‘ภูเก็ต’ ฝ่าบททดสอบโควิดระลอก 3! ยันเดินหน้า ‘แซนด์บ็อกซ์’ ดึงต่างชาติเข้าไทย

‘ภูเก็ต’ ฝ่าบททดสอบโควิดระลอก 3!  ยันเดินหน้า ‘แซนด์บ็อกซ์’ ดึงต่างชาติเข้าไทย

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ภายในประเทศขณะนี้ เมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง “ภูเก็ต” ต้องฝ่าบททดสอบท้าทายนี้ไปให้ได้! เพื่อเร่งเตรียมความพร้อมในฐานะพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทยผ่านโครงการ “ภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์”

ตามโรดแมพเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบแล้วมาเที่ยวไทยแบบไม่กักตัว ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ก.ค.2564 หรือเหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนกว่าๆ เท่านั้น

หวังกู้รายได้การท่องเที่ยวของภูเก็ตซึ่งเคยมีมูลค่ากว่า 4.7 แสนล้านบาทต่อปีกลับคืนมา โดยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 15% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยจากทั้งตลาดในและต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาทเมื่อปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิด-19

ณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า ภูเก็ตต้องฝ่าบททดสอบวิกฤติโควิด-19 ระลอก 3 ไปให้ได้ เพื่อเร่งเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกทาง เราไม่อยากถอยหลังหรือหยุดอยู่กับที่อีกแล้ว! ต้องเดินหน้าแผนเปิดประเทศตามโรดแมพและไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ เพราะถึงอย่างไร ไม่ว่าช้าหรือเร็วก็ต้องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ดี

“รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับภูเก็ต เพราะฉะนั้นต้องเร่งเคลียร์ เร่งจัดบ้านให้เรียบร้อย เป้าหมายคือการทำทุกทางเพื่อเดินไปข้างหน้า! โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ถึงเป้าหมาย 70% ของประชากรในภูเก็ตทั้งหมดภายในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ให้คนในพื้นที่มั่นใจ สามารถเดินตามแผนโครงการแซนด์บ็อกซ์ ให้ภูเก็ตเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของไทยในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ดีเดย์วันที่ 1 ก.ค.นี้”

หลังจากก่อนหน้านี้ได้ทยอยฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 แสนโดส เป็นเข็มแรกแก่คนภูเก็ตกลุ่มแรก คิดเป็น 22% ของประชากรในภูเก็ต และในวันที่ 22 เม.ย.นี้จะเริ่มฉีดเข็มที่ 2 อีก 1 แสนโดสแก่คนภูเก็ตกลุ่มแรก ส่วนเดือน พ.ค.นี้เตรียมฉีดอีก 2 แสนโดส และเดือน มิ.ย.นี้อีก 2 แสนโดส

ณรงค์ เล่าด้วยว่า ด้านตลาด “นักเดินทางชาวไทย” ภูเก็ตได้ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ “คัดกรอง” ผู้ที่เดินทางจากพื้นที่สีแดง 17 จังหวัดเข้าภูเก็ต (ภูเก็ตอยู่ในพื้นที่สีแดงเช่นกัน รวมมี 18 จังหวัด) มีผลตั้งแต่วันที่ 22-30 เม.ย.นี้ ได้แก่ 1.อนุญาตให้ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีเอกสารรับรอง สามารถเดินทางเข้าภูเก็ตได้ 2.อนุญาตให้ผู้ที่มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง สามารถเดินทางเข้าภูเก็ตได้ และ 3.หากไม่มีเอกสารตามข้อ 1 หรือข้อ 2 จะต้องเข้ารับการตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid Antigen Test) เสียค่าใช้จ่ายคนละ 300 บาท

สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือเดินทางจากพื้นที่สีส้ม 59 จังหวัด หากเดินทางโดยเครื่องบินเข้าภูเก็ต ให้ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรองเหมือนผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดง ส่วนผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ ต้องกรอกข้อมูลลงทะเบียนเข้า-ออกเมืองบนเว็บไซต์ www.gophuget.com พร้อมติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อให้ทราบว่าเป็นใครมาจากไหน และสามารถติดตามตัวได้

“เราอยากควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ได้ในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้อย่างน้อยตลาดไทยเที่ยวไทยฟื้นตัว มีความมั่นใจกลับมาท่องเที่ยวภูเก็ตอีกครั้ง”

หลังจากช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ตให้ข้อมูลว่ามีนักท่องเที่ยวไทยจองการเดินทางมาพอสมควร แต่พอโควิด-19 ระบาดระลอก 3 นักท่องเที่ยวไทยก็ถามถึงข้อมูลต่างๆ ซึ่งขณะนั้นภูเก็ตยังไม่มีการกักตัว โดยทางนักวิชาการประเมินว่าช่วงหยุดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวไทยยกเลิกการเดินทางมาภูเก็ต 15% เลื่อนการเดินทาง 30% ส่วนอีก 55% ยังตัดสินใจเดินทางมา

ขณะที่ปริมาณการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานภูเก็ตช่วงปกติก่อนสงกรานต์อยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน เฉพาะช่วงสงกรานต์ 1.2-1.3 หมื่นคนต่อวัน แต่พอมีโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้พื้นที่ทั้งต้นทางและปลายทางเข้มงวดเรื่องการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันมีปริมาณการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานภูเก็ตลดลง 50% เหลือที่ประมาณ 5 พันคนต่อวัน แบ่งเป็นขาเข้า 2 พันคนต่อวัน ส่วนขาออกอยู่ที่ 3 พันคนต่อวัน ทั้งนี้คาดว่ามีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ เพราะถ้าไม่มีเหตุจำเป็น คนก็ไม่เดินทางมา

และเมื่อย้อนไปเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมาหลังเจอโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้บางวันขาเข้าเหลือผู้โดยสารเพียง 500 คนต่อวัน เนื่องจากมีการลดจำนวนเที่ยวบินลงสอดรับกับดีมานด์

พ่อเมืองภูเก็ต เล่าเพิ่มเติมว่า หากในอนาคตต้องเจอปัญหาพบผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทย เชื่อมั่นว่าจังหวัดภูเก็ตจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน ด้วยแผนสำรองที่มีอยู่ในมือ และประสบการณ์การรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