‘กฏหมายภาษีสิงคโปร์’ตัวช่วยฟิลิปปินส์ดูดเงินลงทุนต่างชาติ

‘กฏหมายภาษีสิงคโปร์’ตัวช่วยฟิลิปปินส์ดูดเงินลงทุนต่างชาติ

รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังดึงดูดการลงทุนของต่างชาติโดยใช้กฏหมายภาษีสไตล์สิงคโปร์เป็นเครื่องมือ ซึ่งตามกฏหมายภาษีใหม่ของสิงคโปร์จะลดภาษีรายได้บริษัทหรือนิติบุคคลและส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในฟิลิปปินส์

“คาร์ลอส โดมินเควซ” รัฐมนตรีคลังของฟิลิปปินส์ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซีว่า กฏหมายภาษีที่ฟิลิปปินส์ลงนามเป็นกฏหมายเมื่อเดือนที่แล้วมีชื่อว่า ครีเอท (CREATE) จะช่วยผ่อนคลายทางการเงินแก่บริษัทต่างๆขณะเดียวกันก็เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้แก่ประเทศ โดยปัจจุบัน ฟิลิปปินส์เก็บภาษีรายได้บริษัทในอัตรา 30% ถือว่าสูงสุดในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน แต่อัตราภาษีใหม่ จะจัดเก็บในอัตรา 25% สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ และ20% สำหรับบริษัทขนาดเล็ก

“กฏหมายใหม่นี้จะสนับสนุนโครงการลงทุนในประเทศของรัฐบาล ช่วยให้ฟิลิปปินส์เข้าใกล้การเป็นศูนย์กลางทางการเงินเหมือนสิงคโปร์ และช่วยให้ประธานาธิบดีมีอำนาจมากขึ้นที่จะให้แรงจูงใจแก่ธุรกิจที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศ ”โดมินเควซ กล่าวและว่า ฟิลิปปินส์วางรูปแบบโครงการโดยเลียนแบบระบบของสิงคโปร์เพื่อดึงดูดและสร้างแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ

ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์มีหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนอิสระ 13 หน่วยงานในประเทศแต่ในทางปฏิบัติแทบจะไม่ได้ประสานงานกันอย่างดีเท่าที่ควร แต่นับจากนี้ต่อไป รัฐมนตรีคลังฟิลิปปินส์ย้ำว่าจะมีการประสานงานกันมากขึ้นและสร้างความมั่นใจว่าหน่วยงานที่มีอยู่จะสามารถสร้างแรงจูงใจที่โปร่งใส เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่ฟิลิปปินส์ต้องการจริงๆได้

การลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาลฟิลิปปินส์ครั้งนี้เป็นครั้งล่าสุดในการปฏิรูปภาษีหลายครั้งของพรรคพีดีพี-ลาบัน ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ นับตั้งแต่ดูเตอร์เตขึ้นมาบริหารประเทศในปี 2559

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ กล่าวว่า แผนการต่างๆจะช่วยดึงกระแสเงินสดเข้ามาสู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยให้มีการลงทุนด้านการจ้างงานอีกครั้งและกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่บรรดานักวิจารณ์ตั้งคำถามการลดภาษีนิติบุคคลในครั้งนี้ โดยเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19

สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (พีเอสเอ)รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 พบว่า หดตัว 8.3% จากที่ขยายตัว 6.7% ในไตรมาส 4 ปี2562 และส่งผลให้จีดีพีเฉลี่ยทั้งปีในปี 2563 ติดลบ 9.5% ถือเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของฟิลิปปินส์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลในปี 2490

การหดตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่เคยบันทึกไว้เกิดขึ้นในปี 2527 และปี 2528 และพบว่าจีดีพีหดตัว 7% และ6.9% ตามลำดับ เนื่องจากการล่มสลายของระบบการปกครองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการที่ปกครองฟิลิปปินส์แบบเบ็ดเสร็จนานถึง 21 ปี และในปี 2541 จีดีพีหดตัว 0.5% จากวิกฤตการเงินในเอเชีย

“คาร์ล เคนดริก ที.ชัว” รักษาการณ์เลขาธิการสำนักงานเพื่อการพัฒนาและเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economic and Development Authority)หรือเอ็นอีดีเอ กล่าวว่าปี 2563 ถือเป็นปีที่ยากลำบากที่สุดของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ และสถานการณ์ในปัจจุบันยังคงท้าทายแต่ก็มีความหวังเพิ่มมากขึ้น

ในปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ใช้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกักกันชุมชนที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกอบกับสถานการณ์รับมือกับโควิด-19ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายเดือนซึ่งส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล

ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในปี 2563 ลดลงมากถึง 8.01 แสนล้านเปโซ หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 พันล้านเปโซต่อวัน และการบริโภคที่หดตัวลงนี้ส่งผลให้เกิดการสูญเสียรายได้รวมประมาณ 1.04 ล้านล้านเปโซ ในปี 2563 หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8 พันล้านเปโซต่อวัน ซึ่งการบริโภคภาคครัวเรือนถือเป็นภาคส่วนสำคัญและมีการเติบโตที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของจีดีพีประเทศ

แต่ทุกวันนี้ การบริโภคภาคครัวเรือนยังคงประสบภาวะอ่อนแอ แม้ว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอย่างมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวของการใช้จ่ายให้กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามเด็กออกจากบ้าน จึงทำให้ครอบครัวส่วนใหญ่ในฟิลิปปินส์ยังไม่จับจ่ายใช้สอยมากนัก