'อเมซอน-เฟซบุ๊ค'แข่งเดือดธุรกิจจ่ายเงินเรียลไทม์ในอินเดีย

'อเมซอน-เฟซบุ๊ค'แข่งเดือดธุรกิจจ่ายเงินเรียลไทม์ในอินเดีย

อเมซอน-เฟซบุ๊คแข่งเดือดธุรกิจจ่ายเงินเรียลไทม์ในอินเดีย ขณะธนาคารกลางอินเดียมีแผนสร้างระบบการจ่ายเงินเรียลไทม์แบบใหม่ โดยมีบริษัท6แห่งเตรียมยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ

ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะในประเทศที่การ์ดตก การบังคับใช้มาตรการต่างๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอของโรคระบาดนี้ ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น รวมถึงการรักษาระยะห่าง และพยายามออกไปอยู่ในที่ชุมชนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงทำให้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนไป เปิดโอกาสให้ธุรกิจการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอินเดีย ที่มีพลเมืองมากมายมหาศาล เติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่แพ้จีน

บรรดาบริษัทสัญชาติสหรัฐและอินเดียจึงพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจระบบการจ่ายเงินทางออนไลน์ที่ขยายขอบเขตครอบคลุมมากขึ้นในอินเดีย ซึ่งถือเป็นตลาดจ่ายเงินออนไลน์ขนาดใหญ่สุดของโลก

ล่าสุด ธนาคารทุนสำรองอินเดีย หรือธนาคารกลางอินเดีย มีแผนสร้างระบบการจ่ายเงินแบบใหม่ โดยมีบริษัท 6 แห่งร่วมทุน รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซอย่างอเมซอน ดอท คอม และบริษัทสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ที่เตรียมยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว

เมื่อเดือนก.พ.ปี2563 ธนาคารกลางอินเดีย ประกาศแผนเชื้อเชิญผู้สนใจให้ยื่นใบสมัครเพื่อรับใบอนุญาต่อตั้ง New Umbrella Entity (เอ็นยูอี) ซึ่งภายใต้เอ็นยูอีนี้ บริษัทต่างๆสามารถสร้างและบริหารระบบจ่ายเงินรายย่อยทั่วประเทศได้

ธนาคารกลางอินเดีย กำหนดเส้นตายสำหรับการยื่นใบสมัครพร้อมยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับแผนธุรกิจได้จนถึงปลายเดือนมี.ค.ปี 2564 ผู้ที่จะได้ใบอนุญาต จะเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบในเรื่องกว้างๆ รวมถึง วิธีการชำระหนี้ มาตรฐานการดำเนินงานด้านต่างๆ และการพัฒนาเทคโนโลยี

แม้ยังไม่มีการประกาศรายชื่อบริษัทที่สนใจอย่างเป็นทางการจากธนาคารกลางออกมา แต่ขณะนี้มี6บริษัทที่สนใจเข้าร่วม คือ กลุ่มบริษัทรีไลแอนซ์ ซึ่งเน้นดำเนินธุรกิจด้านพลังงานแต่ปัจจุบัน กำลังขยายธุรกิจไปยังกลุ่มค้าปลีก กำลังร่วมมือกับกูเกิล กลุ่มบริษัทสืบค้นข้อมูลชั้นนำของโลก และเฟซบุ๊ค บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ ให้บริการการจ่ายเงินทางออนไลน์

วอทส์แอพ ผู้ให้บริการแอพรับส่งข้อความฟรีสำหรับไอโฟนและสมาร์ทโฟนอื่นๆของเฟซบุ๊ค มีผู้ใช้งานในอินเดีย 400 ล้านคน ก็ให้บริการชำระเงินบนมือถือด้วย ขณะที่ไอซีไอซีไอ แบงก์ และเอซิส แบงก์ ซึ่งจะเป็นหุ้นส่วนกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีอย่างอเมซอน เป็นธนาคารเอกชนรายใหญ่อันดับสองและสามในอินเดีย

เจ้าหน้าที่ของเอซิส แบงก์ เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า การร่วมทุนของพวกเขาเพื่อให้บริการด้านนี้ เป็นการรวมตัวของกลุ่มธนาคารที่ก่อตั้งมาช้านานที่มีประสบการณ์หลายสิบปีและเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านฟินเทค พร้อมทั้งอ้างว่า การร่วมทุนครั้งนี้มีข้อได้เปรียบเพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากและมีเครือข่ายการจ่ายเงินขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารสัญชาติสหรัฐรายใหญ่ๆ ไม่สามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจในจีนได้เพราะปัญหาการเซนเซอร์ของรัฐบาลปักกิ่ง และปัญหาอื่นๆ แต่สามารถลงทุนในอินเดียได้ โดยคาดว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊คและกูเกิลทำงานร่วมกับรีไลแอนซ์ เป็นหุ้นส่วนขอใบอนุญาตเอ็นยูอี และทั้งสองบริษัทยังถือหุ้นในบริษัทด้านโทรคมนาคมในเครือของรีไลแอนซ์ด้วย

บรรดาบริษัทในประเทศเองก็เล็งที่จะขยายธุรกิจการจ่ายเงินของตัวเองให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน ด้วยการยื่นขอใบอนญาตเอ็นยูอี อย่างกรณีเพย์ทีเอ็ม สตาร์ทอัพยูนิคอร์นด้านอีคอมเมิร์ซและการจ่ายเงิน ที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์และเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจให้บริการจ่ายเงินในอินเดีย จะจับมือกับบริษัทโอลา ผู้ให้บริการเรียกรถรับจ้างและหุ้นส่วนรายอื่นๆ โดย“วิชัย เชการ์ ชาร์มา” ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)เพย์ทีเอ็ม บอกว่า การร่วมทุนครั้งนี้เป็นตัวแทนของธุรกิจให้บริการการจ่ายเงินทุกรูปแบบ

ในอินเดียนั้น “บริษัทเนชั่นแนล เพย์เมนท์ คอร์ป ออฟ อินเดีย” (เอ็นพีซีไอ)ซึ่งมีบริษัทการเงินเข้าร่วมกว่า 60 แห่ง บริหาร“ยูนิฟายด์ เพย์เมนท์ส์ อินเทอร์เฟซ” ระบบการจ่ายเงินทางออนไลน์ระหว่างธนาคาร

“เอซีไอ เวิลด์ไวด์” บริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกที่ให้บริการโซลูชั่นการชำระเงินแบบเรียลไทม์ ระบุว่า จำนวนการจ่ายเงินแบบเรียลไทม์ในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์มีมูลค่า 25,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2563 ถือเป็นอัตราสูงที่สุดในโลก สูงกว่าจีนที่มีการทำธุรกรรมคิดเป็นมูลค่า 15,700 ล้านดอลลาร์

“เจเรมี วิลมอท” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเอซีไอ เวิลด์ไวด์ กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตอกย้ำถึงความสำคัญของระบบชำระเงินดิจิทัล รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินที่แข็งแกร่ง เป็นการย่นย่อการปรับใช้นวัตกรรมที่คาดไว้ช่วง 10 ปี ให้เหลือเพียงปีเดียว และทำให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร แม้หลังจากที่วิกฤติผ่านไป ประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินดิจิทัลที่แข็งแกร่งจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีกว่าประเทศที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม”

ด้าน“ซามูเอล เมอร์แรนท์” หัวหน้านักวิเคราะห์ฝ่ายระบบชำระเงินของ“โกลบอลดาต้า” กล่าวว่า การชำระเงินแบบเรียลไทม์ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นทั่วโลก และโดยมากแล้วหลายประเทศมุ่งเน้นใช้งานส่วนของการชำระเงินระหว่างบุคคล (P2P)

แต่การเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทให้บริการด้านการจ่ายเงินแบบเรียลไทม์ในอินเดีย ก็เพิ่มแรงกดดันแก่ระบบดั้งเดิมที่มีอยู่ โดยธนาคารกลางของอินเดีย ระบุเมื่อปี 2562 ว่า ในสถานการณ์ที่ระบบการจ่ายเงินของประเทศดำเนินการโดยบริษัทไม่กี่แห่ง กำลังสร้างความวิตกกังวลมากขึ้นในประเด็นต่างๆ รวมถึง ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และผลกระทบทางเศรษฐกิจ