'ประกันโควิด-19' ยอดเคลมพุ่งเฉียด 200 ล้านบาท

'ประกันโควิด-19' ยอดเคลมพุ่งเฉียด 200 ล้านบาท

คปภ.เผยยอดเคลม "ประกันโควิด-19" พุ่ง แตะ 190 ล้านบาท ด้านลูกค้าอลิอันซ์ฯ แจ้งความประสงค์มากกว่า 200 รายในเดือน เม.ย.64 เข้ารับการรักษาตัวในฮอสพิเทลสัดส่วน 5-10% ซีอีโอคนใหม่ยืนยันพร้อมรับความคุ้มครองลูกค้าที่ป่วยติดเชื้อโควิดเต็มที่

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รายงานเกี่ยวกับ "ประกันโควิด -19" ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 15 เม.ย. 2564 มี จำนวนกรมธรรม์ทั้งสิ้น  13 ล้านฉบับ เป็นเบี้ยประกันภัยจำนวน 5,800 ล้านบาท และจ่ายเคลมสินไหมไปแล้ว 190 ล้านบาท 

นายโทมัส วิลสัน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต หรือ AZAY  เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.2564 นี้ พบว่าลูกค้าของบริษัทมีความประสงค์แจ้งเคลมประกันโควิดเข้ามาแล้วมากกว่า 200 ราย โดยเป็นการเข้ารับการรักษาตัวในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ(Hospitel) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-10% ขณะที่อีกกว่า 90% ยังเป็นการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นหลัก ฉะนั้นบริษัทยืนยันว่าลูกค้าประกันของบริษัทจะได้รับความคุ้มครองหากป่วยติดเชื้อโควิด-19 

"สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้บริษัทมีทีมงานทุกช่องทางที่จะช่วยร่วมกันประสานงาน ตลอดเวลาที่ลูกค้าเกิดปัญหาหรือมีความร้องขอ เพื่อจะช่วยเหลือลูกค้าของเราให้ดีที่สุดและดูแลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ พร้อมปรับบริการสู่รูปแบบออนไลน์ตลอด 24 ชม. ยอมรับว่า  ในปีนี้เป็นปีที่เรายังคงต้องเผชิญความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิต ยอมรับว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้มีความกังวล คาดหวังจะเห็นวัคซีนที่เข้ามามากขึ้น ที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน"

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2564 นายโทมัส กล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิตยังมีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอยู่มาก ทั้งการเผชิญกับจาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำอยู่ ตลอดจนความผันผวนในตลาดทุน ทำให้บริษัทต้องวางแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อที่จะสร้างการเติบโตในระยะยาว ซึ่งจะผลักดันและขับเคลื่อน 4 เสาหลักสำคัญ 

ได้แก่ การสร้างการเติบโตในทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย ช่องทางธนาคาร ขายตรงและ ตัวแทนที่ปัจจุบันมีอยู่ 13,000 คน และที่มีการขายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 2,500 คน ซึ่งจะเพิ่มให้ตัวแทนที่มีการขายสม่ำเสมอมากขึ้น และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะมุ่งเน้นทั้งการรักษาตำแหน่งผู้นำในการขายประกันคุ้มครองสุขภาพ อีกทั้งการสร้างผลกำไรจากการดำเนินงาน โดยเน้นสร้างผลกำไรในระยะยาว ผ่านการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน ทั้งของฝ่ายขาย และระบบหลังบ้าน และสุดท้ายการสร้างองค์กรมาตรฐานระดับโลก

อย่างไรก็ดีแม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นแต่ผลประกอบการในปี 2563 เบี้ยประกันปีแรกของบริษัทยังเติบโต แม้จะไม่เป็นตามเป้าหมาย และมีการเติบโตของกำไรสุทธิ เป็นผลจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการพอร์ทลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไป ธุรกิจประกันสุขภาพที่ดำเนินไปด้วยดี

ส่วนในปีนี้บริษัทตั้งเป้าเติบโตของเบี้ยจากช่องทางตัวแทนที่ 20-25% และยังเน้นเบี้ยสุขภาพ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทเป็นที่ 1 ในสินค้าสุขภาพแล้ว