รธน.จุดยืนโดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ เมื่อเสียประโยชน์จาก ‘บัตร 2 ใบ’

รธน.จุดยืนโดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ เมื่อเสียประโยชน์จาก ‘บัตร 2 ใบ’

ท่าทีไม่รับข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จากเวทีแถลงหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ดูเหมือนจะสร้างความลำบากให้กับ เส้นทางแก้รัฐธรรมนูญ ของฝั่งรัฐบาลแล้ว

       แรงขับของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎร ดูท่าจะไม่งานง่าย

       แม้พรรคแกนนำรัฐบาล “พลังประชารัฐ” ที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา และมีเสียง ส.ว. 250 คนหนุน จะเป็นผู้นำยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ “13 มาตรา” 5 ประเด็น

       แต่ด้วยท่าทีของ “ฝ่ายค้าน” ตามถ้อยแถลงของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 28 เมษายน ในเวทีแถลงการณ์พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ระบุว่า

161965441596

       “ไม่รับข้อเสนอใดๆ จากญัตติแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะญัตติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่พยายามรักษาอำนาจและการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน”

       ทำให้ถูกเหมารวมว่าเป็นจุดยืนของทั้ง 6 พรรคฝ่ายค้าน เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทย ว่า ไม่รับญัตติแก้รัฐธรรมนูญของ “พลังประชารัฐ” เช่นกัน

       ท่าทีที่ส่งผ่าน ย่อมมีผลกระทบต่อทิศทางการแก้รัฐธรรมนูญที่ “นักการเมืองในสภาฯ” ต้องการ เพราะตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จำเป็นต้องได้เสียงของ “ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน” ร่วมด้วย

       แม้วาระแรก “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” จะโหวตไม่รับ คงไม่เป็นไร เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ “ล็อค” ไว้ แต่เมื่อถึงวาระสาม ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เขียนให้ “เสียงฝ่ายค้านมีความหมายอย่างสำคัญ”

       หลักเกณฑ์ที่ใช้ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขในขั้นตอนของวาระสาม การเห็นชอบนั้นเงื่อนไขถูกกำหนดไว้ 2 ขยัก คือ

       ขยักแรก ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ​ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงของ ส.ว.ที่มี 250 เสียง ซึ่ง “ส.ว.” คงไม่ขัดข้องกับเนื้อหาหากเป็นร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับ พลังประชารัฐ ที่ได้รับไฟเขียวแล้วจาก “หัวหน้าพรรค-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี” พี่ใหญ่คณะ 3 ป

       ขยักสอง คือ ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ไม่มีรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา รวมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ซึ่งในที่นี้หมายถึงกลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน 210 เสียง บวกกับกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล ได้แก่ ชาติพัฒนา 4 เสียง เศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และกลุ่มพรรคเล็กรวม 10 เสียง ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องมีเสียงที่เห็นชอบร่วมด้วย 48 คนขึ้นไป

161965467985

       หากตัดพรรคฝ่ายค้านออกแล้ว จะเหลือแค่กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่มีใครเป็นรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา เพียง 27 เสียง แม้จะมี “ส.ส.งูเห่า” ที่แฝงใน 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่นับหัวแล้ว มีไม่พอเติมให้ครบจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนด

       หากเป็นแบบนั้น เท่ากับปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาแก้ระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่สร้างปัญหาให้กับ “พรรคการเมือง” ระบบเก่า

       ต้องยอมรับว่า ท่าทีของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ยังไม่เป็นเอกภาพ-เอกฉันท์ เช่น เพื่อไทย ประชาชาติ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะมีปัจจัยสำคัญ คือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง จากจัดสรรปันส่วนผสม และบัตรเลือกตั้งใบเดียว

       ไปเป็นระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ตามโมเดลที่ “พลังประชารัฐ” เสนอ หรือ แบบรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ “3 พรรคร่วมรัฐบาล” คือ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทย" เตรียมจะเสนอ พร้อมกับแก้ไขให้ใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบ

       รอบนั้น "ระบบเลือกตั้งแบบเก่า” สร้างพลังอำนาจให้ “พรรคไทยรักไทย” - “พรรคพลังประชาชน” กุมเสียงข้างมากและเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

       ในเมื่อบรรดา ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน เว้น "พรรคก้าวไกล” ต่างเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากระบบเลือกตั้งทั้ง 2 แบบ ดังนั้นในความชัดเจนของ “พรรคก้าวไกล” ยังต้องประเมินปัจจัย “การเมือง” ที่ผูกโยงกับความต้องการ “กำชัยชนะ” หลังการเลือกตั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้าน

       โดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย” ด้วยว่า ท้ายสุดแล้วจะผันแปรไปในทาง “หาพวก" หรือ “หาพรรค” กันแน่.