ถอดสถิติอัตราฉีด ’วัคซีน’ ตัวเร่งศก.ไทยฟื้นเร็วหรือช้า

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำบทวิเคราะห์มาตรการวัดเชิงเศรษฐกิจและทิศทางค่าเงินในประเทศท่ีมีอัตราการฉีดวัคซีน โดยระบุว่าท่ามกลางภาวะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดรายวันของไทยกำลังเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ในแต่ละวัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำบทวิเคราะห์มาตรการวัดเชิงเศรษฐกิจและทิศทางค่าเงินในประเทศท่ีมีอัตราการฉีดวัคซีน โดยระบุว่าท่ามกลางภาวะที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดรายวันของไทยกำลังเพิ่มขึ้นทำสถิติใหม่ในแต่ละวันนั้น ข้อมูลอัตราการแพร่ระบาด (Covid-19 Reproduction Rate) ของไทยก็เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดของโลกแล้วเช่นกัน โดย ณ วันที่ 16 เมษายน 2564 อยู่ที่ 2.28% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 1.11% รวมถึงแอฟริกา กัมพูชา อินเดีย หลายประเทศในลาตินอเมริกา ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านของไทย 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความกังวลเรื่องความเพียงพอของจำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วย ซึ่งข้อมูลจากกรมการแพทย์ระบุว่าสำหรับเขตกรุงเทพและปริมณฑล ณ วันที่ 13 เมษายน 2564 มีจำนวนเตียงเหลืออีกประมาณ 6,185 เตียง และใช้ไปแล้ว 3,460 เตียง ทำให้มีเตียงเหลืออีก 2,725 เตียง ซึ่งก็ยังต้องสำรองไว้รองรับผู้ป่วยหนักกลุ่มอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างดังกล่าวชี้ถึงความเป็นไปได้ที่หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับหลักพันคนต่อวัน ก็ย่อมทำให้ทรัพยากรเตียงในสถานพยาบาลและเตียงสนามต่างๆ รวมถึงบุคลากรแพทย์และพยาบาลอาจไม่เพียงพอที่จะรองรับอัตราการแพร่ระบาดในระดับดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นย่อมนำมาสู่จุดที่ระบบสาธารณสุขไทยอาจต้องเลือกว่าจะรักษาผู้ป่วยเคสใดมากกว่ากัน ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากเห็นเราวิ่งไปสู่จุดนั้น

ระหว่างนี้ มาตรการเชิงป้องกันถือว่ามีความสำคัญมาก ทั้งการใส่หน้ากากที่ได้มาตรฐาน การเว้นระยะห่างทางสังคม สุขอนามัยส่วนบุคคลเมื่อมีการสัมผัสสิ่งต่างๆ การงดการเดินทางที่ไม่จำเป็น หรือการทำงานจากที่บ้านเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ ขณะที่ ในมิติของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่รวดเร็วที่สุด ก็ยังคงต้องฝากความหวังสำคัญไว้ที่ ‘วัคซีน’ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Our World in Data ที่มีการเปรียบเทียบอัตราการฉีดวัคซีน (1 โดส) ต่อประชากรของประเทศต่างๆ ณ วันที่ 17 เมษายน 2564 พบว่า อัตราการฉีดวัคซีนของไทยอยู่ที่ 0.75% ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่นมาเลเซีย (2.12%) เกาหลีใต้ (2.95%) และอินโดนีเซีย (3.95%) ขณะที่ ทางการไทยยืนยันการฉีดวัคซีนที่ 63 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคงทำให้ไทยเข้าใกล้จุดที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้มากขึ้น 

ความจำเป็นในการ ‘เร่ง’ วัคซีน...สำคัญมาก เพราะมีนัยที่สำคัญมากในหลายประเด็นตามมา 

-การประคองความมั่นคงของระบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งถือเป็นความเป็นความตายเร่งด่วนเฉพาะหน้าในอีก 1-2 เดือนข้างหน้านี้ที่การระบาดของไวรัสยังมีความเข้มข้น 

- การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของคนในประเทศ ดังจะเห็นว่า มาตรวัดเชิงเศรษฐกิจ และค่าเงินของประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง มีทิศทางที่ดีกว่าประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่า 

- การฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งประเทศ ที่นำโดยภาคการท่องเที่ยวที่กำลังเข้าใกล้ฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี โดยหากต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทย ซึ่งสำหรับปีนี้ คงเป็นจังหวะฤดูกาลท่องเที่ยวในไตรมาส 4 รวมถึงเผื่อเวลาให้ภาคธุรกิจทำการตลาดล่วงหน้าด้วย ก็หมายความว่าเราเหลือเวลากระจายวัคซีนในประเทศอีกเพียงระยะเวลาไม่เกิน 3-4 เดือนข้างหน้าเท่านั้น สุดท้าย เนื่องจากไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อมีการระบาดระลอกที่ 3 แล้ว จะมีการระบาดครั้งถัดๆ ไปหรือไม่ โดยข้อสังเกตจากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า รอบการกลายพันธุ์และการระบาดของไวรัสฯ จะซ้ำรอยทุกๆ 3-4 เดือน 

ดังนั้น วัคซีนจึงเป็นทางออกสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับประเทศ ที่ป้องกันไม่ให้เราต้องเผชิญความเสี่ยงขาลงที่น่ากลัวเกินอยากจะนึกถึง ขณะที่ในทางกลับกัน ประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องวัคซีนกำลังรับข่าวดีจากการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจและประชาชนเริ่มออกมาเดินถนนโดยไร้พะวงกันแล้ว หนึ่งในข้อเรียกร้องของภาคเอกชนไทยที่น่าสนใจ คือ การเปิดเสรีนำเข้าวัคซีน อันจะทำให้ภาพรวมทั้งประเทศเดินเรื่องอัตราการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น อีกทั้งลดภาระทางการคลังของภาครัฐที่ยังมีโจทย์เยียวยาพิษผลกระทบจากโควิดรอบสามนี้รออยู่