รถยนต์ ‘เทสล่า’ กับอุบัติเหตุคร่าชีวิต 2 รายในสหรัฐอเมริกา

จับตา “เทสล่า” กับความเป็นไปได้ในการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะไร้คนขับเต็มรูปแบบ เมื่ออุบัติเหตุล่าสุดในอเมริกา ส่งผลกระทบต่อทิศทางแห่งอนาคตของเทสล่า

ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ระลอกใหม่ ที่มีผู้ติดเชื้อวันละประมาณกว่า 1,000 คน ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกครั้งใหม่ให้กับทุกๆ คนในประเทศไทย ในหน้าข่าวต่างประเทศก็ปรากฎข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถไฟฟ้ายี่ห้อ 'เทสล่า' ในมลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ผู้โดยสารทั้ง 2 เสียชีวิต โดยจากภาพที่เห็นทางสื่อจะเห็นได้ว่ารถเทสล่าที่ประสบอุบัติเหตุนั้นเกิดไฟไหม้กลายเป็นซากไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็นแม้แต่น้อย

จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายนั่งอยู่ในส่วนของผู้โดยสาร ไม่มีใครนั่งอยู่ในตำแหน่งของคนขับรถ จึงมีการคาดการณ์ว่ารถเทสล่าคันดังกล่าวถูกปรับให้อยู่ในโหมดการขับแบบอัตโนมัติก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุชนต้นไม้จนเกิดเพลิงลุกไหม้จนมีผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้จากข้อมูลของสื่อมวลชนในประเทศไทย (The Standard 19/4/2021) ได้ให้ข้อมูลว่า “หน่วยงานด้านความปลอดภัยของรถยนต์ในสหรัฐฯ ได้เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า พวกเขาได้ดำเนินการเปิดฉากการสอบสวนกรณีที่เกี่ยวข้องกับการชนของรถ Tesla มากถึง 27 กรณี โดยที่ 3 ใน 27 เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้” จากข้อมูลดังกล่าวแม้ว่าตัวเลขจะไม่มากแต่ก็ถือว่าส่งผลต่อทิศทางและเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เทสลาใช้เป็นจุดขายอย่างยิ่ง

  • เทสล่า รถยนต์ไฟฟ้ากับระบบประมวลผลสภาพแวดล้อมด้วย AI พร้อมขับเคลื่อนแบบ Autopilot

เทสล่า ก่อตั้งขึ้นโดยคนดังแห่งยุคดิจิทัล อีลอน มัสก์  โดยนำชื่อมาจาก นิโคล่า เทสล่า ผู้ให้กำเนิดสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ในห้วงประมาณ  ค.ศ. 1900 – 1940 ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร ด้านคลื่นความถี่ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่เด่นๆ ก็คือการค้นพบหลักการสนามแม่เหล็กและไฟฟ้ากระแสสลับ ที่เอาชนะทฤษฎีไฟฟ้ากระแสตรงของ โทมัส เอดิสัน ไปได้ จึงไม่แปลกที่ อิลอน มัสก์ ที่มุ่งหวังให้รถเทสล่าเป็นรถไฟฟ้าสมบูรณ์แบบครบครันด้วยเทคโนโลยีที่สุดทันสมัยจะเลือกใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อยี่ห้อรถยนต์

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารถเทสล่า จะใช้ AI ประมวลข้อมูลและสภาพแวดล้อมระหว่างการเดินทางเพื่อช่วยให้ผู้ขับขี่ได้รับความสะดวกสบาย หรือแม้แต่ระบบ Autopilot ที่กล่าวกันว่ารถสามารถจะไปไหนมาไหนเองได้ด้วยระบบ GPS ระบบเซนเซอร์เชื่อมโยงผ่านระบบ Internet และใช้เทคโนโลยีในการควบคุมรถจนไม่จำเป็นต้องใช้มนุษย์มาอยู่หลังพวงมาลัยอีกต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุญาตอย่างเป็นทางการ และเทสล่าเองก็ประกาศว่าระบบที่ใช้อยู่นั่นยังถือว่าเป็นขั้น Beta ซึ่งในภาษาทาง Digital ก็คือขั้นทดลองและยังไม่ถือว่าผ่านการทดสอบจนถึงระดับใช้งานจริงได้

  • ความเป็นไปได้ของการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะไร้คนขับเต็มรูปแบบ

แม้ว่าในเอกสารจะระบุว่าเทสล่าอยู่ในขั้นทดสอบ และยังไม่สามารถใช้งานจริงในฐานะรถยนต์อัจฉริยะได้ แต่จากภาพลักษณ์ของเทสล่าที่นำเสนอผ่านสื่อโฆษณา หรือการรีวิวจากหมู่ Youtuber ระดับโลก บวกกับกระแสที่นำเสนอผ่าน Social Network ทำให้ภาพของเทสล่ากลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะไร้คนขับอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามเทสล่ามีโอกาสและได้รับการตอบรับอย่างสูงในทวีปอเมริกาเหนือ ในการที่จะได้รับอนุญาตตามกฏหมายให้ใช้งานระบบ Autopilot บนท้องถนนได้ เนื่องจากเทสล่าได้รวบรวมข้อมูลตามท้องถนนและภูมิประเทศต่างๆ ไว้ใน Database กลาง หรือระบบสมองกลของเทสล่าได้เกือบทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือแล้ว แถมด้วยการมีสัญชาติอเมริกันแท้ทำให้เทสล่าเป็นหน้าเป็นตาและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกันอย่างมาก

แต่สำหรับในทวีปอื่นๆ เทสล่ายังห่างไกลจากการเป็นรถอัจฉริยะที่เดินทางโดยไร้คนขับ เนื่องจากการรวบรวมข้อมูลตลอดจนพฤติกรรมต่างๆ บนท้องถนนในทวีปอื่นๆ นั้น เทสล่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะให้ AI ประมวลผลการขับเคลื่อนด้วยตนเองได้ และน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่จะรวบรวมข้อมูลให้เพียงพอต่อการวิเคราะห์ของ AI

ข้อมูลใน Big Data ที่รวบรวมจากทวีปอื่นๆ ยังห่างไกลที่ระบบจะคำนวณและใช้ประเมินการทำงานแทนคนได้ นี้ยังไม่นับรวมประเด็นทางข้อกฎหมายต่างๆ ที่รูปแบบและวิธีการคิดของนักกฎหมายในทวีปอื่นๆ น่าจะไม่ใกล้เคียงกับนักกฎหมายในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุล่าสุดที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดพลิกผันอีกครั้งของเทสล่าต่อการที่จะมุ่งหน้าสู่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะไร้คนขับอย่างแท้จริง หลายๆ ประเทศในยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนี ที่ถือว่าเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ดูจะนำเสนอและให้ความสนใจกับข่าวนี้เป็นพิเศษ

ผมเลยถือโอกาสเปิดประเด็นและเชิญชวนทุกท่านลองติดตามข่าวสารและอนาคต ตลอดจนการแก้เกมส์ของเทสล่าต่อไปครับ