'บ.ฟิลิปปินส์-อินโดฯ'นำหน้าชาติอาเซียนฉีดวัคซีนพนง.

'บ.ฟิลิปปินส์-อินโดฯ'นำหน้าชาติอาเซียนฉีดวัคซีนพนง.

'บ.ฟิลิปปินส์-อินโดฯ'นำหน้าชาติอาเซียนฉีดวัคซีนพนักงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หวังพนักงานแข็งแรงดันธุรกิจฟื้นตัวเร็ว

คอลล์ เซนเตอร์ของบริษัทคอนเซนทริกซ์ในฟิลิปปินส์เตรียมฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้พนักงาน 100,000 คน ส่วนในอินโดนีเซียอะดาโร กลุ่มบริษัทพลังงานและเหมืองเตรียมฉีดวัคซีนให้พนักงานจำนวน 12,000 คนเช่นกัน ขณะที่สภาหอการค้าไทยมีแผนที่จะเสนอให้มีการฉีดวัคซีนแก่บุคคลากรในองค์กรเช่นกัน

บริษัทต่างๆทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเคลื่อนไหวเพื่อนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้แก่พนักงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นกำลังคุกคามการดำเนินธุรกิจที่ทุกวันนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยรัฐบาลในหลายประเทศของอาเซียนที่มีเงินสดไม่มากพอ อนุญาตให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมแบกภาระเรื่องวัคซีนและมีส่วนร่วมในการเร่งพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศแม้ว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีนต้านโรคโควิด-19

เมื่อเดือนที่แล้ว ฟิลิปปินส์บรรลุข้อตกลง“3ฝ่าย”กับโมเดอร์นา ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติสหรัฐเพื่อซื้อวัคซีนของบริษัทนี้ในปริมาณ 20 ล้านโดส การลงนามในนามของภาคเอกชน ซึ่งจะได้รับวัคซีน 7 ล้านโดสเป็นของเอนริเก้ ราซอน เจ้าพ่อคาสิโนและท่าเรือในฟิลิปปินส์ที่ให้คำมั่นว่าจะรับภาระเรื่องต้นทุนด้านโลจิสติกในการจัดส่งวัคซีน

ก่อนหน้านี้ มีบริษัทกว่า300แห่งสั่งวัคซีนในปริมาณ 2.6 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ โดยในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งจะถูกบริจาคให้กับรัฐบาล

“บริษัทต่างๆรู้ดีว่าจะมีความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีนและจะเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องรับมือ นี่จึงเป็นเหตุผลให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้” แอสโตร เดล คาสทิลโล กรรมการผู้จัดการบริษัทเฟิร์สต์ เกรด ไฟแนนซ์ ในกรุงมะนิลา กล่าว

นอกจากนี้ การที่ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนยังช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างบริษัทต่างๆและประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตดีขึ้น โดยเฉพาะกับแอสโตร เดล คาสทิลโลที่เคยถูกดูเตอร์เตขู่ว่าจะจับขังคุก

จนถึงขณะนี้ ฟิลิปปินส์ได้รับวัคซีนในปริมาณ 3 ล้านโดสจากซิโนแวค ไบโอเทค และแอสตร้าเซนเนก้า และคาดว่าจะได้รับวัคซีนจากซิโนแวคเพิ่มอีก 1 ล้านโดสในเดือนเม.ย.และอีก 2 ล้านโดสในเดือนพ.ค. แต่การจัดส่งที่กำลังเป็นปัญหาทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ฟิลิปปินส์อาจจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้คือ 70% ของจำนวนประชากร 105 ล้านคนภายในปีนี้

ส่วนอินโดนีเซีย เศรษฐกิจใหญ่สุดและมีประชากรมากที่สุดของภูมิภาคอาเซียน มีสถานการณ์ที่คล้ายๆกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซีย อนุญาตให้บริษัทต่างๆจัดซื้อวัคซีนต้านโควิดเพื่อฉีดให้พนักงานในบริษัทได้ ซึ่งปัจจุบัน โครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลจำกัดอยู่แค่กลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ข้าราชการและประชาชนอายุตั้งแต่60ปีขึ้นไป

นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อแบ่งกันแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน 181.5 ล้านคน หรือเกือบ 70% ของประชากรทั้งประเทศ โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบจำนวน 58.2 ล้านล้านรูเปี๊ยะห์ (เกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์)ไว้ใช้ในโครงการฉีดวัคซีนฟรีให้แก่ประชาชนเฉพาะปีนี้เพียงปีเดียว

นับจนถึงวันที่ 26 มี.ค.มีบริษัทกว่า 17,000 แห่งที่ลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานผ่านทางสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตัวแทนพนักงานจำนวนกว่า 8.6 ล้านคนแต่นับจนถึงสัปดาห์ที่แล้ว ยังไม่มีบริษัทใดได้รับวัคซีนเลย

“เรายังคงเฝ้ารอ จนถึงวันนี้ ยังไม่มีข้อแนะนำทางเทคนิคในการฉีดวัคซีนให้แก่พนักงานออกมา และไม่มีการพูดถึงปริมาณวัคซีนที่เราจะได้รับ” ฮาริยาดิ สุกัมดานิ ประธานสมาคมผู้ว่าจ้างแห่งอินโดนีเซีย กล่าว

ขณะที่“แอนน์ ลินด์สแตรนด์” ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า “รู้สึกยินดีที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดหาวัคซีนต้านโควิด เพราะตามปกติแล้ว ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดหาวัคซีนเนื่องจากในหลายพื้นที่ของโลกยังขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ แต่ท่ามกลางภาวะการขาดแคลนวัคซีนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ลินด์สแตรนด์ เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญกับเซคเตอร์ที่เปราะบางเป็นอันดับแรก แม้ว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นดำเนินธุรกิจอีกครั้ง”

“ขณะที่เราเรียกร้องให้ภาคธุรกิจกลับไปดำเนินการตามปกติและกลับมาทำงานกันอีกครั้ง ดับเบิลยูเอชโอเสนอแนะให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะติดเชื้อ เช่นพนักงานดูแลสุขภาพ คนสูงอายุและกลุ่มที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ โดยเฉพาะในช่วงที่วัคซีนยังขาดแคลนอยู่” ลินด์สแตรนด์ กล่าว