สรุป6รายรพ.ระยอง ไม่ใช่'อัมพฤกษ์'หลังฉีด'วัคซีนโควิด'

สรุป6รายรพ.ระยอง ไม่ใช่'อัมพฤกษ์'หลังฉีด'วัคซีนโควิด'

คกก.ผู้เชี่ยวชาญสรุป6รายรพ.ระยอง ไม่ใช่อัมพฤกษ์ เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท เกิดชั่วคราว ทุกรายหายปกติใน1-3วัน สแกนสมองไม่พบสิ่งผิดปกติ น่าจะเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ล็อตเดียวกันฉีดทั่วประเทศกว่า 3 แสนโดส ไม่พบเหตุเดียวกัน ไฟเขียวฉีดต่อได้

เวลา 15.00 น. วันที่ 21 เม.ย. 2564  ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโรคโควิด 19 ในประเทศมและประเด็นความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด19 อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจพบได้หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยนพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนโควิดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 5 รายและเจ้าหน้าที่รพ. 1 ราย รวม 6 ราย ที่จ.ระยองนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 6 ราย โดยได้รับวัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัทซิโนแวค เป็นล็อตเดียวกัน ทั้งหมดมีอาการภายหลังรับวัคซีนประมาณ 5-30 นาที เหตุทั้งหมดเกิดวันที่ 5 เม.ย. 1 ราย วันที่ 6 เม.ย. 1 ราย วันที่ 8 เม.ย. 2 ราย และวันที่ 9 เม.ย. จำนวน 2 ราย อาการที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับโรคทางสมอง พบอาการชาครึ่งซีก บางรายอ่อนแรงแขนขา มี 1 รายมีอาการชาแต่ไม่อ่อนแรง โดยมี 1 รายมีโรคประจำตัว คือ มะเร็ง ส่วนอีก 1รายมีไขมันในเลือดสูง น้ำหนักเกิน และมีประวัติกินยาคุมกำเนิด 4 ราย

"การฉีดวัคซีนซิโนแวคฉีดไปกว่า 6 แสนราย โดยได้เฝ้าระวังติดตามอาการทุกราย ทั้งอาการน้อย อาการปานกลาง และอาการรุนแรง ซึ่งหากอาการผิดปกติรุนแรง ทุกรายจะได้รับการสอบสวนและนำเข้าสู่คณะกรรมการฯเพื่อสอบสวน วินิจฉัยพิจารณาต่อไป” นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

อาการชั่วคราวหายปกติ1-3 วัน
ศ.พญ. กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน กล่าวว่า ทั้ง 6 รายมีอาการทางระบบประสาทมากน้อยแตกต่างกัน เป็นอาการชั่วคราว หายภายใน 1-3 วัน บางรายอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เพราะจากการสืบสวนโรค ทั้ง MRI สแกนก็พบว่าปกติ
เพราะฉะนั้นจึงบอกได้แค่ว่า กลุ่มอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง เกิดชั่วคราว กรณีที่เกิดขึ้นนี้ส่วนใหญ่เกิดในสตรีที่อายุไม่มาก และไม่มีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน ส่วนใหญ่อาการจะปนๆกัน ทั้งง่วง ชา อ่อนแรง และไม่ชัดเจนในบางราย โดยรวม เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท บางรายคล้ายหลอดเลือดสมอง

น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน
"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพราะเกิดภายใน 30 นาทีหลังการฉีดเป็นส่วนใหญ่ มีบางรายเกิดช้า ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้จำเป็นต้องเฝ้าติดตามต่อไป"ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว

วัคซีนใช้ต่อไปได้
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า กองชีววัตถุได้ตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนในล็อตดังกล่าวก็ไม่พบความผิดปกติ ซึ่งวัคซีนล็อตนี้ไม่ได้ใช้แค่จังหวัดเดียว แต่ใช้ทั่วประเทศ แจกไปแล้วประมาณ 5 แสนโดส มีผู้รับไปแล้วมากกว่า 3 แสนราย ยังไม่เจอปัญหาเหมือนกันนี้ในพื้นที่อื่น แต่ก็ต้องติดตามต่อไป อย่างไรก็ตาม อาการของทุกคนเกิดขึ้นชั่วคราว และกลับมาเป็นปกติ คณะกรรมการลงความเห็นว่า สามารถใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เพราะประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่า อาการข้างเคียงเกิดขึ้นชั่วคราว ส่วนอัตราการเกิดก็ไม่ชัดเจน เพราะฉีดไปหลายแสนโดสแล้ว แต่เจอเพียง 1 กลุ่มนี้ ยังไม่เจอกลุ่มอื่น และจากการใช้วัคซีนนี้ในประเทศอื่นๆ ก็ยังไม่มีรายงานลักษณะนี้ และอาการที่เกิดขึ้นที่จ.ระยองอยู่เพียงชั่วคราว หายปกติ ไม่ส่งผลต่อความพิการหรือผิดปกติในระยะยาว จึงแนะนำยังต้องรับวัคซีนต่อไป แต่ตามระบบการรายงานผลข้างเคียงหลังการรับวัคซีน ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะต้องรายงานไปยังผู้ผลิตเพื่อเป็นข้อมูล ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการรายงานที่ต่างกันไป วัคซีนซิโนแวคที่ฉีดแล้วมีอาการเช่นนี้ก็อาจพบในประเทศอื่นได้เช่นกัน อย่างเช่นข้อมูลในวารสารทางการแพทย์ ที่มีรายงานอาการชักกระตุกหลังรับวัคซีน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากวัคซีนอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องรายงานไป เพื่อให้เกิดเป็นคำแนะนำในการใช้วัคซีนต่อไป


ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า คำถามที่ว่า 6 รายสามารถรับวัคซีนเข็มที่ 2 ได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถฉีดได้ในยี่ห้อเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้รับวัคซีนด้วย รวมถึง กรณีผู้ที่กินยาคุมหรือมีประจำเดือนหรือความเป็นหญิง ยังไม่มีข้อมูลและหลักฐานเชื่อมว่าจะเกี่ยวข้องกันที่จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงมากขึ้น

อาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า วัคซีนทุกชนิดไม่เฉพาะแต่วัคซีนโควิด19 ก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ แยกเป็น 1.อาการข้างเคียง เช่น ไข้ ปวด เมื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อาการจะเป็นน้อยๆไม่มาก บางคนไข้สูงได้และไม่เกิน 2 วันเป็นปกติ และ2.แพ้วัคซีน แยกเป็น แพ้ไม่รุนแรง เช่น ผื่นขึ้น ไม่มีอาการอื่น ซึ่งต้องดูว่าเกิดขึ้นเร็วหรือไม่ ต้องปรึกษาแพทย์ที่ทำการฉีด โดยอาจจะกินยาแก้แพ้ที่ไม่ง่วงก่อนการฉีดได้ และแพ้รุนแรง มีผื่นร่วมกับหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก อาจเกิดเร็วหลังฉีดภายใน 30 นาที ถ้ามีอาการจะมียาฉีดแก้แพ้ ก็จะปลอดภัยทุกราย แต่จะแนะนำให้เปลี่ยนชนิดวัคซีนเป็นวัคซีนที่มีส่วนประกอบไม่เหมือนวัคซีนเดิม ซึ่งกรณีนี้มีรายงานเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ละชนิดวัคซีนไม่เหมือนกัน แต่เกิดน้อยอาจจะ 1 ในหลักหลายหมื่นหลายแสนที่ฉีด


6 รายสมองไม่พบสิ่งผิดปกติ
พญ. ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ในฐานะนายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้ง 6 รายที่จ.ระยองมีอาการคล้ายกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดสมอง คือ แขนขาอ่อนแรงทชา บางรายชาครึ่งซีก อ่อนแรงร่วมด้วย เป็นทันทีหรือฉีดวัคซีนไม่นาน ซึ่งแพทย์ที่จ.ระยองได้มีกานเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองไม่พบความผิดปกติ หลังให้การรักษาทั้ง 6 รายอาการดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติ โดยรายที่ช้าสุดคือ3 วัน เมื่อมีการทำMRIสมอง ไม่พบเนื้อสมองผิดปกติ ตาย หรือขาดเลือด หรือหลอดเลือดสมองตีบ ทั้งนี้ อาจเกิดจากสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน ที่มีอาการทางระบบประสาทได้แต่ไม่บ่อย เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและกลับมาเป็นปกติ รวมทั้ง อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่นได้ เช่น อ่อนเพลีย ง่วงนอนจะพบบ่อยกว่า และเกิดขึ้นชั่วคราว อย่างไรก็ตาม กรณีทั้ง 6 ราย สาเหตุเชิงลึกเกิดจากอะไรจะต้องมีการศึกษา สืบค้น วินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการติดตามต่อเนื่องทั้ง 6 รายและรายอื่นทั่วประเทศ

กรณีที่ถามว่าสมองไม่ผิดปกติแล้วทำไมต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่า กรณีอาการเข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมอง ตามมาตรฐานจะต้องให้ยาละลายลิ่มเลือดภายใน 4.5ชั่วโมง เพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการ เป็นการรักษาฉุกเฉิน แล้วมาพิจารณาสาเหตุภายหลัง หากมาตรวจพบทีหลังว่าไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมองก็ไม่เป็นไร และการรักษาไปก่อนนั้นไม่ได้อันตรายเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาต้องช่วยชีวิตคนไข้เพราะจำกัดด้วยเวลา

นพ.เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่หลังฉีดวัคซีนมีกลุ่มอาการที่เข้าได้กับระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง เช่น หน้าเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ที่รพ.ให้เร็วที่สุด ส่วนแพทย์ให้การรักษาตามมาตรฐานการรักษาโรคหลอกเลือดสมอง หากมีข้อบ่งชี้ก็ให้ยาละลายลิ่มเลือด และให้รายงานทุกรายเข้าระบบ เพื่อที่คณะกรรมการจะได้สอบสวนโรคต่อไป