“อาคม”ชี้คนไทยหนี้พุ่ง-เสี่ยงเกษียณอย่างทุกข์

“อาคม”ชี้คนไทยหนี้พุ่ง-เสี่ยงเกษียณอย่างทุกข์

“อาคม”ชี้โควิด-19ทำหนี้ครัวเรือนพุ่ง 86.6% สะท้อนสถานการณ์เงินคนไทยเมื่อเผชิญวิกฤต โดยมีพฤติกรรมการใช้ก่อนออมสูงเกือบ 40%ของประชากร และมีความรู้ด้านการเงินต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเทียบประเทศอื่น แนะเร่งสร้างอีโคซิสเต็มทั้งตลาดเงินและตลาดทุน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวปาฐกถาในหัวข้อฟื้นฟูการเงินภาคครัวเรือนไทย ภารกิจร่วมใจสร้างภูมิคุ้มกันการเงิน​จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ด้านการเงินโดยรวมของคนไทยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 4 ประเด็น ประเด็นแรก หนี้ครัวเรือนไทย โดยในไตรมาสที่สามในปี 2562 มีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ 78.9% ถือว่า อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สัดส่วนจึงเพิ่มขึ้นเป็น 86.6%ในไตรมาสที่สามของปี 2563 สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของสถานะการเงินของคนไทยเมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤต

ประเด็นที่สอง ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2566 สัดส่วนผู้สูงอายุ หรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะคิดเป็น 20% ของประชากร ทั้งนี้ จากสถิติผู้สูงอายุของไทย ณ 31 ธ.ค.2563 พบว่า มีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปรวม 11.6 ล้านคน หรือ 17.6% ของประชากรทั้งหมด การดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม ควรมุ่งให้คนไทยเตรียมความพร้อมสำหรับผู้สูงวัย เช่น มีการเก็บออมเงินในวัยทำงานเพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณ

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุของไทยในปี 2560 พบว่า ในช่วงหลังเกษียณ ผู้สูงอายุประมาณ 34.7% ยังต้องพึ่งพารายได้ของบุตรหลาน อีกประมาณ 31% ยังคงต้องทำงานเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง โดยมีเพียง 2.3% เท่านั้นที่สามารถพึ่งตนเองได้โดยมีรายได้จากเงินออม สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจมีความเสี่ยงภาวะเกษียณทุกข์ได้ในอนาคต

ประเด็นที่สาม ผลการสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทย เมื่อไตรมาสสามปี 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ไม่มีเงินออมและครัวเรือนที่มีการออมเงินมีประมาณ 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงวิธีการออมพบว่า คนไทย 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม คนไทยอีก 38.5% มีการออมไม่แน่นอน ที่เหลือ 22.6% คือ คนไทยที่มีพฤติกรรมออมก่อนใช้

ประเด็นที่สี่ เมื่อประกอบกับผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสำรวจตามแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดี ในองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ ความรู้ด้านการเงิน พฤติกรรมการเงิน และทัศนคติทางการเงิน พบว่า คะแนนด้านความรู้ด้านการเงินของคนไทยต่ำมากกว่าด้านอื่น และ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจ

ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ส่งผลสะท้อนต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งในเชิงโครงสร้างและปัจเจกบุคคล ซึ่งการแก้ไขต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ เห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ปี 2560-2564 ได้วางแนวทางโดยมียุทธศาสตร์ คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้วยการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชม และ การสร้างความเข้มแข็งการเงินฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ชุมชุนสามารถพึ่งพาตนเองได้

ส่วนแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนในระยะต่อจากนี้ไป จะต้องให้ความสำคัญใน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาดังกล่าว หรือที่เรียกว่า อีโคซิสเต็มของตลาดเงินและตลาดทุน โดยให้ความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินฟินเทค การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างปลอดภัย และการกำกับดูแลให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความมั่นคงและเสถียรภาพ

2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะที่จำเป็นต่างๆ ให้เป็นพื้นฐานต่อยอดเรียนรู้และการสร้างโอกาส เพื่อให้สามารถดูแลและรับผิดชอบตนเองได้ หนี่งในทักษะความรู้ดังกล่าว คือ การเพิ่มพูนความรู้ทางการเงินการออมเพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีทักษะที่เพียงพอในการจัดการการเงินส่วนบุคคล

3.การเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับตัวของประชาชนในเกือบทุกด้าน ในด้านหนึ่ง ต้องปรับตัวจากผลกระทบจากการใช้ชีวิต การทำงานและเศรษฐกิจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ต้องเกิดการตระหนักรู้ของการเตรียมความพร้อมและการบริหารความเสี่ยงในชีวิตจากเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ซึ่งก็คือ การวางแผนที่ดีและข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ โดยการเรียนรู้ฝึกฝนให้เกิดทักษะในการจัดการการเงินให้เกิดความพร้อมรับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่เกิดขึ้นได้

4.การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนะคติและพฤติกรรมเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออมด้วย เพื่อให้เกิดผลจริงสามารถตอบโจทย์ในการสร้างศักยภาพของคนไทยให้สามารถดูแลตนเองอย่างยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจ ลดปัญหาการเงินในครัวเรือนลงได้ มีวิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางการเงินและมีความรู้เพียงพอที่จะต่อยอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเงินและผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งประชาชนควรจะได้รับความเตรียมความพร้อมด้านความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ทันต่อโลกการเงินและการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

5.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายระดับทั้งภาครัฐและเอกชนในด้านการให้ความรู้ด้านการเงิน ดังนั้น การที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในด้านนี้มาเกือบ 2 ทศวรรษ ได้ริเริ่มร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายในทิศทางเดียวกันสามารถใช้หรือแบ่งปันเนื้อหาองค์ความรู้หรือเครื่องมือในการให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่ตลาดหลักทรัพย์ได้สั่งสมมาเป็นประโยชน์ได้ในวงกว้าง เกิดการประสานงานในการแลกเปลี่ยนเนื้อหา ขยายวงการเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อให้เกิดผลที่คาดหวังกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละหน่วยงานที่ร่วมมือ จะช่วยให้เกิดการร่วมมือในระดับต่อไป ที่จะช่วยยกระดับความรู้การจัดการการเงินของคนไทยได้มากขึ้นตามวัตถุประสงค์

โครงการแฮปปี้มันนี่สุขเงินสร้างได้พลังความร่วมมือเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทยจึงเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม เพราะการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชน รวมทั้งต้องเร่งร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดผลในวงกว้างและรวดเร็วได้ การร่วมมือดังกล่าวเป็นจุดเริ่มผลักดันให้ภารกิจการส่งต่อความรู้และพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาตลาดทุนที่กระทรวงการคลังสนับสนุน