“เอ็นไอเอ” เร่งปั้นสตาร์ทอัพสาย “ดีพเทค” ป้อนนิคมฯ - พื้นที่อีอีซี

“เอ็นไอเอ” เร่งปั้นสตาร์ทอัพสาย “ดีพเทค” ป้อนนิคมฯ - พื้นที่อีอีซี

“เอ็นไอเอ” ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ปั้นสตาร์ทอัพสาย “ดีพเทค” ป้อนนิคมฯ - พื้นที่อีอีซี พร้อมดึงบิ๊กอุตสาหกรรมร่วมต่อยอดสตาร์ทอัพกลุ่ม ARITech สู่การเติบโตจริงในอนาคต พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดตัวโครงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” นำร่องกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก หรือ NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” เพื่อสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพกลุ่มเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ ดีพเทคได้พัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด

161968365227

พร้อมทั้งการขยายโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยในโครงการนี้มุ่งเป้าที่สตาร์ทอัพกลุ่ม ARI Tech ซึ่งประกอบด้วย Artificial Intelligence , Robotics และ Immersive, IoT และขณะนี้มีบริษัทพันธมิตรให้ความสนใจและยินดีตอบรับการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพแล้ว อาทิ ด้านเกษตร-อาหารและค้าปลีก ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ด้านพลังงาน ได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ด้านดิจิทัล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

161968366848

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ประเทศไทยติดหนึ่งในสามของประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนจากการจัดอันดับนวัตกรรมบลูมเบิร์ก หรือ Bloomberg Innovation Index ประจำปี 2564 โดยมิติสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศขยับขึ้นสูงกว่าเดิมถึง 8 อันดับ สะท้อนให้เห็นถึง “โอกาส” ของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม” และจากโอกาสดังกล่าว NIA ได้เล็งเห็นว่ามี 3 กลยุทธ์ที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ เชื่อมโยงงานวิจัยไปสู่นวัตกรรม ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสร้างศักยภาพแห่งอนาคต

ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์กับกลยุทธ์ดังกล่าว NIA จึงได้ริเริ่มกิจกรรม “NIA Deep Tech Incubation Program @EEC” โดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้มีโอกาสเติบโตในพื้นที่ศักยภาพของประเทศ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทขนาดใหญ่ และอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยในโครงการนี้มุ่งเป้าที่สตาร์ทอัพในกลุ่ม ARI Tech (Artificial Intelligence – Robotics – Immersive, IoT) จำนวน 10 ราย เนื่องจากเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี และเพื่อให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ EEC

161968368055

พร้อมกันนี้ยังสร้างการเชื่อมโยงกับพันธมิตรในพื้นที่ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) มาร่วมในโครงการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งในด้านความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรม ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการไปสู่ระดับโลก เนื่องจากการนำนวัตกรรมเข้าไปใช้ในพื้นที่ EEC จะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานไร้ทักษะ ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปใช้กระบวนการทำงานมากขึ้น

161968369026

“การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ให้สามารถเข้าไปทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC  เปรียบเสมือนการสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ และพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศไทย  นอกจากนี้ยังได้ดึงพันธมิตรจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสตาร์ทอัพโดยสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าใจปัญหาและแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ (Public Private Partnership หรือ PPP) สตาร์ทอัพจึงจะได้ลงมือพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการรวมถึงมีเครือข่ายในภาคส่วนต่างๆ ที่จะเชื่อมโยงช่วยเหลือกันได้ เวทีนี้จึงถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ในการต่อยอดธุรกิจ มีเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ที่พร้อมผลักดันและช่วยเหลือ ในขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสในการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งจะได้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของธุรกิจไปพร้อมกัน ถือเป็นการร่วมมือกันแบบที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

161968372373

พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีบริษัทพันธมิตรให้ความสนใจและยินดีตอบรับการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ EEC อาทิ ด้านเกษตร-อาหารและค้าปลีก ได้แก่ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ด้านพลังงาน ได้แก่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ด้านดิจิทัล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งในทุกบริษัทล้วนแล้วแต่จะมีโจทย์และโอกาสทางธุรกิจที่ต้องการมองหานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเชิงลึกที่จะเข้าไปช่วยตอบโจทย์เหล่านั้น  สำหรับโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในพื้นที่ EEC จะเปิดรับสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกใน 3 กลุ่มเทคโนโลยีได้แก่ 1) Artificial Intelligent (AI) 2) Robotics และ 3) Immersive, IoT

161968371291

โดยจะคัดเลือกสตาร์ทอัพเข้าไปร่วมทำงานจริงกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำใน EEC ซึ่งจะมาร่วมเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจผ่านประสบการณ์และมุมมอง เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมแก้ปัญหาและต่อยอดทางธุรกิจ ทั้งนี้ ยังได้รับองค์ความรู้และเทคนิคต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาศักยภาพแบบเจาะลึก ได้ลงพื้นที่ทดสอบการใช้งานจริงไปพร้อมกับลูกค้า รวมถึงโอกาสในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนและบริษัทชั้นนำในพื้นที่ EEC โดยตั้งเป้าที่จะพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพให้มีความพร้อมและสามารถขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไป โดยสตาร์ทอัพที่สนใจ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://aritech.nia.or.th/eec ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เท่านั้น