านบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว