‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.34บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.34บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าตามดอลลาร์อ่อนค่า แต่ระหว่างวันเงินบาทอาจปรับตัวอ่อนค่า จากโควิด-19ทวีความรุนแรงขึ้นฝั่งนักลงทุนคุ้นชินและรอปัจจัยใหม่ ส่วนตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก แม้เฟดไม่เร่งรีบปรับนโยบายการเงิน คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30- 31.40บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ31.34 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.36 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.30 - 31.40 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนทิศทางค่าเงินบาท มองว่า ในช่วงเช้าค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์แต่ในระหว่างวัน ภาพอาจจะคล้ายกับหลายวันที่ผ่านมา ที่จะเห็นเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลง หากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น กดดันให้ตลาดลดการถือครองสินทรัพย์ไทย

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เพราะสถานการณ์การระบาดล่าสุด ยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มรายวันก็เริ่มทรงตัวที่ระดับ 2 พันราย ซึ่งจะเห็นได้ว่า นักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้ตกใจกับภาพดังกล่าวแต่อย่างใด

นอกจากนี้หากเงินบาทอ่อนค่าลงใกล้ระดับ 31.40-31.45 บาทต่อดอลลาร์ ก็จะเริ่มเห็นผู้ส่งออกเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์ขณะที่ฝั่งผู้นำเข้า จะรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ เมื่อเงินบาทแข็งค่ากลับมาใกล้ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในกรอบ 31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามา

ขณะที่ตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แม้ว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะออกมาดีเกินคาด และผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ระบุชัดเจนว่า เฟดยังไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน แม้ว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็ตาม โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ย่อตัวลงเล็กน้อย ราว 0.08% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ปิดลบราว 0.28%  ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนีหุ้นยุโรป STOXX50 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 0.08%

อย่างไรก็ดี ภาวะระมัดระวังตัวของตลาดและท่าทีของเฟดที่ไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะการปรับลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องหรือคิวอี ก็ช่วยหนุนให้ นักลงทุนยังคงเข้ามาถือบอนด์ 10ปี สหรัฐฯ ทำให้ บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 4bps จากระดับ 1.65% ในช่วงก่อนการประชุมเฟด มาสู่ระดับ 1.61% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะแกว่งตัวในกรอบในระยะสั้น โดยผู้เล่นส่วนใหญ่จะรอคอยให้ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (ราคาบอนด์ลดลง) ก่อนที่จะเข้าซื้อ (Buy on Dip)

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบอนด์ อาจรอจับตาการแถลงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ วงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต่อสภาคองเกรสในวันนี้โดยหากเสียงในสภาส่วนใหญ่เห็นชอบ อาจทำให้ตลาดมองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลอาจสร้างแรงกดดันต่อตลาดบอนด์ ผ่านการออกบอนด์เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวขึ้นได้อีกครั้ง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ท่าทีที่ไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด นอกจากจะทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแล้ว ยังทำให้เงินดอลลาร์ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงราว0.5% สู่ระดับ 90.5 จุด ส่งผลให้ สกุลเงินอื่นๆ อาทิ เงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.213 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.395 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ตามลำดับ

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาการแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ วงเงิน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์(American Families Plan) ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ต่อสภาคองเกรส ขณะเดียวกันในฝั่งข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีดังนี้

เริ่มจากในฝั่งยุโรป ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี จะกดดันให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในยูโรโซน (Consumer Confidence) เดือนเมษายน อาจทรงตัวที่ระดับ -8.0 จุด ซึ่งยังคงสะท้อนความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของผู้บริโภค

ถัดมาในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี และ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE โดยแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกกว่า6.9% จากไตรมาสก่อนหน้าและทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจโตถึง 6.4%y/y ในปีนี้ นอกจากนี้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่หนุนโดยการบริโภคครัวเรือนอาจทำให้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) เริ่มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 1.8% จาก 1.4% ในเดือนก่อน