'โคราช' ยอดผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' ทะลุ 328 ราย สั่งล็อกดาวน์ 3 หมู่บ้านใน 2 อำเภอ

ผู้ว่าฯ โคราช สั่งล็อกดาวน์ 3 หมู่บ้าน ใน 2 อำเภอ หลังพบผู้ป่วย "โควิด-19" ทะลุ 328 รายแล้ว

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 32 ราย ตรวจพบผู้ป่วยที่ อำเภอเมืองนครราชสีมา 18 ราย, อำเภอสีคิ้ว 4 ราย, อำเภอประทาย 2 ราย, อำเภอโนนไทย 1 ราย, อำเภอปากช่อง 3 ราย และ อำเภอด่านขุนทด 4 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อมูลทางระบาดเพิ่มเติม ทำให้ยอดรวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ เพิ่มสูงเป็น 328 รายแล้ว และในจำนวนนี้รักษาหาย 8 ราย เหลืออีก 320 ราย ที่ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามในพื้นที่จังหวัด ซึ่งอำเภอที่พบผู้ป่วยมากสุด 5 อันดับแรกของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 156 ราย รองลงมาคือ อำเภอปากช่อง 92 ราย, อำเภอสีคิ้ว 17 ราย, อำเภอด่านขุนทด 16 ราย และอำเภอชุมพวง 7 ราย

สำหรับจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ และโรงพยาบาลสนามในจังหวัดนครราชสีมา เบื้องต้นมีเตียงรองรับได้ 1,089 เตียง หรือ 1,089 ราย ขณะนี้บรรจุผู้ป่วยเข้าพักรักษาตัวแล้ว 320 ราย กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลในอำเภอต่างๆ จำนวน 290 ราย และพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม อาคารยิมส์เนเซี่ยม ชาติชายฮอล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 30 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยชาย 14 ราย และผู้ป่วยหญิง 16 ราย

ทั้งนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ที่ห้องประชุมสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา ว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ในพื้นที่จังหวัด พบผู้ป่วยใน 22 อำเภอ จาก 32 อำเภอ ทางจังหวัดได้สั่งล็อกดาวน์ ปิดหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 2 อำเภอ ที่ตรวจพบการแพร่ระบาดรุนแรง ได้แก่ บ้านตะเคียน และบ้านตะเคียนเหนือ ตำบลตะเคียน อำเภอด่านขุดทด มีประชากรประมาณ 500 หลังคาเรือน และอีกพื้นที่ คือ บ้านหนองกอก ต.โคกกลาง อ.ประทาย มีประชากรประมาณ 200 หลังคาเรือน ซึ่ง ใน 2 อำเภอนี้ มีประชาชนเดินทางเข้าออกเป็นจำนวนมาก และพบมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่หลายราย ทางอำเภอฯ จึงได้เสนอมาตรการปิดหมู่บ้านมายังจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งทางจังหวัดจะดำเนินการสั่งปิดหมู่บ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.64 ถึง 4 พ.ค. 64 เป็นระยะเวลา 14 วัน

สำหรับการช่วยเหลือหมู่บ้านที่ถูกสั่งปิดนั้น ทางจังหวัดจะดำเนินการนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน รวมทั้ง การช่วยเหลือเรื่องสินค้าทางการเกษตร ตลอดจน เรื่องการทำงานทางจังหวัดจะเข้าไปดูแล การปิดหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายของโรค และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในส่วนที่อยู่ในหมู่บ้านดังกล่าว ไม่ควรออกมานอกพื้นที่และประชาชนภายนอกก็ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ และควรปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด