พม. เตรียม จนท. รถรับ-ส่ง เสริมทัพ สธ. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19

พม. เตรียม จนท. รถรับ-ส่ง เสริมทัพ สธ. เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19

กระทรวง พม. เตรียมเจ้าหน้าที่ พร้อมรถรับ-ส่ง เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เสริมทัพกระทรวงสาธารณสุข ในสถานการณ์วิกฤต

วันนี้ (24 เม.ย. 64) เวลา 14.00 น. ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ภายในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี  นายอนุกูล ปีดแก้ว นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ  และนางอังคณา ใจกิจสุวรรณ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด .พม.) พร้อมด้วย นายบุญยอด สุขถิ่นไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ นาวาเอก พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านปฏิบัติการฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดยมีเจ้าหน้าที่ กระทรวง พม. จำนวน 22 คน เข้าร่วมอบรม เพื่อนำทักษะความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 และเคลื่อนย้ายด้วยรถรับ-ส่ง ไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ได้อย่างปลอดภัย เป็นการช่วยเสริมกระทรวงสาธารณสุขในการให้บริการรถรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในสถานการณ์วิกฤต

161926999684

นายอนุกูล กล่าวว่า วันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง พม. และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากขณะนี้ เกิดวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ซึ่งทางทีมสาธารณสุขถือว่าทำงานอย่างเต็มกำลัง และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เข้ามาช่วยเหลือกันทำงานอย่างเต็มกำลังเช่นเดียวกัน 

โดย กระทรวง พม. ได้นำทีมเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานมาทั้งหมด 9 ทีม รวมจำนวน 22 คน โดยมีทั้งนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานขับรถมาเพื่อเตรียมความพร้อมและเรียนรู้การทำความเข้าใจกับทีมวิทยากรของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งเราได้เตรียมความพร้อมทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การแต่งกาย การทำความเข้าใจกับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เพื่อที่จะส่งต่อให้ทีมแพทย์ได้อย่างปลอดภัย

161926999788

สำหรับเจ้าหน้าที่ กระทรวง พม. ทั้ง 22 คน จะได้รับโค้วต้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง จะมีการคัดกรองผู้ติดเชื้อจากศูนย์นเรนทรก่อน และชุดปฏิบัติการนี้ จะรับช่วยเหลือเฉพาะกรณีสีเขียวหมายถึงผู้ติดเชื้อที่สามารถช่วยเหลือและดูแลตนเองได้เท่านั้น โดยพร้อมสนับสนุนภารกิจเร่งด่วน ในวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามกระบวนการช่วยเหลือนั้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ประสานงานหลัก และเรามาในฐานะหน่วยสนับสนุน โดยประชาชนสามารถติดต่อผ่านทางหน่วยงานหลักของกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และหากเกิดสถานการณ์วิกฤต กระทรวง พม. โดยหน่วยงานในสังกัดของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศได้เตรียมความพร้อมสำหรับสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มที่

นาวาเอก พิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ตนขอขอบคุณ กระทรวง พม. ที่ได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน และได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมพาหนะมาร่วมปฎิบัติการครั้งนี้ ซึ่งสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัยคือเจ้าหน้าที่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรในการปกป้องตนเอง เพื่อที่จะทำให้ไม่กลายเป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยได้เรียนรู้วิธีการใส่และถอดชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ และเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อได้อย่างใกล้ชิดและปลอดภัย 

161926999639

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ถึงแม้ว่าจะได้รับการอบรมแล้ว แต่จะต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัยของตนเองและผู้ติดเชื้อควบคู่กันในทุกครั้งที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ และต้องมีสติดูแลปกป้องตนเองเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะปกป้องผู้ติดเชื้อที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นลำดับถัดไป เพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัตงานของทุกฝ่าย