6 พรรคเขย่าเก้าอี้ 'ประยุทธ์' โหนโควิด 'ตัดแต้มการเมือง'

6 พรรคเขย่าเก้าอี้ 'ประยุทธ์' โหนโควิด 'ตัดแต้มการเมือง'

เบื้องลึกแล้ว “ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ไม่ได้คาดหวังว่า การส่งสัญญาณเตือน “ประยุทธ์” จะได้ผล แต่คาดหวังที่จะสะสมเชื้อความเบื่อหน่ายผู้นำรัฐบาล หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การส่งสัญญาณกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในสภาฯ นอกสภาฯ จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน

“6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ออกแอ็คชั่น ขึงขัง-จริงจัง ตั้งโต๊ะแถลงการณ์ สื่อสารไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยยก 3 ประเด็นความล้มเหลวที่ไม่สมควรบริหารประเทศต่อไป

ล้มเหลวและมีความผิดพลาดในการจัดการการระบาดของโควิด-19 ล้มเหลวในการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ และล้มเหลวในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของคนทั้งประเทศ

“3 ความล้มเหลว” ที่ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ชำแหละแผลของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่ประจักษ์ ซึ่งรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้ เมื่อการบริหารจัดการสถานการณ์โควิดระลอก 3 เกิดปัญหาสารพัดเรื่อง

เมื่อรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ ฝ่ายค้านจึงได้จังหวะแอ็คชั่นการเมือง เพื่อขยายผล ย้ำความผิดพลาดในการบริหาร ให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจบริบท และแน่นอนว่าเป้าหมายแฝงของฝ่ายค้านคือการ “ตัดแต้มรัฐบาล” ขณะเดียวกันก็เสนอความช่วยเหลือเพื่อเก็บสะสมแต้มการเมืองไปในคราวเดียวกัน

ฝ่ายค้านเองย่อมรู้ลึกอยู่แล้วว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่มีทางลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามข้อเรียกร้อง เพราะขนาด “ม็อบราษฎร” รุกไล่ เคลื่อนไหวกดดันอย่างหนัก มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก ก็ยังฝ่าแรงต้านมาได้ ด้วยการใช้ยาแรงทางกฎหมายเอาผิด “แกนนำม็อบ” จนกระแสและความเคลื่อนไหวชุมนุมไล่นายกฯ อ่อนแรงลงไป

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้พยายามปรับแผน แก้เกมการเมืองไปพร้อมๆ กัน เมื่อโควิดรอบนี้กลไกปกติเริ่มเอาไม่อยู่ จึงเปลี่ยนเกมทันที ด้วยการริบอำนาจรัฐมนตรี ดึงกฎหมาย 31 ฉบับมาควบคุมดูแลสถานการณ์ด้วยตัวเอง

ทำให้นักการเมืองที่ร่วมรัฐบาลเริ่มไม่พอใจ เพราะเห็นว่าการบริหารงานของ “ประยุทธ์” ถนัดสไตล์รวบอำนาจมาไว้ในมือของตัวเอง ไล่ตั้งแต่ครั้งยึดอำนาจจาก “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ต่อด้วยนั่งเก้าอี้นายกฯด้วยการมี “มาตรา 44” ที่สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้

กระทั่งการจัดการโควิดระลอกแรก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ใช้วิธีริบอำนาจมาสั่งการเองจนสถานการณ์ดีขึ้น ได้รับเสียงชื่นชมจากนอกประเทศ แม้จะก่อให้เกิดความอึดอัดขัดใจของพรรคร่วมรัฐบาลอยู่บ้าง ทว่าวิกฤติระลอก 3 นี้ ความอึดอัดได้ปะทุขึ้นเพราะความไม่พอใจท่าทีนายกฯ ที่ล้ำเส้น ล้ำพื้นที่การเมือง ผสมเข้ามาด้วย จนความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกับนายกฯ ชัดเจนขึ้น

6 พรรคฝ่ายค้าน จึงเลือกจังหวะนี้ ออกมาตั้งแผงนั่งแถลงการณ์ กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก เพราะเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญศึกรอบด้าน ทั้งกระแสสังคม พรรคร่วมรัฐบาล

อีกจังหวะที่ต้องลุ้น หากพ้นช่วง 14 วันอันตรายของรัฐบาลที่ปล่อยให้ประชาชนเดินทางไปมาในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ตัวเลขคนติดโควิด ยังขยับสูงขึ้นเรื่อย ๆ หรือปัญหาเตียง โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รองรับไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมตกเป็นเป้าการเมืองในตำบลกระสุนตก อย่างเลี่ยงไม่พ้น

จริงอยู่ ที่ว่าเบื้องลึกแล้ว “ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ไม่ได้คาดหวังว่า การส่งสัญญาณเตือน “ประยุทธ์” จะได้ผลตั้งแต่ออกแถลงการณ์รอบแรก แต่คาดหวังที่จะสะสมเชื้อความเบื่อหน่ายผู้นำรัฐบาลไปเรื่อย และหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การส่งสัญญาณกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในสภาฯ นอกสภาฯ จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน

ทว่าสิ่งที่ฝ่ายค้านเอง ก็ต้องขบคิดให้หนักคือ ข้อเสนอรัฐบาลชั่วคราว จะมีโมเดลอย่างไรที่จะทำให้ “ประชาชน” เห็นด้วยว่าคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศแทน พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถแก้ไขวิกฤตโควิดได้อย่างรวดเร็ว และมีโมเดลตั้งรัฐบาลอย่างไรไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ

เนื่องจากข้อเสนอของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ต้องการให้จัดตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนจะ “ยุบสภา” เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น ในรัฐธรรมนูญไม่เปิดช่องให้ทำได้ตามไอเดียของฝ่ายค้าน

และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจลาออกจริง ก็จะมี “ครม.รักษาการ” และหาก “ครม.รักษาการ” ลาออก รัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดให้ “ปลัดกระทรวง” ทำหน้าที่การบริหารราชการแทน ดังนั้นการจัดตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว”จึงแทบเป็นไปไม่ได้

ขณะที่แคนดิเดตนายกฯ ก็ยังมีรายชื่อที่ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” พร้อมจะเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ แทน ตามที่ยื่นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ดังนั้นการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ฝ่ายค้านเองก็ควรมีโมเดลที่ชัดเจน เพื่อชี้ให้เห็นทางออกของปัญหา และสามารถทำให้ประชาชนคล้อยตามข้อเสนอได้ หากเสนอเพียงลอยๆ ไร้กฎหมายรองรับ แถลงการณ์ที่หวังจะกดดันและทำให้รัฐบาลเสียแต้ม อาจทำให้ฝ่ายค้านเสียราคาทางการเมืองเอง