นายกฯสั่ง 'มาตรการเยียวยา' รอบใหม่ คาดเริ่ม พ.ค.

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) นายกฯ หารือทีมเศรษฐกิจ บรรเทาผลกระทบโควิด "สุพัฒนพงษ์" เผย พ.ค.ออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเก่า-ใหม่ หนุนบริโภค ต่ออายุมาตรการเยียวยา มีผล มิ.ย.นี้

นายกฯ หารือทีมเศรษฐกิจ บรรเทาผลกระทบโควิด "สุพัฒนพงษ์" เผย พ.ค.ออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเก่า-ใหม่ หนุนบริโภค ต่ออายุมาตรการเยียวยา มีผล มิ.ย.นี้ เผยรัฐบาลมีงบพอเยียวยารอบนี้ รับหากจำเป็นอาจกู้เพิ่ม เดินหน้า "ภูเก็ตโมเดล" รับนักท่องเที่ยว 1 ก.ค.นี้ ครม.อนุมัติ "เราชนะ" เพิ่ม 2.4 ล้านคน ใส่งบอีก 3,042 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจหารือมาตรการทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (20 เม.ย.) โดยผู้ร่วมหารือมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รวมทั้ง ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร หัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกและทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนการหารือว่า เป็นการพูดคุยมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยโครงการ "เราชนะ" จะดำเนินการต่อและมาตรการที่จบไปแล้วจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งจะได้คำตอบเร็วๆ นี้ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหางบประมาณสำหรับดำเนินแต่ละมาตรการ และจะพยายามจัดหางบประมาณให้เพียงพอในสถานการณ์ขณะนี้

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 โดยการระบาดในรอบนี้คาดว่าคลี่คลายใน 2 สัปดาห์ เพราะแต่ละหน่วยงานมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดในรอบที่ผ่านมาแล้ว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน

ออกแพ็คเกจเยียวยา พ.ค.นี้

ส่วนมาตรการทางเศรษฐกิจอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง และ สศช.เพื่อจัดทำมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะออกมาเป็นแพ็คเกจได้ในเดือน พ.ค.2564 และมีผลเริ่มให้ประชาชนใช้ได้ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.นี้ โดยชุดมาตรการจะมีทั้งมาตรการใหม่และการต่ออายุมาตรการเดิม ประกอบด้วย

1.โครงการสนับสนุนให้ประชาชนนำเงินออมออกมาใช้ ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่นำมาใช้เพราะปัจจุบันประชาชนมีเงินออมกว่า 5 แสนล้านบาท และกระทรวงการคลังคิดมาตรการออกมาแล้ว โดยจะเริ่มใช้เดือน มิ.ย.นี้ 2.โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม 3.โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งโครงการคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันเป็นมาตรการที่จะเดินหน้าต่อตามที่มีการชี้แจงไว้

นอกจากนี้ มาตรการอื่นในลักษณะการจ่ายเงินเยียวยาจะมีการพิจารณาต่ออายุ เช่น โครงการเราชนะสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ โครงการเรารักกันสำหรับผู้ประกันตน ม.33 โดยได้หารือว่าสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์อาจต่ออายุออกเพื่อไม่ให้ประชาชนแย่งกันลงทะเบียน ส่วนจะเป็นรูปแบบเดิมหรือไม่ และจะให้มากแค่ไหนเรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังดูในรายละเอียด แต่การออกมาตรการออกมาพร้อมกันทำให้คนที่จะได้มาตรการมีหลายกลุ่มจะได้ช่วยกันใช้จ่ายให้เงินหมุนเวียน

มั่นใจงบ 3 แสนล้านพอใช้

"มาตรการที่จะออกมาในรอบนี้จากวงเงินที่รัฐบาลมีอยู่ 3 แสนล้านบาท นั้นยังเพียงพอที่จะใช้ในการเยียวยาและทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ยังพอที่จะทำได้ และเหลือเงินอยู่ แต่หากเกิดการระบาดครั้งต่อๆไปซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เพราะมีความไม่แน่นอนตรงนั้นรัฐบาลก็ต้องเตรียมที่จะกู้เงินแล้วเพราะเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีเงินไว้ดูแลประชาชน แต่ ในขณะนี้ยังมีเงินเพียงพออยู่ โดยมาตรการจะได้ใช้ในเดือน มิ.ย.แต่ประชาชนจะทราบก่อนในเดือน พ.ค.นี้"

ส่วนมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลภาคธุรกิจ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจใช้โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือมาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินได้ โดยถือเป็นมาตรการที่ออกแบบไว้เพื่อรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับภาคเอกชนอยู่แล้ว
คาดกระทบเศรษฐกิจไม่มาก

นอกจากนี้ การที่บางหน่วยงานลดคาดการณ์จีดีพีในปี 2564 ลง นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า หากสถานการณ์ควบคุมได้เร็วและคลี่คลายใน 1 เดือน ยังมองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากนัก รัฐบาลจะเร่งหามาตรการมาเพิ่มเติมเพื่อประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำหรับความเชื่อมั่นของภาคเอกชนมองว่าเอกชนยังมีความเชื่อมั่น และได้รายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้วว่าไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ และแผนปฏิบัติการเชิงรุกในการดึงนักลงทุนยังคงอยู่ ซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเข้ามาติดต่อสนใจจะลงทุน ซึ่งการลงทุนของเอกชนทั้งในและต่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งเป็นเรื่องของเวลาและจะมีมุมมองที่ดีขึ้น เพราะรัฐบาลพยายามที่จะหาวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น และในเดือน มิ.ย.นี้ จะอุ่นใจมากขึ้นเนื่องจากจะมีวัคซีนจำนวนมาก

ยืนยันเปิดประเทศ ก.ค.นี้

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับแผนการเปิดประเทศรัฐบาลยังยืนยันว่าจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบแล้วในวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยไม่ต้องกักตัวซึ่งเป็นไปตามกำหนดเดิม ซึ่งจากการไปสำรวจความต้องการที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ต ของนักท่องเที่ยวต่างชาติพบว่ายังมีความต้องการที่สูงมาก และการระบาดรอบหลังนี้ยังไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว โดยแผนการชักจูงนักท่องเที่ยวต้องเน้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะไกลก่อน ก็ถือว่ายังอยู่ในเป้าหมายการทำงานของรัฐบาล

"นักท่องเที่ยวยังเชื่อมั่นในไทยเชื่อว่าเราพร้อมรองรับ จัดการกับการแพร่ระบาดของโรคได้ มียา มี่เครื่องมือทางการแพทย์พร้อม เพียงพอพอสมควร แต่ขึ้นกับวินัยของคนไทยด้วยเพราะเรื่องที่เกิดขึ้นก็เห็นว่ามาจากคนกลุ่มเล็กๆเท่านั้นก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

นายกฯ ถามเยียวยากลาง ครม.

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.กล่าวว่า การประชุม ครม.ครั้งนี้ได้หารือการเยียวยารอบใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือในรายละเอียด โดย พล.อ.ประยุทธ์ สอบถามถึงมาตรการรอบใหม่ในขณะที่เลขาธิการ สศช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ชี้แจงว่าได้มีเตรียมไว้บ้างแล้ว

ส่วนวงเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สศช.รายงาน ครม.ว่า ณ วันที่ 8 เม.ย.2564 อนุมัติโครงการแล้ว 282 โครงการ รวม 759,792 ล้านบาท คงเหลือ 240,207 ล้านบาท โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กู้เงินตาม พ.ร.ก.แล้ว 666,016 ล้านบาท และหน่วยงานรับผิดชอบเบิกจ่ายแล้ว 618,016 ล้านบาท คิดเป็น 81.34% ของวงเงินที่ ครม.อนุมัติขยาย"เราชนะ"2.4ล้านคน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการเราชนะ เพิ่มอีก 2.4 ล้านคน จากกลุ่มเป้าหมายเดิม 31.1 ล้านคน เป็น 33.5 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วงเงินเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 213,242 ล้านบาท

รวมทั้งขยายเวลาใช้วงเงินสนับสนุนผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการจากเดิมใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31พ.ค.2564 เป็นวันที่ 30 มิ.ย. 2564 และให้กรมบัญชีกลางอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการร้านค้าที่ร่วมโครงการตามที่ผู้ได้รับสิทธิ์ใช้จ่ายจริงเป็นรายวัน และกรณีที่กรมบัญชีกลางโอนเงินให้ผู้ประกอบการร้านค้าไม่สำเร็จ ให้ติดตามเพื่อโอนเงินซ้ำภายในวันที่ 24 ก.ย.2564 ส่วนกรณีมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลการทบทวนสิทธิ์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในวันที่ 13 พ.ค.2564

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง รายงานว่า การดำเนินโครงการมา 3 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับสิทธิ์ 33.1 ล้านคน เกินกว่ากลุ่มเป้าหมายเดิมที่ ครม.อนุมัติ โดยมีประชาชนอยู่ระหว่างตรวจสอบคัดกรองข้อมูล 86,000 คน อีกทั้งเปิดรับลงทะเบียนสำหรับกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ไม่สามารถเดินทางออกจากที่พักอาศัย และต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ถึงวันที่ 9 เม.ย.2564 และทบทวนสิทธิ์ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงจึงทำให้จำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเพิ่มขึ้น