พาณิชย์เบรกขึ้นราคาปุ๋ย หลังตรวจพบ 'ปุ๋ย' ในตลาดปรับราคาสูงขึ้น

พาณิชย์เบรกขึ้นราคาปุ๋ย หลังตรวจพบ 'ปุ๋ย' ในตลาดปรับราคาสูงขึ้น

พาณิชย์เบรกขึ้นราคาปุ๋ย หลังวัตถุดิบแม่ "ปุ๋ย" ราคาพุ่งต่อเนื่อง พร้อมเข้มงวดการปิดป้าย ตรวจสอบการจำหน่าย เผยเตรียมชงมาตรการช่วยเกษตรกรเพิ่มเติม ทั้งสนับสนุนสินเชื่อซื้อปุ๋ยเงินสด จัดหาปุ๋ยราคาถูก

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.64  นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประชุมร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาปุ๋ยมีราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยมาตรการเบื้องต้น ได้ขอความร่วมมือให้ผู้จำหน่าย "ปุ๋ย" ตรึงราคาออกไประยะหนึ่ง และเข้มงวดการปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายและตรวจสอบสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจุบัน ราคาวัตถุดิบ แม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีการปรับสูงขึ้น เนื่องจากอินเดียได้มีการเปิดประมูลซื้อแม่ปุ๋ยล็อตใหญ่ และจีน ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าหลักของไทยได้ชะลอการส่งออกแม่ปุ๋ย เพื่อเตรียมสำหรับการเพาะปลูกในรอบใหม่ ประกอบกับค่าระวางเรือขนส่งมีการปรับสูงขึ้น

ทั้งนี้ ราคาแม่ปุ๋ย ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม ในปี 2563 ที่ 42.21 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็น 64.55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้ราคาวัตถุดิบ แม่ปุ๋ยยูเรีย แม่ปุ๋ยฟอสเฟต และแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ปรับราคาสูงขึ้นจากเดิมในปี 2563 ที่ 262.17 , 321.00 และ 255.67 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปรับขึ้นเป็นราคาในเดือนมี.ค.2564 ที่ 384 , 557 และ 288 เหรียญสหรัฐต่อตันตามลำดับ

สำหรับมาตรการอื่นๆ จะสนับสนุนให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเงินสดแทนการซื้อเชื่อที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งมั่นใจว่าจะทำให้ "ราคาปุ๋ย" ที่ซื้อสดถูกกว่าราคาที่จะซื้อเงินเชื่อ และจัดหาปุ๋ยราคาถูกให้เกษตรกรรายย่อย โดยให้กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ หรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพผลิตปุ๋ยผสมในรูปปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับปุ๋ยเคมี โดยรัฐให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าบริหารจัดการ ค่าขนส่ง ค่าบรรจุ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือในรายละเอียดและความพร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนสรุปนำเสนอกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณานำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป

“หากมาตรการดังกล่าว ไม่สามารถตรึงราคาได้ ก็จะเพิ่มความเข้มข้นใช้มาตรการกฎหมาย โดยทบทวนโครงสร้างต้นทุน และให้ผู้ประกอบการแจ้งราคาจำหน่าย เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายวัฒนศักย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดการปรับตัวของราคาปุ๋ย ได้ลดความรุนแรงลง เนื่องจากปัจจุบันอินเดียได้มีการรับมอบปุ๋ยจากการประมูลเรียบร้อยแล้ว และจีนมีการสต็อกไว้เพียงพอแล้ว จึงขอให้เกษตรกรซื้อปุ๋ยเท่าที่จำเป็นก่อน ซึ่งกรมฯ จะได้มีการติดตามราคาจำหน่ายอย่างใกล้ชิด ให้สอดคล้องกับต้นทุนการนำเข้าแม่ปุ๋ย และหากพบว่ามีการกักตุนหรือจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร จะมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่ไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายจะมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท สามารถแจ้งหรือร้องเรียนสายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด