คู่มือ 'โควิด-19' ติดหรือยัง รักษาอย่างไร หายแล้วยังไงต่อ

คู่มือ 'โควิด-19' ติดหรือยัง รักษาอย่างไร หายแล้วยังไงต่อ

สถานการณ์ที่ผู้ป่วย "โควิด-19" เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้เกิดคำถามและความกังวล ทั้งผู้ที่ยังไม่ติด และติดแล้ว รอเตียง รอการรักษา กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวม คู่มือแนะนำ ตั้งแต่เริ่มมีอาการ ตรวจ รักษา ยาที่ใช้และการปฏิบัติตัวหลังรักษาหายมาไว้ให้ในที่เดียว

ความแตกต่างระหว่างระลอกที่ 1-2 และ ระลอกที่ 3 ของการระบาดโควิด-19 พบว่า มีอาการเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่าถึงการติดเชื้อโควิด 19 ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการระบาดที่แพร่ได้เร็วขึ้นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่จากอังกฤษ การที่ชีวิตเข้าใกล้คำว่า "กลุ่มเสี่ยง" มากยิ่งขึ้น หลายคนเกิดคำถามว่าตนเอง “ติดหรือยัง อาการเป็นแบบไหน ติดแล้วต้องทำอย่างไร ไปอยู่ รพ.สนาม จะลำบากหรือไม่ ต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ต้องรักษาอย่างไร และหายแล้วทำอย่างไรต่อ” กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรวม “คู่มือ โควิด 19” เพื่อการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ดังนี้ 

  • "อาการโควิด" ระลอกใหม่

ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะแสดงอาการตั้งแต่ระดับความรุนแรงน้อยไปถึงระดับความรุนแรงมาก

อาการที่พบบ่อยที่สุด

  • มีไข้ (ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง)
  • ไอแห้ง
  • ไอมีเสมหะ
  • ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บคอ
  • ปวดหัว
  • จมูกไม่ได้กลิ่น
  • อ่อนเพลีย

อาการทางผิวหนัง

  • มีผื่นแดงลักษณะคล้ายตาข่ายหรือเส้นใยเล็กๆ
  • มีจุดเลือดออก
  • มีผื่นบวมแดงคล้ายโรคลมพิษ
  • บางรายมีลักษณะกลุ่มของตุ่มน้ำคล้ายโรคสุกใส
  • เกิดอาการฉับพลัน ร่วมกับอาการมีไข้ ไอ จาม และระบบทางเดินหายใจอื่นๆ

  • สายพันธุ์ระลอกใหม่ ส่งตรงจากอังกฤษ

สำหรับการระบาดระลอกใหม่ จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงพบว่า เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B.1.1.7(GR,G) ประเทศที่พบครั้งแรกในอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2563 โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษ อยู่บนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น ข้อมูลในห้องทดลองพบว่า สายพันธุ์นี้มีการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 40-70% นอกจากนี้ ปัจจุบันมีหลักฐานจากรพ.อังกฤษหลายแห่ง พบว่า สายพันธุ์นี้มีความรุนแรงขึ้น ทำให้การป่วยและเสียชีวิตมากกว่าเดิม มีความสามารถในการระบาดมากกว่าสายพันธุ์ปกติถึง 1.7 เท่า และมีปริมาณของเชื้อไวรัสโควิด-19 เยอะกว่ามาก

  • เช็คตัวเอง เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

วงที่ 1ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (high risk contact) หมายถึง ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 ที่เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  • ผู้ที่เรียน ผู้อาศัยร่วมห้องพัก หรือทำงานในห้องเดียวกัน
  • ผู้คลุกคลีกับผู้สัมผัสที่มีการพูดคุยกับผู้ติดเชื้อในระยะ 1 เมตร นานกว่า 5 นาที
  • ถูกไอ จาม รดจากผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า
  • ผู้ที่อยู่ในบริเวณที่ปิด ไม่มีการถ่ายเทอากาศ เช่น ในรถปรับอากาศ ในห้องปรับอากาศ ร่วมกับผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 และอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อไม่เกิน 1 เมตร นานกว่า 15 นาที โดยไม่มีการป้องกัน เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า

