ฝึก 'โยคะ' ดีต่อร่างกายอย่างไร

ฝึก 'โยคะ' ดีต่อร่างกายอย่างไร

ได้ยินบ่อยๆ เรื่องคลายเครียดด้วยการฝึก"โยคะ" ลองมาทำความเข้าใจระบบร่างกายกับการฝึกโยคะ ช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดดีขึ้นอย่างไร

บ่อยครั้งที่คนส่วนใหญ่พูดถึงการฝึกโยคะว่า ทำให้ร่างกายสมดุล แต่ไม่มีคำอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์

ทำไมฝึกโยคะ แล้วทำให้คลายเครียดได้ดี

ว่ากันว่า ร่างกายของเราจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็อยู่ที่การควบคุมของสองระบบใหญ่ๆ คือ ระบบฮอร์โมน และระบบประสาท

ปกติแล้วความเครียดนี่แหละเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้เราป่วย ทั้งทางกายและใจ ทำให้เกิดความไม่สมดุลในร่างกาย ถ้าเป็นปัจจัยภายนอกมาจากความร้อน ความเย็น เสียงดังๆ  หรือปริมาณออกซิเจนที่น้อยกว่าปกติ ฯลฯ ถ้าเป็นปัจจัยภายในร่างกาย มาจากความดันโลหิตสูง ความเจ็บปวด อารมณ์ความรู้สึก ฯลฯ

เจ้าความเครียดนี่แหละที่เข้าไปกระตุ้นต่อมไร้ท่อไฮโปทาลามัส จากนั้นมันก็จะส่งผลกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทธิก และกระตุ้นต่อไปยังต่อมอดรีนัลคอร์เทกซ์ (ต่อมหมวกไตด้านนอก-adrenal cortex) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกในร่างกาย ทั้งอัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด อัตราการหายใจ ฯลฯ

ผลของความเครียด จะทำให้ระบบร่างกายส่วนต่างๆ ทำงานไม่ปกติ ป่วยเป็นโรคต่างๆ มากมาย อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และนอนไม่หลับ

ดังนั้นการฝึกโยคะ ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลปะสามารถช่วยรักษาสมดุลระบบร่างกายแบบองค์รวม ทั้งระบบประสาท ระบบฮอร์โมน และระบบกล้ามเนื้อ ควบไปกับการดูแลจิตใจและอารมณ์

เนื่องจากสภาวะอารมณ์ของเรา ก็มีผลต่อระบบหายใจ ไม่ว่าจะกรณีตกใจ กลัว ตื่นเต้น ซึ่งจะทำให้เราหายใจเร็วขึ้น มีความตึงเครียดของจิต และมีผลต่อสมอง

ถ้ามองแค่ระบบหายใจ ซึ่งเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติที่เป็นไปตามธรรมชาติ มีจังหวะที่สม่ำเสมอ เมื่อฝึกโยคะมีสติรู้ ก็จะควบคุมการหายใจด้วยตนเองได้ระดับหนึ่ง เมื่อสมองส่วน Cerebral cortex ส่งสัญญาณประสาทมาตามกระดูกสันหลังไปยังกล้ามเนื้อซี่โครงและกระบังลม

เมื่อใดก็ตามที่เราฝึกหายใจแบบโยคะได้ลึก ยาว โดยดูจากการเคลื่อนไหวของปอดและหน้าท้อง ก็สามารถเพิ่มอัตราการหายใจ ขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือดได้เร็วขึ้น ซึ่งมีผลดีต่อระบบร่างกาย 

ด้วยเหตุนี่เอง นักวิทยาศาสตร์จึงสนใจเรื่องรูปแบบหายใจที่มีผลต่อระบบประสาท เพราะเราไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังหายใจ แต่ศาสตร์ของโยคะทำให้เรารู้ว่ากำลังหายใจอย่างมีสติอยู่กับสภาวะภายในร่างกาย เพราะในชีวิตประจำวัน ร่างกายของเรา ทำงานตามการสั่งของสมองเซเรบรัม คือ การใช้ความคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรอง

 แต่เมื่อใดที่เราฝึกโยคะ ช่วงเวลานั้นจะลดการทำงานของสมองส่วนความคิด เหมือนเวลาเราว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เมื่อร่างกายเรียนรู้แล้ว ก็จะทำงานโดยกลไกรีเฟล็กซ์ เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายนอกเหนือการควบคุมของจิตใจ (involuntary) ที่เกิดขึ้นฉับพลัน

เช่นเดียวกัน เมื่อฝึกโยคะอาสนะ ผู้ฝึกก็จะไม่ใช้ความคิด มีสติรับรู้ ณ ปัจจุบันขณะ เมื่อระบบประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อลดลง กลไกกายและจิตก็ผ่อนคลาย ส่งผลให้ระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานน้อยลง

นี่คือ ผลดีของการฝึกโยคะ

 ...............

 หมายเหตุ เรียบเรียงจากจากเอกสารโยคะวิชาการ เรื่องสรีระวิทยาและกายวิภาคเกี่ยวกับเทคนิคโยคะ