ดีเดย์(30 เมษายน) เปิด'ศูนย์พักคอย' สู้'โควิดคลองเตย'

ดีเดย์(30 เมษายน) เปิด'ศูนย์พักคอย' สู้'โควิดคลองเตย'

"โควิดคลองเตย" คาดว่าจะเป็นอีกคลัสเตอร์ที่แพร่เชื้อในวงกว้าง เพื่อลดการแพร่เชื้อ และช่วยเหลือคนในชุมชน ตั้งแต่วันที่30 เมษายน 2564 จะเริ่มมีศูนย์พักคอยในชุมชนคลองเตย และอีกหลายแห่ง

ล่าสุดการสุ่มตรวจโควิดเชิงรุกที่คลองเตย พบผู้ติดเชื้อกว่า 50 คน จึงเป็นที่หวั่นเกรงว่าจะเป็นพื้นที่แพร่เชื้อในวงกว้าง

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงผนึกภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพและสังคม จัดตั้ง “ศูนย์พักคอย” หรือ Community isolation ในชุมชนคลองเตย โดยใช้พื้นที่วัดสะพาน เขตพระโขนง เป็นฐานพักพิงใกล้บ้านใกล้ใจ

นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า ครั้งนี้จะร่วมกับภาคีเครือข่ายทำศูนย์พักคอย จุดแรกคือ  วัดสะพาน เขตพระโขนง,สำนักงานวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิดวงประทีป สำนักงานเขตคลองเตย ศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 10 และ 41ทีมงานโครงการคลองเตยดีจัง

 ศูนย์พักคอยใกล้ชุมชนคลองเตย จะบริหารจัดการและดูแลโดย คณะกรรมการของชุมชนภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแยกตัวผู้ติดเชื้อให้การดูแลเบื้องต้น และรอการจัดหาเตียงเข้ารักษาใน รพ. สนามหรือ รพ.หลักในพื้นที่  มีการจัดระบบสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เข้าไป ซึ่งจะช่วยแยกตัวผู้ติดเชื้อออกจากบ้านพักอาศัยและชุมชน ลดการแพร่ระบาด โดยคาดจะเริ่มเปิดจุดพักคอยในวันที่
30 เม.ย.นี้ เป็นแห่งแรก

 

สำหรับเป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชนคลองเตย คือ การสร้างระบบดูแลกันเองของประชาชนในระดับชุมชนที่เชื่อมต่อกับระบบใหญ่ ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ลดภาระของระบบบริการหลักในการตระเตรียมที่ดูแลหรือศูนย์พักพิง

ที่สำคัญคือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และลดอัตราการแพร่ระบาด โดยมีแผนจะขยายไปยังพื้นที่ชุมชนแออัดอื่นๆ ใน กทม. และปริมณฑล รวมทั้งเตรียมการขยายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่มีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนมาก

 

นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวใน 3 ประเด็น

1. การจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจในชุมชนแออัด เพื่อดูแลกันเองเบื้องต้นในระหว่างรอส่งตัวเข้าสู่การรักษาของ รพ. ใช้แนวคิดเรื่อง Home isolation ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในชุมชนแออัด ยกระดับเป็น Community isolation มีอาสาสมัครจากเจ้าหน้าที่และประชาชนช่วยกันดูแล และชุมชนตั้งคณะทำงานบริหารจัดการภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

2. ระยะเวลาการพักคอย ตั้งเป้าไว้ไม่เกิน 24 ชม. ซึ่งจะมีการทดสอบดูจากสถานการณ์ว่าภายใน 24 ชม.สามารถรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่สถานพยาบาลได้จริงมั้ย เพื่อปรับปรุงและพัฒนา ขยายต่อไปยังชุมชนอื่นๆ เนื่องจากการพักคอยแม้เพียง 1 ชม. ในบ้านหรือชุมชนก็มีความหมายต่อการแพร่เชื้อมาก

3. การจัดตั้งศูนย์พักคอยเป็นปัจจัยที่เสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง มีกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ชุมชนที่จะจัดตั้งศูนย์พักคอยได้นั้นต้องมีองค์ประกอบด้านคนที่มีองค์การทำงานอย่างเข้มแข็ง สถานที่มีความพร้อม และการออกแบบศูนย์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ การประสานงานระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง รวมทั้งการจัดระบบอาหารเข้ามาสนับสนุนในการดูแลคน

ขณะนี้ได้มีการประสานกรมควบคุมโรค เพื่อประเมินความพร้อมของศูนย์พักคอย ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่ป้องกันแพร่ระบาดของโรค รวมถึงจัดหารถตรวจคัดกรองโรคเชิงรุก และยังมีการตั้งคณะทำงานฮอตไลน์ภายใต้การสนับสนุนของ call center ของ สปสช. และเอกชน ทำหน้าที่ตอบคำถามชาวบ้านและจัดทำระบบข้อมูลในพื้นที่

การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ต้องให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เชื่อว่าโมเดลพื้นที่คลองเตยจะสรุปเป็นบทเรียนขยายไปยังพื้นที่อื่นได้ นพ.วิรุฬ กล่าว