ชี้ชัด! 'เลื่อนเปิดภาคเรียน' เป็น 1 มิ.ย.หนีโควิด 19

ชี้ชัด! 'เลื่อนเปิดภาคเรียน' เป็น 1 มิ.ย.หนีโควิด 19

ศธ.ชี้ชัด "เลื่อนเปิดภาคเรียน" 1/2564 เป็นวันที่ 1 มิ.ย.2564 หนีวิกฤต "โควิด-19" ตรีนุช ย้ำปลัด ศธ.-เลขาธิการ กพฐ.- กอศ.-กช.-กศน. ใช้เวลาเตรียมความพร้อมครู-บุคลากร ไม่กระทบสิทธิของผู้เรียน

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้ประชุมหารือเรื่องการ "เปิดภาคเรียน"และการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 "โควิด-19" ร่วมกับปลัด ศธ., เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) และเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (เลขาธิการ กศน.)

โดยที่ประชุมมีมติว่าจะ"เลื่อนเปิดภาคเรียน"ที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดของ "โควิด-19"อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น และจะกระทบต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่ของสถานศึกษา ประกอบกับผู้ปกครองก็ได้แสดงความห่วงใยในบุตรหลาน

  • "เลื่อนเปิดภาคเรียน" ต้องไม่กระทบสิทธิผู้เรียน

รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า ศธ. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้การ"เลื่อนเปิดภาคเรียน"กระทบต่อโอกาสในการเรียนรู้และ"สิทธิผู้เรียน" ดังนี้ ช่วงเวลาจากวันที่ 17 - 30 พฤษภาคม 2564 ให้สถานศึกษา ครูและบุคลากร เตรียมความพร้อมในด้านอาคารสถานที่ การจัดการเรียนการสอน และอื่นๆ เพื่อรองรับการ "เปิดภาคเรียน"  สื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการ"เลื่อนเปิดภาคเรียน"

ครู อาจไปเยี่ยมนักเรียน นักศึกษา ที่บ้าน  จัดกิจกรรมเสริมให้แก่ผู้เรียน ซึ่งอาจใช้ "ระบบออนไลน์" หรือระบบอื่นๆที่เหมาะสม โดยพิจารณาตามบริบทและประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

  • เล็งประเมินสถานการณ์ "โควิด" ประกาศ"เลื่อนเปิดภาคเรียน"

ทั้งนี้ ศธ.จะมีการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" และประกาศของ ศบค. เป็นระยะ โดยจะให้การ "เลื่อนเปิดภาคเรียน"กระทบต่อนักเรียน นักศึกษาน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงเรียนที่อยู่นอกเขตเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ไม่มาก ก็สามารถเตรียมการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบปกติเป็นหลักเช่นเดิม

ขณะนี้กระบวนการรับนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ มัธยมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนทั่วประเทศยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ และมีประมาณ 10,000 โรงเรียนที่ไม่สามารถดำเนินการรับนักเรียนตามปฏิทินการรับนักเรียนที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียน และการเลื่อนครั้งนี้ก็เลื่อนออกไปอีกเพียง 11 วัน โดยสถานศึกษาจะทำการจัดการเรียนการสอนชดเชยให้ครบตามหลักสูตร และกำหนดการปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ให้เป็นไปตามปฏิทินเดิมที่กำหนดไว้ คือ วันที่ 11 ตุลาคม 2564รมว.ศธ.กล่าว.