สำนักงบเผยรัฐพร้อมอัดงบดูแลโควิด2.6แสนล.

สำนักงบเผยรัฐพร้อมอัดงบดูแลโควิด2.6แสนล.

สำนักงบยันรัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอในการดูแลผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 ราว 2.6 แสนล้าน ชี้หากระบาดถึงระลอก 4 ได้จัดสรรไว้ในงบรายจ่ายปี 65 อีกราว 1.4 แสนล้านบาท หากจำเป็นต้องกู้ฉุกเฉินเพิ่มเติมต้องขยายกรอบเพดานก่อหนี้

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณประเมินว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลยังมีงบประมาณที่จะใช้ในการเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 เฉลี่ยประมาณ 2.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบจาก พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 2 แสนล้านบาท และจากงบประมาณรายจ่ายงบกลางปี 2564 รวมทั้ง งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นที่ยังใช้ได้ อีกประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถอนุมัติเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ได้เมื่อจำเป็น ทั้งนี้ คาดว่า เร็วๆ นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรีออกมาตรการเยียวยาเพื่อดูแลประชาชนจากการระบาดของโควิดรอบ 3

“เรามองว่า ไม่จำเป็นต้องโอนงบประมาณจากส่วนราชการมาใช้ในการเยียวยาผลกระทบโควิดเพิ่มเติม เหมือนในปี 2563 ซึ่งขณะนั้น ยังไม่ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน และในการโอนเงินจากส่วนราชการจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งหากจะทำตอนนี้คงไม่ทัน และประเมินว่า วงเงินที่เหลืออยู่ยังมีเพียงพอสำหรับรับมือโควิดรอบนี้ เพราะการออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโควิดแต่ละครั้งจะใช้เงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท”

ส่วนงบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 นั้น อนุมัติไปแล้ว 6 พันล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้อยู่ในงบประมาณปี 2564 ส่วนในปีงบประมาณ 2565 นั้น ยังไม่ได้ตั้งงบจัดซื้อวัคซีนไว้ แต่หากจำเป็นต้องใช้เงิน ก็สามารถใช้งบของกรมควบคุมโรค ซึ่งจะมีงบประมาณสำหรับการจัดซื้อวัคซีนทั่วไปอยู่แล้วโยกมาใช้สำหรับวัคซีนโควิดได้

ทั้งนี้ หากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 4 ขึ้น ทางรัฐบาลยังมีงบกลางประจำปี 2565 ที่จะสามารถดึงมาใช้ได้อีก8.9 หมื่นล้านบาท รวมทั้ง งบกลางฉุกเฉินเมื่อจำเป็นที่สำรองไว้สำหรับภัยพิบัติอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ที่จะมาช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดถ้าจำเป็น”

อย่างไรก็ดี ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ที่จะมีการนำเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร จะมีช่วงการอภิปรายงบประมาณวาระ 1 และ 2 ระยะเวลา 120 วัน โดยคณะกรรมาธิการ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ถ้ามีการประเมินว่า ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ก็สามารถปรับลดงบประมาณของส่วนราชการมาจัดทำเป็นงบกลางรายจ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติโควิด-19 ได้

“ในปีที่แล้วรัฐให้แต่ละหน่วยงานปรับลดรายจ่ายมาเป็นงบกลางเพื่อแก้โควิดรวมกันประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้ถ้าหากให้แต่ละหน่วยงานปรับลดงบจริง อาจจะได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก งบประมาณปี 2565 น้อยกว่าปี 2564”

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 สำนักงบประมาณได้ขอให้ทุกส่วนราชการปรับเป้าหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ เช่น อบรม ต้องเปลี่ยนวิธีเป็นออนไลน์ เป็นต้น ส่วนโครงการที่ทำอยู่เดิมหากไม่สัมฤทธิ์ผลอาจจะต้องปรับลดงบประมาณลง

“หากจะให้ส่วนให้แต่ละหน่วยงานปรับลดงบมากกว่านี้ก็เหลือแต่กระดูกแล้ว เพราะตอนนี้ปรับลดจนถึงรายจ่ายที่มีความจำเป็นจริงๆ แล้ว ซึ่งงบประมาณที่ลดลงไม่ได้กระทบกับงบสวัสดิการของประชาชน”

ส่วนจะมีการกู้เงินเพิ่มเติมจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทหรือไม่นั้น เดิมตามวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ว่า หนี้สาธารณะจะต้องไม่เกิน 60%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ซึ่งในภาวะปกติสามารถใช้เกณฑ์ได้ ส่วนในช่วงที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่นั้น ถ้าจะมีการกู้เงินเพิ่มอาจต้องมีการขยับเพดานวินัยการเงินการคลังด้วย

“กระทรวงการคลังจะต้องจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เป็นต้นว่า ควรจะขยับเพดานขึ้นเท่าไหร่ เมื่อขยับเพดานกู้แล้วนำเงินไปทำอะไรบ้างจะพยุงเศรษฐกิจหรือเยียวยาประชาชนยังไง”

เขากล่าวด้วยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(20เม.ย.)นี้ สำนักงบประมาณจะเสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 เพื่อขอจัดทำเอกสารงบประมาณวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวจะมาจากรายได้ 2.4 ล้านล้านบาท และการกู้ขาดดุล 7 แสนล้านบาท

สำหรับงบการลงทุนในปีงบประมาณ 2565 ตั้งไว้ 6.24 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่า 20% ที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้แล้ว แต่ยังน้อยกว่าการกู้ชดเชยการขาดดุล ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลอธิบายแล้วว่า จะใช้การลงทุนในรูปแบบอื่นเข้ามาชดเชยการลงทุนตามปกติของรัฐบาล เช่น การร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือTFFIFซึ่งทำให้เม็ดเงินการลงทุนจริงของรัฐบาลมากกว่า 7 แสนล้านบาท