'พาณิชย์' เผยส่งออก มี.ค.พุ่ง 8.47% มูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์

'พาณิชย์' เผยส่งออก มี.ค.พุ่ง 8.47% มูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์

“พาณิชย์” เผยตัวเลขส่งออกมีนาคมพุ่ง 8.47% มูลค่าแตะ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมไตรมาสแรกขยายตัว 2.27% มั่นใจทั้งปีขยายตัว 4%

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานภาวะการค้าการระหว่างประเทศเดือน มี.ค.2564 พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 24,222 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับเดือนที่แล้วขยายตัว 8.47% มูลค่าการนำเข้า 23,511 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14.12% ดุลการค้า 710 ล้านดอลลาร์

ส่วนไตรมาส 1 ปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 64,148 ล้านดอลลาร์ มูลค่าการนำเข้า 63,632 ล้านดอลลาร์ ได้ดุลการค้า 515 ล้านบาท

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ถือเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ และเป็นมูลค่าทั่แตะเหนือระดับ2หมื่นดอลลาร์ เป็นเดือนที่ 2 โดยการส่งออกไทยที่ขยายตัวได้ดีมาจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเนื้องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและการเร่งกระจายวัคซีนทั่วโลก ทำให้ตลาดส่งออกสำคัญของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นทั้งตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน มี.ค.2564 ขณะนี้ตัวเลขทางการออกมาแล้วอย่างที่ได้คาดการณ์ไว้ นั่นคือการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม 2564 สามารถทำตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในรูปเงินบาทถึง 750,000 ล้านบาท ขยายตัวถึง 8.47% และถ้าไม่นับน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัยจะสูงถึง 12%

ทั้งนี้ สะท้อนว่าการส่งออกของไทยยังเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แม้ในยามที่เราต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรวมทั้งยังมีปัญหาด้านการท่องเที่ยวก็ตาม

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้นอกจากเกิดจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวแล้ว ก็ยังเกิดจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในนาม กรอ.พาณิชย์ เพราะเมื่อมีปัญหาใดขึ้น และเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกก็ตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาการส่งออกตามด่านชายแดน และปัญหาความไม่เข้าใจอื่นๆของคู่ค้า

รวมทั้งการเร่งปรับรูปแบบการเจรจาการค้าซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มีนวัตกรรมทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ในยุคนิว นอร์มอลขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการเปิดการเจรจาการค้ากับคู่ค้าต่างประเทศ ในรูปแบบไฮบริด เวอร์ชวล เทรดเอ็กซ์ซิบิชั่น หรือรูปแบบการจับคู่เจรจาธุรกิจก็ตาม

ทั้งนี้ ทำให้เป้าหมายการส่งออกปี2564 นี้ที่มีการประเมินร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนว่าจะขยายตัว 4% นั้นมีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง