"วีริศ  อัมระปาล" ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการนิคมฯ สานต่อ 4 โครงการใหญ่

"วีริศ  อัมระปาล" ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการนิคมฯ สานต่อ 4 โครงการใหญ่

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)จัดพิธีลงนามในสัญญาจ้างผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่ 12 หลังคณะกรรมการสรรหา มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก“วีริศ อัมระปาล”สานต่อ 4 โครงการเมกะโปรเจกต์ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล

นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมการ กนอ.(บอร์ด กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.จัดพิธีลงนามสัญญาจ้างผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ในวันที่ 20 เม.ย.64 หลังคณะกรรมการสรรหามีมติเป็นเอกฉันท์เลือก นายวีริศ  อัมระปาล ขึ้นเป็นผู้ว่าการ กนอ.ซึ่งภายหลังการเจรจาเรื่องค่าตอบแทนและสัญญาจ้างแล้ว ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 เห็นชอบแต่งตั้ง นายวีริศ อัมระปาล ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ทั้งนี้ นายวีริศฯ จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ.ตามเงื่อนไขและสัญญาจ้างที่มีต่อ กนอ.โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของโครงการสำคัญต่างๆ ที่เตรียมส่งมอบให้กับผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่สานต่อ โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ที่กนอ.ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล ประกอบด้วย 1.โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม smart park โดยการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการก่อสร้างโครงการและเปิดดำเนินการภายในปี 2567 และดำเนินการตามแผนธุรกิจที่วางไว้

2 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งในการดำเนินงานขั้นต่อไปคือการกำกับดูแลภาคเอกชนคู่สัญญา งานขุดลอกและถมทะเล งานก่อสร้างท่าเรือก๊าซ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 ซึ่งก็คือการคัดเลือกเอกชนและประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อลงนามในสัญญาร่วมทุนโครงการ

3.การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน  คือ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ที่ต้องมีมาตรการส่งเสริมการจองเช่า/ซื้อที่ดิน เพื่อกระตุ้นยอดขาย/เช่าในพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง รวมทั้งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ระยะที่ 2

และ 4 การพัฒนานิคมและท่าเรืออุตสาหกรรมเข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ ( Smart Eco ) ที่การดำเนินงานขั้นต่อไป คือ การจัดทำแผนแม่บทที่จะดำเนินการให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และการที่นิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระดับ Eco-Champion  Eco-Excellence และ Eco-World Class เพิ่มขึ้นอย่างน้อยจำนวน 36 นิคมฯ เข้าสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2565

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่างๆที่รัฐมุ่งส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ 5G มาประยุกต์ใช้ตามแผนพัฒนาการบริหารและการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรม ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้ง 14 แห่ง โดยตั้งเป้าให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ(Smart Industrial Estate) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัตินิคมอุตสาหกรรม และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย และสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาวได้