‘เอ็นไอเอ’ปั้นสตาร์ทอัพอวกาศ ต่อยอดอุตสาหกรรมอิเล็กฯ

‘เอ็นไอเอ’ปั้นสตาร์ทอัพอวกาศ ต่อยอดอุตสาหกรรมอิเล็กฯ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) เดินหน้าแผนพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอวกาศ โดยภายใน 7 ปี มีเป้าหมายให้เกิดเทคโนโลยีชั้นสูงไม่ต่ำกว่า 12 บริษัท เกิดซัพพลายเชนกว่า 50 บริษัท เป็นประเทศชั้นนำด้านการผลิตดาวเทียม ยกระดับไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยี

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า เอ็นไอเอผลักดัน Deep Tech Startup หรือ สตาร์ทอัพ ที่มีนวัตกรรมเชิงลึก และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นเป้าหมายของไทย 5 สาขา ได้แก่ 1.นวัตกรรมเกษตร 2.นวัตกรรมอาหาร 3.นวัตกรรมที่ใช้ระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์) 4.นวัตกรรมอวกาศ 5.นวัตกรรมสุขภาพ 

สำหรับทั้ง 5 นวัตกรรม จะเป็นฐานทางเทคโนโลยีสำคัญของไทยที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูง และซัพพลายเชนอีกมาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีของตัวเอง และก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงในอนาคต

รวมทั้งหนึ่งในสตาร์ทอัพเป้าหมายที่สำคัญที่รัฐบาลเร่งผลักดัน คือ สตาร์อัพ นวัตกรรมอวกาศ” ซึ่งจะช่วยสร้างรากฐานเทคโนโลยีต้นน้ำที่สำคัญในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชั้นสูงจะช่วยทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าในภาคการผลิตและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอื่นๆของประเทศไปพร้อมกัน เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ เทคโนโลนัวัสดุ

นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมไปประยุกต์ใช้ด้านการเกษตร การบริการจัดการสิ่งแวดล้อม การสำรวจทรัพยากร และช่วยผลิตบุคลากรระดับสูงด้านอวกาศ ซึ่งอดีตผู้จบด้านนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่างจากต่างประเทศที่มีภาคธุรกิจเข้ามารองรับ

161919323552

“หากไทยสร้างเทคโนโลยีนี้ได้เองภายในประเทศ ก็จะทำให้มีต้นทุนเทคโนโลยีที่ต่ำลง ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้อุตสาหกรรมชั้นสูงที่ต่อเนื่องตามมามีราคาถูกลง ทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยสูงขึ้น และภาคเศรษฐกิจของไทยโดยรวมก็จะพัฒนาได้เร็ว”

สำหรับ เป้าหมายอุตสาหกรรมอวกาศในขั้นแรกเน้นในการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กด้วยตัวเอง ซึ่งไทยมีเทคโนโลยีดาวเทียมและสร้างได้เองมานานแล้ว แต่เป็นการสร้างในระดับงานวิจัยและพัฒนา ยังคงเป็นการนำเข้าอุปกรณ์เกือบทั้งหมดจากต่างประเทศมาประกอบ โดยเป้าหมาย คือ การสร้าง Deep Tech Startupที่พัฒนาเทคโนโลยีและขยายสู่การสร้างซัพพลายเชน

ทั้งนี้ จะยกระดับจากงานวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ทำให้ไทยเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตด้านอวกาศระดับนานาชาติ ซึ่งหากสร้างให้เกิดเป็นธุรกิจขึ้นมาได้จะขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจอวกาศได้ด้วยตัวเองในระยะยาว ต่างจากเดิมที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีทำให้ไม่เกิดการสร้างให้เกิดธุรกิจที่ขยายไปสู่เชิงพาณิชย์

“เทคโนโลยีอวกาศของไทยไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่มีผลงานการวิจัย และบุคลากรอยู่พอสมควร ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันวิจัยหลายแห่งได้สร้างดาวเทียมมานานแล้ว แต่ยังขาดการพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจ ซึ่งหากไม่ผลักดันให้เกิดธุรกิจเกิดตลาดจะทำให้งานวิจัยเสียเปล่า”

ปัจจุบันไทยมีบริษัทด้านดาวเทียวและอวกาศ 10 บริษัท แต่เป็นของคนไทยเพียง 3-4 บริษัท โดยเอ็นไอเอได้ตั้งเป้าหมาย 7 ปี ภายใน 3 ปี แรกจะสร้างสตาร์ทอัพด้านอวกาศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12 ราย ซึ่งในขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว 1 ราย เป็นเทคโนโลยีด้านเอไอ และหุ่นยนต์ อีก 4 ปี ถัดไปจะเร่งสร้างบริษัทซัพพลายเชนที่สร้างชิ้นส่วน วัสดุ อุปกรณ์ด้านอวกาศและดาวเทียมของไทยไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท

ส่วนมูลค่าตลาดในอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศของไทยอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 3.2 หมื่นล้านบาท เพราะดาวเทียม 1 ดวง ก็มีมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท และมีอุปกรณ์ต่อเนื่องในสถานีภาพพื้นจำนวนมาก ซึ่งดาวเทียม 1 ดวง ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศน้อยมาก ทำให้ เอ็นไอเอ ตั้งเป้าภายใน 7 ปี จะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 และการที่จะผลิตชิ้นส่วนของตัวเองได้จะต้องเริ่มตั้งแต่การมี Deep Tech Startup ก่อน 

ทั้งนี้ อุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศควรเริ่มจากชิ้นส่วนที่ใช้โรงงานที่ต้องลงทุนมูลค่าสูง แต่ต้องมีนวัตกรรม รวมทั้งการออกแบบซอฟท์แวร์ที่เป็นหัวใจของดาวเทียม ส่วนไมโครชิพที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ และแร่หายากควรนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะต้องใช้เงินลงทุนตั้งโรงงานมหาศาล และในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ผลิตได้

สำหรับเป้าหมายการสร้างสตาร์ทอัพอวกาศของ เอ็นไอเอ จะสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ไทยส่งดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ภายใน 7 ปี ซึ่งจะทำให้ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ทำได้ ส่งผลให้ไทยเข้าไปอยู่ในห่าวโซการผลิตในอุตสาหกรรมอวกาศโลกที่มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นการลงทุนของสหรัฐหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และมีการลงทุนในสตาร์ทอัพอวกาศปีละ 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกมหาศาล

“การที่ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ส่งดาวเทียมไปดวงจันทร์ได้ จะทำให้ไทยขึ้นไปสู่ประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมอวกาศและอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ตลาดมีมูลค่ามหาศาล”

สำหรับในระดับอาเซียน เทคโนโลยีด้านอวกาศของไทยก็อยู่ในระดับแนวหน้าติด 1 ใน 3 ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย ซึ่งสิงโปร์มีเทคโนโลยีในบางส่วนแต่ก็มีข้อจำกัดในหลายด้าน อินโดนีเซียมีข้อได้เปรียในเรื่องอุตสาหกรรมอากาศยานที่นานกว่าไทย แต่ก็เพิ่มเริ่มต้นในเทคโนโลยีอวกาศ 

ในขณะที่ไทยก็มีการพัฒนาด้านอวกาศมานานในระดับหนึ่ง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้เปรียบ เช่น ศูนย์วิจัยแสงซินโครตรอน และหอดูดาวที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่ยังมีภาคเอกชนเข้าไปใช้บริการอยู่น้อย หากส่งเสริมให้มีเอกชนในด้านอวกาศเพิ่มขึ้นก็จะพัฒนาไปได้เร็ว ซึ่งหากนโยบายอวกาศได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่ บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาร่วมสนับสนุน ก็จะทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนได้ไม่ยาก