‘วัคซีน’ สุดขอบโลก

‘วัคซีน’ สุดขอบโลก

ตามรอยทีมแพทย์ที่เดินทางด้วยความยากลำบากไปยังถิ่นทุรกันดารเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เช่น ชนเผ่าพื้นเมืองในป่าอะเมซอน หรือคนภูเขาบนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลหลายพันเมตร

ข้อมูลจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่าปัจจุบันทั่วโลกมีการ ‘ฉีดวัคซีนโควิด’ ไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านโดส เข้าถึงคนทั่วทุกมุมโลก แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลอย่าง ป่าดงดิบ เทือกเขาสูงเหนือน้ำระดับทะเลที่มีหิมะปกคลุม หรือหมู่เกาะในทะเลอันห่างไกล

ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณความพยายามของคณะแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ยอมอุทิศตัว เดินทางด้วยความยากลำบาก ทั้งบุกป่าฝ่าเขา นั่งรถลงเรือเข้าไปฉีดวัคซีน ตลอดจนให้ความรู้เรื่องการป้องกันโควิดแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญ

  • ประชากรสูงวัยในชนบทห่างไกลของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าการฉีดวัคซีนโควิดจะเป็นปัญหา แต่จริงๆ แล้วญี่ปุ่นยังมีประชากรสูงวัยอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นจำนวนมาก เช่น หมู่บ้าน Kitaaiki ซึ่งตั้งอยู่ตีนเขาในจังหวัดนากาโน (Nagano) มีประชากรกว่า 700 คน ที่สำคัญ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรมีอายุ 65 ปีขึ้นไป

ทว่า ในหมู่บ้านนี้กลับมีแพทย์ทำหน้าที่ฉีดวัคซีนโควิดอยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น คือ คุณหมอคาซูฮิโระ มัตสึฮาชิ ทำให้คุณหมอต้องทำงานมือเป็นระวิงเพื่อฉีดวัคซีนไซเฟอร์ให้กับผู้สูงอายุได้มากที่สุดวันละ 60 คน

คุณหมอมัตสึฮาชิกล่าวว่าโชคดีที่ตัวท่านเองเป็นหมออยู่ในหมู่บ้านนี้มานาน ทำให้ชาวบ้านยอมฉีดวัคซีนโควิดตามคำแนะนำของคุณหมอ เห็นได้จากกรณีของคุณยายคาคิโนะ ยามากุจิ วัย 93 ปี ที่บอกว่าตอนเห็นเข็มฉีดยาใหญ่ ๆ ทางทีวีก็คิดว่าไม่อยากฉีดเลย แต่เนื่องจากคุณหมอมัตสึฮาชิดูแลรักษาคุณยายมาเป็นเวลานานหลายปี ก็เลยทำให้ไม่กลัวการฉีดวัคซีน เพราะไว้ใจคุณหมอ

161960562258

คุณยายยามากุจิกำลังคุยกับคุณหมอเรื่องฉีดวัคซีนโควิด (credit : KAZUHIRO NOGI / AFP)

  • กล่อมชนพื้นเมืองโคลอมเบียให้ยอมฉีดวัคซีน

ทางด้าน อันเซลโม ทูนูบาลา ต้องเดินเท้า หรือไม่ก็ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปยังเขตสงวนสำหรับชนพื้นเมืองเผ่า Guambia ซึ่งตั้งอยู่ในเทือกเขาสูง ประเทศโคลอมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ เพื่อนำวัคซีน Sinovac ไปฉีดให้กับชนพื้นเมืองเผ่า Misak ที่มีอายุกว่า 70 ปีขึ้นไป

นางพยาบาลผู้อุทิศตัวรายนี้ต้องปีนป่ายไปตามยอดเขาต่าง ๆ เดินเคาะประตูบ้านทีละหลังเพื่อดูว่ามีคนชราอยู่ไหม เธอบอกว่าความลำบากไม่ได้อยู่ที่การเดินทางเท่านั้น แต่มันยากตรงที่เธอต้องโน้มน้าวใจให้ชนเผ่าเหล่านี้ ซึ่งปกติจะใช้แต่ยาพื้นบ้านที่ทำจากพืชในป่า เปลี่ยนใจยอมฉีดวัคซีนสมัยใหม่ ซึ่งก็มีทั้งกรณีที่เกลี้ยกล่อมสำเร็จและไม่สำเร็จ

