‘กองทัพ’ ปราการสุดท้าย  พยุง ‘ประยุทธ์’ กู้วิกฤติ ‘โควิด’

‘กองทัพ’ ปราการสุดท้าย  พยุง ‘ประยุทธ์’ กู้วิกฤติ ‘โควิด’

‘กองทัพ’ กลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ที่ต้องระดมสรรพกำลังทั้งหมดเข้ามาพยุง ‘สาธารณสุข’ กู้วิกฤติ ‘โควิด’ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของรัฐบาลกลับคืนจากประชาชนอย่างเร่งด่วน

 อาจเป็นโอกาสสุดท้ายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมได้แก้มือ จากปัญหาการแพร่ระบาด ‘โควิด’ รอบ 3 ที่ทำให้ ‘รัฐบาล’ เสียรูปขบวนไม่ใช่น้อย หลังถูกโจมตีถึงความล่าช้าการจัดหาวัคซีน รวมถึงการกระจายฉีดวัคซีนไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

แม้แต่ประธานกรรมการหอการค้าไทย สนั่น อังอุบลกุล และ 45 ซีอีโอกลุ่มธุรกิจไทยยังออกอาการเป็นห่วง พร้อมผนึกกำลังยื่นมือเข้าช่วย หวังให้ประชาชน 70% ได้ฉีดวัคซีนโดยเร็ว รองรับแผนเปิดประเทศและสร้างความปลอดภัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขอเพียงรัฐบาลเปิดทางให้เอกชนนำเข้าวัคซีนทางเลือกเท่านั้น

เพราะหากพิจารณาตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ทะยานแตะหลักพัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ 13 เม.ย.2564 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหารถพยาบาลของ ‘สาธารณสุข’ และโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการรองรับ ภาพที่ไม่ควรจะเกิด ก็ปรากฎต่อสายตาประชาชน

ทั้งกรณี ผู้ป่วยแพร่เชื้อไปยังบุคคลใกล้ชิด หลังประสานโรงพยาบาล แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่มารับ หรือผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างรอรับตัวไปรักษา รวมทั้งสายด่วน 1186,1169 ที่ไม่มีผู้รับสาย สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวการบริการจัดการด้าน ‘สาธารณสุข’ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์กันขรมของประชาชน

อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข คือเป้าหมายแรกที่สังคมต้องการให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ
ด้วยการ ‘ลาออก’ ผ่านแคมเปญในเว็บไซต์ www.change.org ของกลุ่ม ‘หมอไม่ทน’ ที่มีประชาชนร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมาก ส่วน ‘พล.อ.ประยุทธ์’ จ่อคิวเป็นรายต่อไปในฐานะ ‘นายกรัฐมนตรี’

เวลานี้ ‘กองทัพ’ จึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ที่ต้องระดมสรรพกำลังทั้งหมดเข้ามาพยุง ‘สาธารณสุข’ กู้วิกฤติ ‘โควิด’ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของรัฐบาลกลับคืนจากประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยใช้ ‘กระทรวงกลาโหม’ บูรณาการผ่าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม

ควบคู่ไปกับการสั่งผ่าน พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ที่รับผิดชอบศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เหล่าทัพอยู่แล้ว ด้วยการกระจายความรับผิดชอบไปยังหน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่การสร้างกำแพงมนุษย์ที่เข้มแข็งชายแดนไทยทั้ง 4 ทิศ ป้องกันนำเชื้อเข้าประเทศ

การระดมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจในหน่วยทหารทั่วประเทศ จำนวน 24 แห่ง 5,341 เตียง พร้อมขยายขีดความสามารถของโรงพยาบาลทหารรองรับผู้ป่วยระดับแดงและเหลือง รวมถึงส่งแพทย์ทหาร เสนารักษ์ ช่วยเสริมทีมสาธารณสุข

พร้อมทั้งสำรวจกำลังพลมีความรู้ ประสบการณ์ด้านการแพทย์ และพยาบาล แต่ต้องไปปฏิบัติงานสายอื่นให้เป็นกำลังพลแถวสองคอยเสริมทัพ ควบคู่กับการสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น เตียง รถ และเครื่องมือใช้เครื่องใช้อื่นๆ ให้หน่วยงานรัฐ เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามอีก 7 แห่ง รวม 3,085 เตียง

ในขณะเดียวกัน ‘พล.อ.เฉลิมพล’ ตั้งศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ ‘โควิด’ ด้วยการระดมยานพาหนะพร้อมพลขับจาก ‘เหล่าทัพ’กว่าครึ่งร้อย ทำหน้าที่บูรณาการ ขนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อในที่พักอาศัยในพื้นที่ ‘กทม.-ปริมณฑล’ เข้ารับการดูแลรักษาตามระบบโดยเร็ว ตามคำสั่งการ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

สำหรับการออกมาตรการต่างๆเพื่อหยุดยั้งการระบาดเชื้อร้ายโดยไว ‘พล.อ.ประยุทธ์’ มอบเป็นหน้าที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศบค.(ผอ.ศปก.ศบค.) หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และบูรณาการส่วนจังหวัดเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับความรุนแรงของแต่ละพื้นที่ โดยให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ หลังตัดสินใจไม่ยับยั้งการเคลื่อนที่ของประชาชนในห้วงสงกรานต์ เพราะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของประเทศ

มาถึงจุดนี้ 'กองทัพ' แบ็คอัพสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกดึงเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญอีกครั้งในการแก้วิกฤติโควิดอีกครั้ง โดยเฉพาะการดึงความเชื่อมั่นกลับคืน ซึ่งหมายถึงความมั่นคงในเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ที่นับถอยหลังวาระอีกปีเศษ