นายกฯ คุมวัคซีนเบ็ดเสร็จ ตั้งเป้าฉีด 30 ล้านคน ใน 3 เดือน

นายกฯ คุมวัคซีนเบ็ดเสร็จ ตั้งเป้าฉีด 30 ล้านคน ใน 3 เดือน

นายกฯ คุมศูนย์วัคซีนเบ็ดเสร็จ ทำหน้าที่ “ซิงเกิล คอมมานด์” ดูแลจัดหา กระจาย ฉีดวัคซีนให้ประชาชน-ภาคเศรษฐกิจ ตั้งเป้าฉีด 30 ล้านคนใน 3 เดือน นัดหารือเอกชนดันแผนฉีด 3 แสนรายต่อวัน แบ่งงานรัฐ-เอกชน 28 เม.ย.นี้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี หน่วยงานเศรษฐกิจและภาคเอกชน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2564 เพื่อวางแผนการจัดการวัคซีน โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า การประชุมได้มีการหารือเรื่องของการยกระดับการกระจายวัคซีนเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนสูงสุด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมาย 4 ด้าน ได้แก่ 

1.ผลักดันให้มีการจัดหาวัคซีนให้ได้เพิ่มมากขึ้นในทุกวิถีทาง โดยมีเป้าหมาย 10-15 ล้านโดสต่อเดือน จากวัคซีนที่มีความหลากหลายในปัจจุบัน 

2.ปรับโครงสร้างให้มีการจัดกลุ่ม แบ่งงาน ผสมผสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน โดยต้องให้มีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึง ผลักดันแนวหน้าในการฉีดวัคซีนให้เป็นเชิงรุก เพื่อแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลและสาธารณสุข

3.จัดให้มีศูนย์ฉีดวัคซีนทางเลือก โดยใช้สถานที่ที่เหมาะสม เช่น ศูนย์ประชุมฯ ศูนย์กีฬา โรงแรม เพื่อลดภารกิจของโรงพยาบาลหลัก และสาธารณสุข ที่ต้องรองรับ ดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก โดยศูนย์ฉีดวัคซีนฯ จะดึงการมีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่มีศักยภาพเพิ่มเติมจากของภาครัฐ 

4.เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการฉีดให้ได้ 300,000 โดสต่อวัน หรือมากกว่า และเป้าหมายฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้หรือเร็วกว่าที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่การให้มีการปรับปรุงการคัดกรอง และระบบการเข้ารับการรักษาพยาบาลให้มีช่องทาง และการขนส่งเคลื่อนย้าย ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายกฯตั้งศูนย์วัคซีน“เบ็ดเสร็จ”

นายดนุชา กล่าวหลังการประชุม ว่า เป็นการหารือกันในเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากในขณะนี้ที่การระบาดโควิด-19 ขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูง ซึ่งได้หารือกันว่าการจัดการขณะนี้จะมีการดำเนินการอย่างไร โดยในส่วนของการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนรัฐบาลจะมีการจัดตั้ง ศูนย์บริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ หรือ  “Single Command” ขึ้นเพื่อบริหารจัดการวัคซีนร่วมกับภาคเอกชนโดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน

สำหรับศูนย์บริหารจัดการวัคซีนแบบเบ็ดเสร็จ จะทำหน้าที่สั่งการให้การจัดหา และกระจายวัคซีนมีประสิทธิภาพ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ได้ 30 ล้านคนภายในระยะเวลา 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค.2564) จากเป้าหมายที่จะฉีดให้ประชาชนให้ได้ 50 ล้านคนภายในปี 2564

ทั้งนี้ Single Command จะดูทั้งการจัดหาวัคซีนทางเลือก การกระจายการฉีดวัคซีนต้องคำนึงถึงทั้งปัจจัยในเรื่องการควบคุมการระบาด การต่อเนื่องของเศรษฐกิจ โดยนอกจากกลุ่มประชาชนที่อูยู่ในภาคการท่องเที่ยวก็ยังมีอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการวัคซีนเช่นกัน 

ถกแบ่งงานรัฐ-เอกชน28เม.ย.

นอกจากนี้ การจัดหาวัคซีนได้เตรียมหารือกับภาคเอกชนในวันที่ 28 เม.ย.2564 ว่าจะแบ่งการทำงาน ร่วมกับรัฐบาลอย่างไร เช่นเรื่องของการจัดสถานที่ในการฉีดซึ่งจากเป้าหมายที่ต้องมีการฉีดให้ได้อย่างน้อยวันละประมาณ 3 แสนคนทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นสถานที่ในการฉีดวัคซีนคงจะไม่ใช่ที่โรงพยาบาลอย่างเดียว คงจะมีสถานที่อื่นที่จัดหาเพิ่มเติมด้วย 

ส่วนธนาคารกรุงไทยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการด้วยสำรวจทั้งหมดว่าประชาชนที่มีความต้องการจะฉีดวัคซีนจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยรวมรวมข้อมูลรวมกับระบบหมอพร้อมที่มีอยู่เพื่อให้บริหารจัดการไปในทิศทางเดียวกัน

ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่จะเข้ามาช่วยฉีดนั้นตอนนี้ก็มีการคุยกันว่าจะนำแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนต่างๆที่มีศักยภาพมาช่วยกันฉีดได้อย่างไร รวมถึงกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่เกษียณไปแล้วจะเอาเข้ามาช่วยกันฉีดได้อย่างไร คงต้องระดมกันเข้ามาช่วยฉีดในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งวัคซีนจะทยอยเข้ามาต่อเนื่อง โดยล็อตใหญ่ คือ เดือน มิ.ย.นี้ รวมประมาณ 26 ล้านโดส จะต้องเร่งฉีดให้ได้มากที่สุด 

นายกฯสั่งดูแลผู้ป่วยตกค้าง

สำหรับแผนการบริหารจัดการผู้ป่วยโควิด-19 นายดนุชา กล่าวว่า ในส่วนของการนำผู้ป่วยเข้ามาสถานพยาบาล จากช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้ให้กองทัพจัดรถไปรับด้วย ดังนั้นขณะนี้ผู้ป่วยที่ตกค้างประมาณ 1,400 คน ได้เริ่มเข้าไปที่สถานพยาบาลแล้วประมาณ 800 กว่าคนและยังคงมีการดำเนินการอยู่เรื่อยๆเพื่อช่วยผู้ป่วยที่ตกค้าง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงานรับผิดชอบในส่วนของการคัดกรอง โดยกลุ่มที่เป็นผู้ประกันตนขอให้กระทรวงแรงงานตรวจคัดกรอง แต่กรณีที่มีการพบผู้ป่วย สายด่วนที่มีอยู่เมื่อโทรเข้าไปแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ไปรับมาจากที่บ้านและไปเข้าที่จุดคัดกรอง ซึ่งทราบว่ามีการจัดสถานที่ไว้ เช่น สนามอินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก เป็นจุดที่จะนำผู้ป่วยเข้ามาและคัดกรอง ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเข้าสู่โรงพยาบาลสนามที่เตรียมไว้หลายแห่ง 

ส่วนคนที่มีอาการคัดกรองแล้วเป็นระดับสีเหลือง ก็ต้องเข้าสถานที่พยาบาล แต่จะเป็นที่ไหนก็คงจะดูจุดว่าง สำหรับผู้ที่มีอาการหนักหรืออยู่ในกลุ่มสีแดงต้องเข้าโรงพยาบาลแน่นอนซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการไปทั้งหมดแล้ว 

นายดนุชา ตอบคำถามประเด็นคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ว่า ยังไม่มี ตอนนี้เราคุยกันในแง่การบริหารสถานการณ์การระบาดก่อน มาตรการในการเยียวยามีไว้แล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ 

แอสตร้าฯส่งเข้าไทยตามแผน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้มีการหารือเรื่องวัคซีนโควิด-19 กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อหาช่องทางที่จะสามารถจัดส่งวัคซีนให้ไทยได้เร็วกว่าที่กำหนดในเดือน มิ.ย.2564 หรือไม่ 

ทั้งนี้จากการหารือกันทางแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่าการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ทำได้เร็วจากแผน 24 เดือน ก็สามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน และเมื่อตรวจการผลิตวัคซีนของไทย ถือว่ามีมาตรฐานทุกอย่างตามมาตรฐานสากล โดยทางแอสตร้ายืนยันว่าจัดส่งให้เร็วที่สุดภายใต้สัญญาที่ทำร่วมกันไว้ เนื่องจากตอนนี้มีความละเอียดอ่อนหลายอย่าง

นายอนุทิน ตอบคำถามประเด็นสัดส่วนการนำวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในประเทศไทยส่งให้กับโครงการโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ว่า วัคซีนของแอสตร้าฯ ที่ผลิตในประเทศไทย จะมีการจัดส่งให้กับทางโคแวกซ์ รวมถึงประเทศในอาเซียน ซึ่งสัดส่วนตรงนี้ยังไม่ได้ระบุ แต่ยืนยันว่าไม่กระทบกับยอดการสั่งซื้อเข้ามาฉีดให้กับคนไทยแน่นอน ประเทศไทยต้องมีวัคซีนฉีดให้กับประชาชนโดยไม่ขาด เป็นไปตามแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย