เทียบชั้นหุ้นสินเชื่อเงินสด ก่อน “เงินติดล้อ” เข้าตลาดหุ้น 

เทียบชั้นหุ้นสินเชื่อเงินสด ก่อน “เงินติดล้อ” เข้าตลาดหุ้น 

กระแสแรงอย่างมากสำหรับหุ้นสินเชื่อจำนำทะเบียนน้องใหม่ บริษัท เงินสดติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ  TIDLOR หลังเปิดทำการให้รายย่อยจองซื้อหุ้นในรูปแบบ  Small Lot Frist  ระหว่างวันที่ 22 - 23  เม.ย.  และ 26 เม.ย.  ที่ผ่านมา

ปรากฎยอดจองถล่มทะลายเกินกว่าที่จัดสรรหุ้นส่งผลทำให้ต้องมีการสุ่มเลือก(random) 

ดังนั้นจากจำนวนผู้จองเข้ามามากถึงแสนรายการ ( ยังไม่การตรวจสอบรายชื่อซ้ำ ) เฉพาะ 2 วันแรกที่เปิดการจอง หรือ 22-23   เม.. ทำให้จะมีผู้ที่พลาดการจองจำนวนมาก  และผู้ที่ได้สิทธิจองจะได้หุ้นที่จัดสรรเพียงรายละ 1,000 หุ้น  หรือคิดเป็นจำนวนเงิน  36,500 บาท จากช่วงราคาไอพีโอที่ 34.00-36.50 บาท  ซึ่งจะมีการประกาศสิทธิรับหุ้น 28 .. นี้ และหลังจากนั้นรอรับเงินคืนในวันที่ 13 ..

ปรากฎการณ์ดังกล่าวถือว่าเดินตามรอยหุ้นขวัญใจมหาชน อย่าง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR  ที่ฉีกกฎหุ้นไอพีโอด้วยการจัดสรรให้นักลงทุนรายย่อยมากที่สุดผ่านระบบ Small Lot Frist   จนสร้างตัสวเลขจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ผ่านการลงทุนในหุ้น OR ได้ถึงระดับแสนราย จนทำให้ราคาหุ้นจากไอพีโอที่ 18.00 บาท สามารถยืนเหนืองจองและสร้างผลตอบแทนได้ถึงระดับ 60 %  จากราคาเปิดซื้อขายวันแรกด้วยผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีจำนวนมาก

กรณีของ TIDLOR ดำเนินคล้ายกันแต่กลับไม่เหมือนเพราะการกระจายให้รายย่อยกลับมีสัดส่วนที่น้อยกว่าอยู่ที่ 46 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 5.1%  ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่เสนอขาย 907  ล้านหุ้น โดยหุ้นส่วนใหญ่ถูกจัดสรรให้กับสถาบันที่เซ็นสัญญา (Cornerstone) ถึง 44.90 % หรือคิดเป็น 407 ล้านหุ้น

สุดท้ายต้องมาวัดใจธนาคารกรุงศรี ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะยอมกระจายหุ้นมากขึ้นด้วยการนำหุ้นกรีนชูที่มีอยู่ที่ 136 ล้านหุ้นแบ่งมาให้ลงทุนรายย่อย เหมือนที่  OR ที่ดึงหุ้นในส่วนนี้และจากมือของสถาบันมาให้รายย่อยด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตามการเดินหน้าเข้าตลาดหุ้นในครั้งนี้ของ  TIDLOR ยังมีแรงกระเพื่อมต่อธุรกิจประเภทเดียวกันในตลาดหุ้นไม่น้อย   จากการดำเนินธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนที่มีการแข่งขันสูงอยู่แล้ว  มีปัจจัยกดดันจากดอกเบี้ยที่แบงก์ชาติเข้ามาควบคุมและกำหนดเพดาน และยังเจอการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคอิงกับเทคโนโลยี ทำให้ต้องมีกลยุทธ์ใหม่ควบคู่กับสาขาหน้าร้านเพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อ

การระดมทุนในครั้งนี้เม็ดเงินส่วนใหญ่จะใช้ในการขยายธุรกิจสินเชื่อเงินสดด้วยการเพิ่มสาขา ที่มีอยู่ 1,076 สาขา  อีก 500 สาขา เป็นจำนวนเงิน 340 ล้านบาท และการเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ด้วยเม็ดเงิน 810 ล้านบาท ทั้งหมดจะเกิดขึ้นแล้วเสร็จในปี 2566  หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวม 1,150 ล้านบาท  บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ย 15-20 % ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

จากรายได้สิ้นปี 2563 มีรายได้รวม 10,553  ล้านบาท  มีกำไรสุทธิ 2,416  ล้านบาท   ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ 92% ที่เหลือจากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อย 8 %  ซึ่งบริษัทยังประกาศมองหาโอกาสเข้าซื้อกิจการ (M&A) ทั้งธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำเพื่อหนุนธุรกิจหลักปลายน้ำที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบันไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน

ยังไม่นับรวมกับปัจจัยเสริมที่มูลค่ามาร์เก็ตแคปหลังเข้าตลาดหุ้นแล้วจะขึ้นมาอยู่ที่ 80,000  ล้านบาท  ทำให้มีสิทธิเข้าคำนวณในดัชนี SET 50และ SET 100 ในรอบครึ่งปีหลัง2564  ไปโดยปริยายยิ่งทำให้เป็นหุ้นเนื้อหอมสำหรับกองทุนประเภท passive fund

ส่วนของนักลงทุนรายย่อยกลับต้องพิจารณาหุ้นไอพีโอนี้ในหลายๆ ด้าน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกันหมัดต่อมัด ชั้นต่อชั้นกับหุ้นรุ่นพี่ในกลุ่มเดียวกันถือว่าเป็นหุ้นที่มีมูลค่าสูงและศักยภาพในการทำกำไรยังน้อยกว่าอีก 2 บริษัท  ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD และ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC

โดยสะท้อนจากจำนวนสาขาที่ยังน้อยกว่าอีก 2 รายใหญ่ที่เดินหน้าขยายสาขาจ่อแตะระดับ 5,000 สาขา   ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ถือว่าเป็นตัววัดกำไรของธุรกิจประเภทนี้จะมากหรือน้อยแค่ไหนพบว่ายังน้อยกว่าอีก 2 รายที่อยู่ระดับเฉลี่ย 18 %  ส่วนของ  TIDLOR อยู่ที่  15.2 %    ซึ่งในส่วนนี้เมื่อมาวัดต้นทุนการกู้หรือแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาปล่อยกู้แทบจะไม่หนีกันเท่าไรเพราะเฉลี่ยใกล้เคียงกันอยู่ที่ 2-3 %

รวมทั้งอัตรากำไรต่อราคาปิดต่อหุ้น (P/E) กลุ่มอยู่ที่ 30 เท่า ปรากฎว่า ทั้ง SAWAD และ MTC ยังมีตัวเลขที่ต่ำกว่า  TIDLOR  สูงไปถึง 35 เท่า แต่จุดที่ TIDLOR ได้เปรียบมากที่สุดคือแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่จากสถาบันการเงินที่เป็นผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะกลุ่มการเงินขนาดใหญ่ "มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ" ที่ต้องการนำเงินทุนที่มีมาหาผลกำไรจากเงินฝากในญี่ปุ่นติดลบสำหรับเงินสำรองส่วนเกินที่สถาบันการเงินวางไว้กับธนาคารกลางญี่ปุ่น  ซึ่งตลาดที่มีศักยภาพในการก่อหนี้และมีวัยทำงานมากสุดคือตลาดอาเซียนสะท้อนจากการวางแผนขยายธุรกิจสินเชื่อเงินสดในภูมิภาคนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมา SAWAD ได้ปรับแผนธุรกิจจับมือกับพันธมิตรใหญ่ แบงก์ออมสิน รุกสินเชื่อจำนำทะเบียน พร้อมข่าวซุ่มเตรียมบริษัทลูก บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT เข้าสู่สินเชื่อดิจิทัล รวมทั้ง MTC ไม่ยอมอยู่เฉยเข้าสู่ตลาดสินเชื่อเงินสดเช่นเดียวกัน  จึงทำให้ศักยภาพการแข่งขันไม่ได้ด้อยและยังมีแหล่งเงินทุนสนับสนุน มีมูลค่าหุ้นที่ถูกกว่าแต่ทำกำไรดีกว่า  ทำให้เป็นตัวแปรต่อการเปรียบเทียบทิศทางราคาหุ้นไปด้วย