ไวรัส คือความเสี่ยง

เมื่อโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง เศรษฐกิจและการลงทุนต่างต้องเผชิญความเสี่ยง หากคุมเข้มการระบาดได้ภายในพฤษภาคม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจไม่มากนัก ขณะที่ระยะยาวนั้น วัคซีนจะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

ในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่า เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวชัดเจน ตัวชี้วัดล่าสุด เช่น ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ และดัชนีชี้วัดตลาดแรงงานของสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง ภาพนี้สอดคล้องกับที่ IMF ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็น 6.0% สูงสุดในรอบสี่ทศวรรษจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 5.5% ในช่วงต้นปี

การฟื้นตัวเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ อุปสงค์ (Demand) ที่ถูกอั้นไว้ มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และการเร่งฉีดวัคซีน โดยจากการคำนวณของสำนักวิจัย Bloomberg พบว่าชาวอเมริกันมีเงินออมส่วนเกินอย่างน้อย 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ที่พร้อมใช้จ่ายเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเปิดตัว (Reopen) อย่างเต็มที่ ขณะที่การสำรวจของนิตยสาร The Economist จาก 21 ประเทศพัฒนาแล้วในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 พบว่าประชาชนของประเทศดังกล่าวมีเงินออมรวมกัน 6 ล้านล้านดอลลาร์ที่พร้อมจะใช้จ่าย

ดังนั้น ประเทศใดที่มีการฉีดวัคซีนเทียบกับจำนวนประชากรในสัดส่วนสูง เช่น อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรซึ่งอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในช่วง 33-58% ก็มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวดีถ้ามีการเปิดประเทศ 

ในอีกมุมหนึ่ง แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) เช่น ในเอเชีย ละตินอเมริกา และแอฟริกา มีความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนากลับมาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากระดับการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างต่ำ

อีกประเด็นเศรษฐกิจหนึ่งที่แตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะจีน ได้แก่มาตรการการเงินการคลัง โดยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ยังคงใช้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน ในประเทศจีนที่มีความกังวลในระดับหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น (ปัจจุบันหนี้รวมต่อ GDP อยู่ที่ 285% เทียบกับ 250% ในปี 2019) ทำให้รัฐบาลเริ่มกังวล และคุมเข้มมาตรการการเงินมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาการระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจบางส่วน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ภาคธุรกิจเหมืองแร่ และบริษัทของรัฐบาลท้องถิ่น 

สำหรับในไทย ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การระบาดของโรค COVID-19 ระลอกที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้ติดเชื้อที่นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึงปัจจุบันพบว่าเกินระดับ 20,000 คน สูงกว่ายอดรวมของเดือนแรกของการระบาดครั้งแรกและครั้งที่สองอยู่ที่ประมาณ 2,000 และ 4,000 คนตามลำดับ

เราเชื่อว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดครั้งนี้จะรุนแรงหรือไม่ ในระยะสั้นขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดเป็นสำคัญ โดยหากระบบสาธารณสุขของไทยสามารถคุมเข้มและจำกัดการระบาดภายในเดือนพฤษภาคม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็อาจจะไม่มากนัก แต่หากไม่สามารถควบคุมได้ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศปิดกิจกรรมเศรษฐกิจมากขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้น  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง แต่รัฐบาลยังคงมีเงิน 3.8 แสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปตามที่ ดร.กุลยา ตันติเตมิตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าว โดยมาตรการที่ใช้น่าจะเป็นมาตรการช่วยกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นตามที่เคยได้ออกไปในการระบาด 2 ครั้งก่อนหน้า นอกจากนั้น ความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจอีกจุดหนึ่งได้แก่แนวโน้มการท่องเที่ยวที่จะแย่ลง แต่รายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไปจะถูกแทนที่ด้วยการส่งออกที่ดีขึ้นซึ่งเป็นผลการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและจีนที่ดีขึ้น

เราจึงเชื่อว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ทำให้ขยายตัวช้าลงกว่าที่เคยประมาณการไว้ แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น และการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศไทยในครึ่งปีหลัง ตามแผนของรัฐบาลที่จะรับวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 35 ล้านโดสจากเดิมที่ประมาณ 60 ล้านโดส ทำให้เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นครึ่งปีหลัง

สุดท้ายนี้ ความหวังทั้งมวลก็ฝากไว้กับวัคซีน การรักษาระยะห่างและ Social Distancing ต่างๆ รวมถึงความสามารถของบุคลากรสาธารณสุขว่าจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสได้

เมื่อไวรัสกลับมา เศรษฐกิจและการลงทุนก็เผชิญความเสี่ยง ในระยะยาวแล้ว วัคซีนเท่านั้นที่จะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์สำหรับวิกฤติสุขภาพที่กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้