161960577015

ทูนูบาลากำลังฉีดวัคซีนให้หญิงชราเผ่า Misak อายุ 70 ปี (credit : LUIS ROBAYO / AFP)

“ฉันต้องเดินเคาะประตูบ้านทีละหลังเพื่อให้ความรู้เรื่องการฉีดวัคซีน เพราะคุณปู่คุณย่าเหล่านี้ไม่ค่อยได้ป้องกันตัวเอง” พยาบาลวัย 49 ปีกล่าว

เธอต้องอธิบายเรื่องนี้ให้พวกเขาฟังเป็นภาษาพื้นเมือง ซึ่งโชคดีที่ ทูนูบาลา เป็นชนเผ่า พูดภาษาเดียวกับพวกเขาจึงไม่มีปัญหาตรงนี้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีชนเผ่า Misak อีกไม่น้อยที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนโควิดเพราะเชื่อผู้นำทางศาสนาของเผ่ามากกว่า

161960593261

แม้จะอยู่บนยอดเขาสูงในประเทศโคลอมเบีย แต่ผู้สูงอายุเหล่านี้ก็ได้ฉีดวัคซีนโควิด (credit : Luis ROBAYO / AFP)

  • ปีนภูเขาหิมะในตุรกี

คุณหมอ Akay Kaya (ขวา) และนางพยาบาล Yildiz Ayten จากโรงพยาบาลชุมชน Bahcesaray ก็เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ลงทุนปีนภูเขาหิมะที่ทั้งลื่น และสูงชันขึ้นไปยังหมู่บ้าน Guneyyamac อันห่างไกลทางภาคตะวันออกของตุรกี เพื่อฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

161960607380

(credit : BULENT KILIC / AFP)

161960633130

(credit : BULENT KILIC / AFP)

ตุรกีเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 83 ล้านคน กระจายอยู่ทั้งในทวีปยุโรป และเอเชีย (ตุรกีเป็นประเทศที่มีดินแดนอยู่ใน 2 ทวีป) รัฐบาลของประเทศนี้เริ่มการฉีดวัคซีนโควิดจากจีนให้กับประชากรของตัวเองมาตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ซึ่งน่าทึ่งว่าเพียงแค่สัปดาห์เดียวก็สามารถฉีดให้ประชาชนไปได้มากกว่า 1 ล้านคน

แต่หลังจากนั้นอัตราการฉีดก็ลดลงเพราะเข้าถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร อย่างภูเขาสูง และในป่าทึบที่ห่างไกลได้อย่างยากลำบาก ซึ่งก็ต้องอาศัยความทุ่มเทของคณะแพทย์แบบคุณหมอ และพยาบาลที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น

  • บุกป่าดงดิบ-นั่งเรือล่องแม่น้ำอะเมซอน

แม้แต่ป่าดงดิบที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลกอย่าง ป่าอะเมซอน คณะแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ไม่ย่อท้อ ดังเช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลุ่มนี้ที่นั่งเรือสปีดโบ้ทไปตามแม่น้ำ Erepecuru เพื่อฉีดวัคซีนโควิดให้คนในชุมชนไกลปืนเที่ยงที่ชื่อ Quilombo ซึ่งอยู่ตรงพรมแดนของรัฐ Para และรัฐ Amazonas ประเทศบราซิล

161960650150

(credit : TARSO SARRAF / AFP)

161960686166

ล่องเรือมาฉีดวัคซีน (credit : MICHAEL DANTAS / AFP)

แม้แต่คนในหมู่บ้าน Seer อันห่างไกลของประเทศซูดาน ทวีปแอฟริกา ก็ได้ฉีดวัคซีนโควิดเช่นกัน เพราะประเทศของพวกเขาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (Covax) หรือโครงการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้เข้าถึงประเทศทั่วโลกให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนกาวี (Gavi) องค์การอนามัยโลก (WHO) และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI)

โดยกระทรวงสาธารณสุขของซูดานทำหน้าที่จัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกามา แล้วฝึกฝนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้ทำหน้าที่ฉีด ตลอดจนเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจนถึงปัจจุบันทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น