สิ่งที่ต้องทำ ต้องเข้ารับการกักกันโรค และตรวจหาเชื้อจากทางห้องปฏิบัติการ

วงที่ 2 ผู้สัมผัสกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หมายถึง

  • ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จัดเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้สัมผัสอีกครั้งหนึ่ง คนที่อยู่ใกล้ผู้สัมผัสจึงไม่มีความเสี่ยง

สิ่งที่ต้องทำ

  • สังเกตอาการตัวเอง 14 วัน
  • หลีกเลี่ยงที่ชุมชน
  • แยกรับประทานอาหาร (แยกสำรับ)
  • สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ
  • หากมีไข้หรืออาการของระบบทางเดินหายใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที เพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจ ติดตามอาการและวัดไข้ตามแนวทางผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง

วงที่ 3 ผู้ใกล้ชิดกับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ (สัมผัสกับวงที่ 2)

  • จัดเป็นผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น อยู่ในโรงเรียนร่วมกับผู้ติดเชื้อ แต่ไม่มีกิจกรรมหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

สิ่งที่ต้องทำ

  • ไม่ต้องกักตัว
  • สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ
  • ไม่ต้องตรวจหาเชื้อ

***** ทั้งนี้ ผู้เข้าข่ายวงที่ 2 และวงที่ 3 จัดว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงต่ำ

 

  • กลุ่มเสี่ยง “ตรวจโควิดฟรี” ที่ไหนบ้าง

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” แจ้งสิทธิแก่ “ประชาชนกลุ่มเสี่ยงทุกคน” สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชนทุกแห่งฟรี ! ข้อมูลเพิ่มเติม คลิก   

“กระทรวงแรงงาน โดย สำนักงานประกันสังคม” เพิ่มช่องทางการให้บริการตรวจโควิด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 ในระบบประกันสังคม ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดความแออัด และอำนวยความสะดวกก่อนเข้ารับการตรวจ ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ ค้นหา Google “แรงงานเราสู้ด้วยกัน” หรือ คลิก ที่นี่ 

นอกจากนี้ ยังมี “รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน” ซึ่งใช้งานคู่กับ “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” ใช้สำหรับการค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ สามารถเก็บตัวอย่าง และวิเคราะห์ผลการตรวจในพื้นที่ที่รวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์สูงสุด วิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (Real Time Polymerase Chain Reaction (PCR)) โดยใช้เวลาวิเคราะห์เพียง 3 ชั่วโมง และวิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อเครื่อง

  • รู้ว่า "ติดโควิดต้องทำอย่างไร"

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า เมื่อทราบผลว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรตั้งสติ และปฏิบัติดังนี้

1. เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน เอกสารยืนยันผลตรวจโควิด

2. โทร 1330, 1668, 1669 เพื่อแจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา แจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตนให้หน่วยงานที่รับเรื่อง

3. หรือ กรอกข้อมูลใน แอดไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต)

4. งดออกจากที่พักหรือเดินทางข้ามจังหวัด (ฝ่าฝืนมีโทษผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 34)

5. หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัวเพื่อลดไข้

6. สวมใส่แมสก์ตลอดเวลาและแยกของใช้ส่วนตัว

  • 11 ข้อปฏิบัติ ขณะรอรถมารับไป รพ.

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะ 11 วิธีดูแลตัวเองอยู่บ้าน เมื่อติดโควิด 19 ก่อนเข้า รพ. ในกรณีที่จำเป็นต้องดูแลตัวเองท้าน ในขณะที่รอการรับการรักษาที่ รพ. ได้แก่

1. กักตัวในห้องแยกจากผู้อื่น ไม่อยู่กับใคร ในห้องแอร์ หากจเป็นต้องอยู่ห้องกับใครให้เปิดหน้าต่างไว้ให้อากาศถ่ายเท

2. สวมหน้ากากอนามัย ตลอดเวลาที่ออกมานอกห้องหรือต้องเข้าใกล้ผู้อื่น

3. แยกของใช้ อุปกรณ์รับประทานอาหาร และแก้วน้ำ ไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

4. แยกขยะ แยกการใช้ห้องน้ำ (ถ้าแยกไม่ได้ ใช้เป็นคนสุดท้ายและล้างห้องน้ำหลังใช้ทุกครั้ง)

5. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือถูกมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยเฉพาะหลังขับถ่าย

6. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุด สะอาด ตามหลักโภชนาการ ทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง

7. ทำจิตใจให้สบาย ลดวิตกกังวล

8. สั่งสินค้า Delivery มาอย่าลืมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ

9. เมื่อใช้ลิฟต์ พกปากกา ไม้ลูกชิ้น เป็นที่กดลิฟต์ ไม่ยืนพิงลิฟต์หรือสัมผัสลิฟต์

10. หากมีอาการป่วย เกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสายด่วน 1669 , 1668 , หรือโหลดแอปฯ EMS 1669 เพื่อกดเรียกรถพยาบาลกรณีฉุกเฉิน

11. กรณีอยู่บ้านหรือคอนโด กรุณาแจ้งนิติบุคคล

  • เตรียมพร้อม เมื่อต้องไปอยู่ "รพ.สนาม"

สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อไปอยู่ รพ.สนาม มีข้อแนะนำในการเตรียมข้าวของเครื่องใช้ ดังนี้ 

1. เสื้อผ้า จำนวน 4-5 ชุด หรือพอดีกับจำนวนที่เข้าพัก 14 วัน

2. ของใช้ในกิจวัตรประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า แปรงสีฟัน

3. ของใช้จำเป็นอื่น ๆ โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิง

4. ยารักษาโรคประจำตัว

5. ข้อมูล ประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลเดิม(ถ้ามี)

6. โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ สำหรับติดต่อหอผู้ป่วยในการสื่อสารขณะรักษาตัว

7. สามารถนำกระติกน้ำร้อนมาเองได้

  • แนวทางการรักษาล่าสุด (อัพเดท 17 เมษายน 2564)

การรักษาโควิด 19 แบ่งกลุ่มตามอาการได้เป็น 4 กรณี ดังนี้

1. ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการ

  • แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และให้จำหน่ายจากโรงพยาบาลได้
  • หากมีอาการปรากฏขึ้นมาให้ตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ
  • ให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา

2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ

  • ให้ดูแลรักษาตามอาการ ส่วนมากหายได้เอง
  • แนะนำให้นอนโรงพยาบาล หรือในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 14 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้หรือไม่มีอาการอื่น ๆ ของโรคแล้วอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง พิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยได้
  • พิจารณาให้ฟาวิพิราเวีร์ (ตามดุลยพินิจของแพทย์)

3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อยซึ่งไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4

  • ปัจจัยเสี่ยงได้แก่ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ได้แก่อายุ >60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่ก าเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก.)
  • ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำและ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม.
  • แนะนำให้นอนโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • แนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์ ระยะเวลา 5 ถึง 10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิกตามความเหมาะสม หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
  • กรณีที่มีผู้ป่วยมีอาการและภาพถ่ายรังสีปอดที่แย่ลง คือ มี progression of infiltrates หรือค่า room air SpO2 ≤96% หรือพบว่ามี SpO2 ขณะออกแรงลดลงมากกว่า 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรก (exercise-induced hypoxia) อาจพิจารณาให้ คอร์ติโคสเตียรอยด์ ร่วมกับ ฟาวิพิราเวียร์

4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวมที่มี hypoxia (resting O2 saturation <96 %) หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 ≥3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง (exercise-induced hypoxemia) หรือภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates

  • แนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก
  • อาจพิจารณาให้ โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ 5-10 วัน ร่วมด้วย (ตามดุลยพินิจของแพทย์)
  • แนะนำให้ คอร์ติโคสเตียรอยด์

  • แนวทางดูแลผู้ป่วยและจัดการเตียง (ล่าสุด 24 เมษายน 2564)

1. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน นับจากวันแรกที่ตรวจพบเชื้อ และให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านต่ออีก 14 วัน

2. ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อย ให้เข้ารับการรับกษาในโรงพยาบาล เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ เมื่อครบกำหนดแล้วหากยังมีอาการ ให้อยู่รักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล หรือ สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ จนไม่มีอาการเป็นระยะเวลา 24-48 ชั่วโมง และให้กลับไปพักที่บ้านต่ออีก 14 วัน

ทั้งนี้ระหว่างพักฟื้นที่บ้าน ให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามตำแนะนำที่ได้รับก่อนกลับบ้านอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ให้โรงพยาบาลมีระบบติดตามอาการเพื่อ ให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยต่อผู้ป่วย รวมถึงผู้ใกล้ชิดเป็นระยะ ๆ ทุกวันจนครบกำหนด หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ผู้ป่วยสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่หรือโรงพยาบาลได้ตลอด 24 ชั่วโมง

