สธ.เล็งประเมินสุขภาพจิตก่อนฉีด'วัคซีนโควิด19'

สธ.เล็งประเมินสุขภาพจิตก่อนฉีด'วัคซีนโควิด19'

สธ.เล็งประเมินสุขภาพจิตก่อนฉีด "วัคซีนโควิด19" หลังองค์การอนามัยโลกบัญญัติศัพท์ใหม่ "ปฏิกิริยาความเครียดกับการฉีดวัคซีน" อาจจากเหตุฝังใจวัยเด็ก

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ การระบาดระลอกใหม่เข้าสู่ช่วงสูงสุดของระฆัง คาดว่า 1-2 สัปดาห์ก็น่าจะค่อยๆลดลงและเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น ไม่ขึ้นไปสูงเหมือนช่วงแรกๆที่กังวล ทั้งนี้ เพราะความร่วมมือของคนไทยที่ช่วยกัน และร่สมมือกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังพบการติดเชื้อจากการไปเที่ยวผับบาร์ ปาร์ตี้ ยังมีเห็นอยู่ ทั้งที่ ศบค. สั่งปิดสถานบันเทิง ห้ามจัดปาร์ตี้ ก็มีคนลอบจัดงานก็ติดเชื้อจริงๆ เกิดระบาดต้องไปกักตัวกัน คนไม่ร่วมมือก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

เล็งประเมินสุขภาพจิตก่อนฉีดวัคซีน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO) ได้มีการบัญญัติศัพท์ใหม่เมื่อไม่นาน คือ Immunization Stress Related Response หรือ ปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับความเครียดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ซึ่งการฉีดวัคซีนจะฝังใจคน โดยเฉพาะคนไทยและอีกหลายประเทศ ซึ่งเมื่อฉีดตอนเด็กจะกลัวมากจนฝังใจ เมื่อโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่การฝังใจนั้นยังอยู่ใต้จิตใต้สำนึกพอรู้ว่าจะไปฉีดวัคซีนบางคนมือเท้าเย็น เป็นต้น เป็นความเครียดอย่างหนึ่งของคนที่จะฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเมื่อต้องฉีดให้กับคนหมู่มากก็จะพบเหตุการณ์เช่นนี้ได้หลายเหตุการณ์ องค์การอนามัยโลกจึงได้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมา

กรณีหลังฉีดวัคซีนไปแล้วหลายแสนคนมี 6 รายที่พบมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมองที่จ.ระยองซึ่งมีลักษณะ คือ 1.ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุไม่มาก 2.เป็นกับวัคซีนหลายล็อตก็คือหลายรุ่นการผลิต ก็แปลว่าไม่ได้เกิดจากกระบวนการผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น 3.เกิดเร็วหลังฉีดวัคซีนบางคนเกิดแค่ 5 นาทีก็เกิดอาการแล้วอย่างนี้เป็นต้น ก็แปลว่าไม่น่าจะเกิดจากการติดเชื้อหรืออะไรเพราะว่าถ้าเกิดจากเชื้อโรคมันจะต้องมีเวลาที่ให้เชื้อโรคฟักตัว 4.มีอาการระบบประสาทชัดเจน 5.อาการหายเองกลับมาเป็นปกติได้ บางรายได้รับการรักษาบางรายไม่ต้องรักษาก็กลับมาหายเองได้และ6.ภาพถ่ายเอกซเรย์ MRI มักไม่พบความผิดปกติกายภาพ โดยทุกรายหายเป็นปกติไใมีรอยโรคใดปรากฎ นี่เป็นข้อสังเกตุจากที่มีการสืบสวนแล้ว

"ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุขในสถานการณ์ฉุกเฉินโรคโควิด19ของสธ.ที่มีปลัดสธ.เป็นประธานจึงสรุปว่า ฉีดวัคซีนต่อไปได้ แต่ให้เคร่งครัดมาตรฐานการฉีด ให้คำแนะนำสังเกตอาการดังกล่าวและดูแลรักษาตามมาตรฐาน นอกจากนี้ อาจให้นำการประเมินสุขภาพจิตมาประกอบการพิจารณาการฉีดวัคซีนด้วย"นพ.โอภาสกล่าว

