“ธนาธร”โชว์โมเดลประคองธุรกิจพ้นวิกฤต-หวังคนไทยไม่ตกงาน

“ธนาธร”โชว์โมเดลประคองธุรกิจพ้นวิกฤต-หวังคนไทยไม่ตกงาน

“ธนาธร”โชว์โมเดลประคองธุรกิจพ้นวิกฤต-หวังคนไทยไม่ตกงาน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ไลฟ์เฟซบุ๊กเปิดตัวรายการ “คิดไปข้างหน้ากับธนาธร” ในหัวข้อ “สร้างพันธมิตร ประคองธุรกิจพ้นวิกฤต” แสดงวิสัยทัศน์แนะนำผู้ประกอบการในยุควิกฤตโควิด หวังนำไปสู่การประคองภาคธุรกิจเพื่อรักษาการจ้างงานให้ลูกจ้างทั่วประเทศ

โดยระบุว่า ในเวลานี้วิกฤตโควิดกำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่ลดลง กระแสเงินสดขององค์กรที่ลดลง ซึ่งหลายกรณีได้นำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก ภายใต้สภาวะเช่นนี้ หนึ่งในหนทางที่ภาคธุรกิจจะประคองตัวต่อไปได้ ตนขอเสนอความคิดเรื่องการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่ออุดรูรั่วที่เกิดจากวิกฤตนี้

นายธนาธร กล่าวว่า หากมีโลกอยู่ใบหนึ่งที่ไม่รู้จักแท็กซี่ มีเพียงม้ากับรถลาก ถ้าจะเริ่มต้นสร้างแท็กซี่ขึ้นมา จะมีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างสองบริษัท คือฟาร์มม้า กับบริษัททำรถลาก ได้อย่างไรบ้างเพื่อให้ทั้งสองบริษัทเติบโตร่ำรวยไปด้วยกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสององค์กรธุรกิจ สามารถมีได้ตั้งแต่การซื้อ-ขาย และให้เช่าเป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุด ทั้งเจ้าของม้าซื้อรถลากมาทำแท็กซี่ หรือเจ้าของรถลากซื้อม้ามาทำแท็กซี่ แต่การซื้อ-ขายและให้เช่า เป็นการทำธุรกรรมที่ไม่ได้มัดสององค์กรให้เหนียวแน่นเป็นพันธมิตรกัน

“สุดท้ายผู้ที่ทำแท็กซี่ได้สำเร็จจะนำปัจจัยกำลังซื้อจากลูกค้าใหม่ มากดราคาซื้อ-ขายกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ และทุกคนต่างก็อยากอยู่ในชั้นบนสุดของห่วงโซ่อุปทานกันทั้งนั้น จากปัญหาพ้นฐานนี้ องค์กรธุรกิจสององค์กรสามารถกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การทำให้การซื้อ-ขายหรือให้เช่าเป็นในลักษณะเฉพาะ เช่น ต้องซื้อ-ขายจากกันและกันเท่านั้น ห้ามไปซื้อ-ขายกับคนอื่น ซึ่งสามารถนำไปสู่รายได้คงที่ และอาจจะนำไปสู่การแบ่งปันกำไรได้”

ในกรณีที่บริษัทที่ต้องการไปสร้างพันธมิตรกับบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่เราไม่มี อีกรูปแบบหนึ่งที่ทำกันอย่างแพร่หลายเรียกว่าการทำการถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น กรณีของวัคซีนโควิด มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด มีชื่อเสียงเก่าแก่ ได้รับการเคารพจากสังคม และมีสูตรยาที่จะสามารถผลิตเป็นวัคซีนโควิดได้ ส่วนแอตตรา เซเนกา เป็นบริษัทยาใหญ่ระดับโลก ไม่มีสูตรแต่มีโรงงานผลิตและเครือข่ายการจำหน่ายระดับโลก เขาจึงจับมือกัน นี่คือสิ่งที่เรียกว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยี

อีกรูปแบบหนึ่งที่มีความซับซ้อนมากขึ้น คือการทำบริษัทร่วมทุน หรือการที่องค์กรธุรกิจต่างคนต่างลงขันกันสร้างบริษัทใหม่ขึ้นมา แบ่งกันถือหุ้น ทำให้การจัดสรรกำไรในตัวสินค้าเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่อีกฝ่ายมากดราคาซื้อ ซึ่งอาจจะทำในลักษณะการถือหุ้นไขว้กันได้ เพื่อให้เชื่อใจกันมากขึ้น แนบสนิทกันมากขึ้น ให้ผลประโยชน์ถูกแบ่งสรรกันอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ

และอีกรูปแบบหนึ่งที่ไปไกลกว่านั้น ก็คือการควบรวมกิจการ คือการที่องค์กรธุรกิจทั้งสองต่างยุบเอาบริษัทของตัวเองลงมารวมกันเป็นบริษัทใหม่บริษัทเดียว ต่างฝ่ายต่างเข้าไปถือหุ้นอยู่ในบริษัทใหม่ ผลประโยชน์ทุกอย่างจะถูกแบ่งตามสัดส่วนผู้ถือหุ้น

“ถ้าเราลองดูรูปแบบทั้งหมดที่มี ผมไล่มาให้ดูตั้งแต่การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีการผูกมัดกันน้อยไปจนถึงการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีการผูกมัดกันเยอะ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือรูปแบบการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่มีอยู่ จะใช้กับกระบวนการไหน จะใช้กับธุรกิจแบบไหน ต้องอยู่ที่ผู้บริการตัดสินใจเอาเอง”