  • "การรักษาโควิดในเด็ก" อายุ น้อยกว่า 15 ปี

ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ไม่มีอาการ

  • แนะนำให้ดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดบวม ไม่มีปัจจัยเสี่ยง

  • แนะนำให้ดูแลรักษาตามอาการ พิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อยไม่เข้าเกณฑ์ข้อ 4 ปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ ได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี และภาวะเสี่ยงอื่น ๆ เหมือนเกณฑ์ในผู้ใหญ่

  • แนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิกโดยแพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม

ผู้ป่วยยืนยันที่มีอาการปอดบวม หายใจเร็วกว่าอัตราการหายใจตามกำหนดอายุ (60 ครั้งต่อนาที ในเด็กอายุ <2 เดือน, 50 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 2-12 เดือน, 40 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ 1-5 ปี, 30 ครั้ง/นาที ในเด็กอายุ >5 ปี)

  • แนะนำให้ฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน (อาจพิจารณาให้ร่วมกับ โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน)
  • แนะนำให้ คอร์ติโคสเตียรอยด์

 

  • รักษาโควิด 19 ใช้ยาอะไรบ้าง (อัพเดท 17 เมษายน 2564)

ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) (200 mg/tab)

ผู้ใหญ่

  • วันที่ 1: 1800 mg (9 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง
  • วันต่อมา: 800 mg (4 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง
  • ถ้าน้ำหนักตัว >90 กิโลกรัม
  • วันที่ 1: 2,400 mg (12 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง
  • วันต่อมา: 1,000 mg (5 เม็ด) วันละ 2 ครั้ง

เด็ก

  • วันที่ 1: 60 mg/kg/day วันละ 2 ครั้ง
  • วันต่อมา: 20 mg/kg/day วันละ 2 ครั้ง

โลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (Lopinavir/ritonavir) (LPV/r)

ผู้ใหญ่

  • เม็ด 200/50 mg/tab, น้ำ80/20 mg/mL
  • 2 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง

เด็ก

  • อายุ 2 สัปดาห์-1 ปี300/75 mg/m2/dose วันละ 2 ครั้ง
  • อายุ 1-18 ปี 230/57.5 mg/m2/dose วันละ 2 ครั้ง

(ขนาดยาชนิดเม็ดตามน้ำหนักตัว)

  • 15-25 กิโลกรัม 200/50 mg วันละ 2 ครั้ง
  • 25-35 กิโลกรัม 300/75 mg วันละ 2 ครั้ง
  • 35 กิโลกรัมขึ้นไป 400/100 mg วันละ 2 ครั้ง

เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

ผู้ใหญ่

  • วันที่ 1: 200 mg IV
  • วันที่ 2-5: 100 mg IV วันละครั้ง

เด็ก

  • วันที่ 1: 5 mg/kg IV วันละครั้ง
  • วันต่อมา : 2.5 mg/kg IV วันละครั้ง

คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid)

ผู้ใหญ่

  • ให้ 7-10 วัน
  • เดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) 6 mg วันละครั้ง
  • หรือ ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) 160 mg ต่อวัน
  • หรือ เพรดนิโซโลน (Prednisolone) 40 mg ต่อวัน
  • หรือ เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) 32 mg ต่อวัน

เด็ก

  • ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

  • "ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด"

“ฟ้าทะลายโจร” เป็นอีกทางเลือกที่ได้รับการยอมรับและนำไปรักษาควบคู่กับแพทย์แผนปัจจุบัน ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางกรมกาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับ 9 โรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ศึกษาวิจัย โดยได้จ่ายยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย โควิด–19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย ร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน จำนวน 309 ราย พบว่า ผู้ป่วย 306 ราย อาการดีขึ้นชัดเจน จนสามารถออกจาก รพ. ได้ ส่วนอีก 3 ราย เป็นกลุ่มที่มีอาการแย่ลง มีภาวะปอดบวม คิดเป็นผู้ป่วยอาการแย่ลง 0.97% แต่ที่สุดก็รักษาหาย ไม่มีใครเสียชีวิต