161909394557

ลำปางไม่ได้ระงับการฉีด
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรณีมีกระแสข่าวว่า รพ.ลำปาง สั่งระงับการฉีดวัคซีนโควิดของซิโนแวคชั่วคราว หลังพบบุคลากรสาธารณสุขมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง ว่า จากการตรวจสอบไปยังจ.ลำปาง ได้ทราบข้อเท็จจริง ว่า จากที่ระบุว่า มีอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง 40 ราย ซึ่งไม่เป็นความจริง มีเพียง 1 ราย ที่เหลือมีอาการเล็กน้อยชาปลายมือปลายเท้า อ่อนเพลีย ที่บอกว่ามี 40 รายคล้ายอัมพฤกษ์ไม่เป็นความจริง และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยรพ.ต่างๆ ก็ยังฉีดวัคซีนต่อไป ที่บอกว่ามีหยุดชั่วคราว คือรอการตรวจสอบข้อมูล แต่เมื่อส่วนกลางแจ้งข้อมูลว่า สามารถฉีดวัคซีนได้ก็ดำเนินการตามเดิม ขณะที่สสจ.ลำปางก็แจ้งว่า ไม่พบความผิดปกติ แต่ก็มีการติดตาม และเฝ้าระวังตลอด

3 แนวทางจัดหาวัคซีนเพิ่ม
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด19 เมื่อวันที่ 21 เม.ย. มีการฉีดเพิ่ม 152,230 โดส สะสม 864,840 โดส แยกเป็นเข็มที่ 746,617 ราย และครบ 2 เข็ม 118,223 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ฉีดแล้ว 348,458 ราย
สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทยอีก 35 ล้านโดส เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมามีการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของประเทศไทย โดยมีศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งมีภาครัฐ เอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมฯ เข้าร่วมประชุม ซึ่งสรุปว่าต้องการฉีดวัคซีนโควิด19ให้ประชาชนที่อยู่ในแผ่นดินไทยมากขึ้นจากเดิมตั้งเป้า 70 ล้านโดส ก็จะเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนแล้วประมาณ 65 ล้านโดส ดังนั้น จึงต้องจัดหามาอีก 35 ล้านโดส
มี 3 แนวทาง ดังนี้ 1.ให้ทางภาครัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม(อภ.)ไปเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งมีการเจรจาอยู่หลายเจ้า หลักในการพิจารณาคือจะได้วัคซีนเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ และต้องมีแผนการจัดส่งที่ชัดเจน รวมถึงการพิจารณาความครอบคลุมต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ด้วย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่ได้ซื้อมาจำนวนมากทีเดียว เพราะเชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

2.ทางภาคเอกชน โดยหอการค้าบอกว่า ยินดีบริจาคเงินให้รัฐบาลไปซื้อ และฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย คือ คนในโรงงานอีก 10 ล้านโดส และ3.รพ.เอกชน จะขอจัดซื้อเอง โดยจะฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายของรพ.เอกชนเอง เช่น คนที่มีโรคประจำตัวไปรักษาที่รพ.เอกชน ก็จะเอาวัคซีนนี้ไปฉีด เป็นต้น แต่กรณีที่รพ.เอกชนไปเจรจาซื้อเองนั้น ต้องชี้แจงก่อนว่า ปัจจุบันวัคซีนไม่ใช่สินค้าที่มีในท้องตลาด ดังนั้นต้องเจรจากับบริษัทผลิต ซึ่งจะขายผ่านหน่วยงานรัฐ ดังนั้นหากภาคเอกชนไปเจรจามาได้ แล้วองค์การเภสัชกรรมก็จะเป็นผู้รับรองการซื้อให้ ยกเว้นว่า เอกชนจะมาขึ้นทะเบียนและนำเข้าเอง ก็ไม่ต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครมาขึ้นทะเบียน ส่วนเรื่องราคาที่จะคิดกับประชาชนที่มารับบริการฉีดที่รพ.เอกชนนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเช่นกันว่าในยามนี้ไม่ควรจะเก็บจากประชาชนแพง

มอบพาณิชย์คุมเพดานราคาวัคซีน
ดังนั้น จึงมอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลเรื่องการกำหนดราคาวัคซีน ซึ่งตนไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะกำหนดเท่าไหร่ หรือต้องมีเพดานราคาเท่าไหร่


"ทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ 1. ต้องมีระบบการดูแลเรื่องความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด 2.ต้องมีระบบรายงานที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การออกหนังสือการฉีดวัคซีน และ3.ต้องมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน ซึ่งภาคเอกชนก็เห็นพ้องต้องกัน"นพ.โอภาสกล่าว