กรุงศรี คาดผู้ติดเชื้อ‘โควิดระลอก3’จ่อทะลุ 1 แสนรายมิ.ย.นี้

กรุงศรี คาดผู้ติดเชื้อ‘โควิดระลอก3’จ่อทะลุ 1 แสนรายมิ.ย.นี้

วิจัยกรุงศรี ทำแบบจำลองโควิดระลอก 3 ชี้จ่อเห็นผู้ติดเชื้อโควิดพุ่งระดับ 2600 รายต่อวันตั้งแต่ปลายเม.ย.ถึงพ.ค.และคาดเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อทะลุ1แสนรายมิ.ย.นี้

161925478960      วิจัยกรุงศรี ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีแนวโน้มล่าช้าและชะลอลงจากคาดการณ์เดิม โดยส่วนใหญ่ที่ลดลงเป็นผลกระทบจากการระบาดรอบที่ 3 ของโรค COVID-19
      ซึ่งจากแบบจำลองสถานการณ์การแพร่ระบาดของวิจัยกรุงศรีชี้ให้เห็นว่าจากค่ามัธยฐานของประมาณการ (Median forecast) จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศรายวันในการระบาดรอบล่าสุดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม
       โดยอาจมีจำนวนสูงถึง 2,600 รายต่อวัน และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศสูงเกินกว่าระดับ 100,000 ราย ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ก่อนจะทยอยปรับลดลงมาต่ำกว่า 100 รายต่อวันในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม (ดังรูป)

    ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ระบาดดังกล่าว วิจัยกรุงศรีประเมินว่าทางการจะดำเนินมาตรการควบคุมแบบ Soft lockdown เป็นเวลา 2 เดือน เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 จึงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค
     โดยคาดว่าจะหดตัวที่ -0.2% QoQ ติดลบต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่คาดไว้ -0.8% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน GDP ในไตรมาส 2 จะขยายตัวที่ 6.5% YoY ลดลงจากเดิมเคยคาดไว้ที่ 8.2%
     จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ กรุงศรี ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2564 ลงเหลือขยายตัว 2.2% จากเดิมคาด 2.5%
     โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดในรอบใหม่จะส่งผลต่อ GDP ไทยปีนี้ลดลงไป 1.6 %

      นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งคาดว่าจะทำให้การเติบโตของ GDP ลดลงไปอีก 0.15%
      อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตดีเกินคาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ไทยได้ 0.3%
       รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดในช่วงต้นปีมีจำนวนเม็ดเงินมากกว่าที่ประมาณการไว้ และคาดว่าทางการยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าเพื่อรองรับผลกระทบของการระบาดในรอบใหม่ล่าสุดอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท
       ซึ่ง ผลเชิงบวกของมาตรการเหล่านี้รวมแล้วคาดว่าจะสามารถเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้ 1.2% ดังนั้น เมื่อรวมจากทุกๆ ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ผลกระทบสุทธิโดยรวมต่อการเติบโตของ GDP ในปี 2564 จึงคาดว่าจะลดลงจากประมาณการครั้งก่อน 0.25%