ขณะที่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับฟ้าทะลายโจร เป็นกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเช่นกัน จำนวน 526 ราย มี 77 ราย ที่เกิดอาการแย่ลง มีภาวะปอดบวมคิดเป็น 13.64% ดังนั้น ฟ้าทะลายโจรมีแนวโน้มและโอกาสในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ระยะเบื้องต้น และยังไม่มีข้อมูลใดที่บ่งชี้ว่าไม่ได้ผล ในทางกลับกันข้อมูลในห้องปฏิบัติการ การศึกษาในระดับเซลล์ และในต่างประเทศ ล้วนสนับสนุนว่า ฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในการรักษาโควิด 19 และเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย

ในการศึกษาวิจัย ในผู้ป่วยโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ที่มีอาการคล้ายไข้หวัด ให้รับประทานฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน รับประทาน 3 เวลาก่อนอาหาร ต่อเนื่อง 5 วัน เพื่อลดความรุนแรงและอาการแทรกซ้อนของโรค

ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบฟ้าทะลายโจร 6 แสนแคปซูล สำหรับผู้ป่วย 15,000 ราย รวมถึง มหาวิทยาลัยรังสิต ยังได้มอบยาฟ้าทะลายโจรอีกกว่า 2 แสนเม็ดให้แก่ สธ. เพื่อใช้ในผู้ป่วยอาการไม่หนัก รพ.ทั่วประเทศ รวมถึง รพ.สนาม

  • สธ.เตรียมแผน “แยกตัวที่บ้าน”

กรมการแพทย์ ได้เตรียมแนวทางการพิจารณาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่เหมาะสมสำหรับการแยกตัวที่บ้าน (home isolation) กรณีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น เผื่อในอนาคต  คือ “การแยกตัวที่บ้าน” (home isolation) แต่ย้ำว่ายังไม่ใช้มาตรการดังกล่าว

เกณฑ์การพิจารณาผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพื่อการแยกตัว

1. เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)

2. มีอายุไม่เกิน 40 ปี

3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

4. มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน

5. ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย 2 25 กก./ม./ หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)

6. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

การดำเนินการของโรงพยาบาล

1. ประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อแยกตัวในสถานที่พักของตนเอง

2. ลงทะเบียนผู้ติดเชื้อที่เข้าเกณฑ์การแยกตัวที่บ้าน (home isolation) ในระบบของโรงพยาบาล

3. ควรถ่ายภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray)หากพบความผิดปรกติ แนะนำให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

4. แนะนำการปฏิบัติตัว และจัดเตรียมปรอทวัดไข้ และ pulse oximeter ให้กับผู้ป่วยติดเชื้อ

5. ติดตาม ประเมินอาการผู้ติดเชื้อระหว่างการแยกตัวที่บ้าน ผ่านระบบสื่อสารต่างๆ อาทิ โทรศัพท์ติดตามอาการ สอบถามอาการไข้ ค่า oxygen saturation วันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) เป็นระยะเวลา 14 วัน

6. จัดช่องทางติดต่อในกรณีผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มขึ้น หรือภาวะฉุกเฉิน อาทิ มีไข้ลอย หอบเหนื่อย หายใจลำบาก

7. จัดระบบรับ -ส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในกรณีผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องย้ายเข้ารับการรักษาต่อในโรงพยาบาล

8. ให้ความมั่นใจในมาตรฐานการดูแลรักษาของที่มแพทย์และพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อ

  • รักษาหายแล้ว ทำอย่างไร

1. ไม่จำเป็นต้องกักตัวหรือแยกตัวจากผู้อื่นเพราะหายจากโรคแล้ว (ซึ่งต่างจากกรณีเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูงหรือเพิ่งจะได้รับการวินิจฉัย บุคคลเหล่านี้ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ จึงต้องกักตัวหรือแยกตัวจากผู้อื่น)

2. การดูแลสุขอนามัย ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น

3. ล้างมือด้วยสบู่และนำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระหรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์

4. ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น

5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุก สะอาด และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ

6. หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้ติดต่อสถานพยาบาล หากต้องเดินทางมาสถานพยาบาล แนะนำให้สวมหน้ากากระหว่างเดินทางตลอดเวลา

หากมีข้อสงสัยใด ๆ สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านไปรับการรักษา หรือสายด่วนโทร. 1422 หรือ 1668