ทำไมต้องลงทุนใน 'หุ้นต่างประเทศ'

ทำไมต้องลงทุนใน 'หุ้นต่างประเทศ'

ในภาวะที่อัตราผลตอบแทนสุทธิจากการฝากเงินหรือการลงทุนพันธบัตรในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ การลงทุนในในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างหุ้น นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่สูง แล้วทำไมถึงควรจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศ?

ในภาวะปัจจุบันอัตราผลตอบแทนสุทธิจากการฝากเงินหรือจากการลงทุนพันธบัตรในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ผลตอบแทนที่แท้จริงจะอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้น เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น หนึ่งในสินทรัพย์ลงทุนที่ได้รับความนิยม คือ การลงทุนในหุ้น

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในบางครั้ง (บางปี) อาจจะให้ผลตอบแทนติดลบ วิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยง และ/หรือเพิ่มอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาว คือ การกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศที่มีกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพในเติบโตสูง และมีความหลากหลาย และแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นอยู่แค่ภายในประเทศ หรือกระจุกตัวในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงคล้ายๆ กัน

161969715323

จากตารางแสดงอัตราผลตอบแทนของดัชนีตลาดไทย และตลาดหุ้นโลกในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาเดียวกัน การลงทุนในตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ย่อมให้ผลตอบแทนต่างกัน (ในบางปีตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนดีกว่า บางปีแย่กว่า อีกประการหนึ่งตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าตลาดหุ้นไทยในรอบห้าปีที่ผ่านมา)

ดังนั้นการกระจายการลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศหลายภูมิภาคจะช่วยเพิ่มอัตราผลตอบแทน เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะเดียวกันยังจะช่วยให้ได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้การกระจายการลงทุนไปต่างประเทศเป็นการเพิ่มทางเลือกและสร้างความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลายภูมิภาค และหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นกระแสใหม่ของโลก (ที่ยังไม่มีในประเทศไทย หรือมีแต่มีความสามารถในการแข่งขัน หรือศักยภาพเติบโตน้อยกว่า) เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI), Cloud Computing, รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle; EV), นวัตกรรมทางการแพทย์ (Healthcare Innovation) และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เป็นต้น

การลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน ทำความรู้จักประเทศและอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปลงทุน เพราะทุกประเทศไม่ได้มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ หรือมีสภาวะตลาดแบบเดียวกัน นอกจากนี้ต้องเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ ความเสี่ยงด้านนโยบาย ความเสี่ยงทางการเมือง และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจสร้างความผันผวนทั้งด้านบวกและลบ

อย่างไรก็ตาม การกระจายการลงทุนไปต่างประเทศอย่างเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสภาวะตลาด จึงมีประโยชน์อย่างมากในการลดความเสี่ยงโดยรวมของการลงทุนและช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน

ในปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศทำได้สะดวกมากขึ้น และมีหลายวิธีทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ที่บริหารโดยทีมจัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญประสบการณ์การลงทุน และมีเครื่องมือการลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มผลตอบแทน เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากนี้สำหรับนักลงทุนทั่วไป การลงทุนผ่านกองทุนรวมยังมีต้นทุนต่ำกว่าการลงทุนโดยตรงอีกด้วย