รู้จักวัคซีนสูดดมจาก'แคนซิโน' ประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดฉีด

รู้จักวัคซีนสูดดมจาก'แคนซิโน'  ประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดฉีด

คนกลัวเข็มฉีดยาแต่ก็กลัวโควิด-19 ด้วยเริ่มยิ้มออก สัปดาห์หน้าจีนจะทดลองทางคลินิกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดสูดดม เข้าไปกระตุ้นทีเซลส์ในทางเดินหายใจ พัฒนาโดยแคนซิโน ไบโอโลจิกส์

หยู ซูเฟิง ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ บริษัทแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ของจีน เผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีในการประชุมโป๋อ่าว ฟอรั่ม ฟอร์ เอเชีย เมื่อวันอาทิตย์ (18 เม.ย.)  ว่า สัปดาห์หน้าบริษัทจะทดลองทางคลินิกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดสูดดมที่แคนซิโนพัฒนาร่วมกับสถาบันชีวเทคโนโลยีปักกิ่ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนจีนต่ำกว่าวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทคและโมเดอร์นา และเมื่อไม่กี่วันก่อนผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคจีนเปิดเผยต่อสาธารณะเองว่า วัคซีนจีนไม่ได้มีอัตราการปกป้องโควิด-19 สูงมากนัก จีนกำลังพิจารณาให้ประชาชนใช้วัคซีนต่างชนิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

เรื่องนี้หยูเผยกับซีเอ็นบีซีว่า วัคซีนชนิดสูดดมมีประสิทธิภาพมากกว่าชนิดฉีด เนื่องจากไวรัสโคโรนาเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ วัคซีน Ad5-nCoV ของแคนซิโนไบโอที่ใช้วิธีการฉีด ได้รับอนุมัติให้ใช้ในจีนและอีกหลายประเทศเรียบร้อยแล้ว ส่วนวัคซีนใหม่หยูอธิบายว่า ในทางทฤษฎีวัคซีนชนิดนี้จะเข้าไปกระตุ้นทีเซลส์ (เม็ดเลือดขาวที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน) ในทางเดินหายใจ จึงให้การป้องกันเพิ่มขึ้น หากป้องกันไม่ได้แล้วไวรัสเข้าไปในร่างกายลึกลงไปอีก ระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ ก็ยังสามารถต่อสู้กับไวรัสโควิดได้

“เท่ากับว่าคุณเพิ่มภูมิคุ้มกันหลายชั้น ก็สมเหตุสมผลใช่มั้ย นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงป้องกันผ่านเส้นทางเยื่อเมือก” หยูกล่าว

ซีอีโอแคนซิโนกล่าวด้วยว่า บริษัทใช้แนวคิดเดียวกันนี้พัฒนาวัคซีนชนิดสูดดมป้องกันวัณโรค (ทีบี) การทดลองในแคนาดาชี้ว่าปริมาณโดสของวัคซีนชนิดสูดดมเพื่อป้องกันวัณโรคนั้น “น้อยกว่าชนิดฉีดมากๆ”

นับถึงขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิดชนิดฉีดโดสเดียวของแคนซิโนไบโอ ได้รับอนุมัติให้ใช้ในหลายประเทศ เช่น จีน ปากีสถาน เม็กซิโก และฮังการี

แคนซิโนเผยว่า ข้อมูลเบื้องต้นจากการทดลองทางคลินิกเฟส 3 ในต่างประเทศ วัคซีนของแคนซิโนป้องกันโควิด-19 แบบแสดงอาการได้ 68.83% หลังฉีดโดสแรกสองสัปดาห์ แต่จะลดลงเหลือ 65.28% หลังฉีด 4 สัปดาห์

เทียบกับข้อมูลปรับปรุงแล้วของไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้ผลป้องกันการติดเชื้อ 91% ส่วนโมเดอร์นาได้ผลกว่า 90% หกเดือนหลังฉีดเข็มที่ 2

 เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดฉีดเข็มเดียว หยูกล่าวต่อว่า แคนซิโนไบโอศึกษาเรื่องการฉีดกระตุ้น 6 เดือนหลังฉีดเข็มแรก เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโควิด อาจเป็นการฉีดวัคซีนตัวอื่นหรือใช้วัคซีนของแคนซิโนไบโอเอง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลให้ชัดเจน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานวานนี้ (19 เม.ย.) ว่า คณะนักวิจัยจีนกำลังทดสอบใช้วัคซีนต่างชนิดร่วมกันทั้งของแคนซิโนไบโอและบริษัทในเครือฉงชิ่งจี่เฟ่ยไบโอโลจิคอลโปรดัคท์ส การทดลองกระทำที่เมืองหนานจิงทางตะวันออกของประเทศ คาดว่าจะมีอาสาสมัครเข้าร่วม 120 คน

จีนเป็นประเทศแรกที่รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 และดูเหมือนจะคุมการระบาดส่วนใหญ่ได้แล้ว โดยจีนตั้งเป้าฉีดวัคซีนประชากร 40% ภายในเดือนมิ.ย.นี้

ด้านกองทุนความมั่งคั่งแห่งรัฐ (อาร์ดีไอเอฟ) ของรัสเซีย แถลงวานนี้ (19 เม.ย.) เห็นชอบเป็นพันธมิตรผลิตวัคซีนในระยะยาวกับบริษัทฮั่วหลานไบโอโลจิคอลแบคทีริน ผลิตวัคซีนสปุตนิกวีในจีนจำนวนกว่า 100 ล้านโดส

ขณะเดียวกัน เฟิ่ง ตั้วเจี่ย ประธานสมาคมจีนเพื่อวัคซีนเผยกับเว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ว่า จีนกำลังปรับโฉมอุตสาหกรรมยาและแสดงบทบาทที่ไม่เคยทำมาก่อน ในการเป็นผู้จัดหาวัคซีนรายใหญ่ให้กับโลกต่อสู้โควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก โดยจีนมีเป้าหมายผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับประชากร 70% ของประเทศ หรือ 980 ล้านคน และส่งออกวัคซีนปริมาณเท่ากันภายในสิ้นปีนี้ 

นับถึงเดือน มี.ค. จีนส่งออกวัคซีนกว่า 100 ล้านโดส พอๆ กับที่อินเดียและสหภาพยุโรป (อียู) ส่งออกรวมกัน

เป้าหมายของจีนคือผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 5 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2565 ตัวเลขนี้สูงราว 10 เท่าจากผลผลิตวัคซีนรวมก่อนโควิดระบาดใหญ่ ในปี 2562 คณะกรรมการอาหารและยาจีนอนุมัติผลิตวัคซีนในประเทศ 528 ล้านโดส

“จีนกำลังสร้างไลน์การผลิตอีก 18 ไลน์ เช่น ไลน์การผลิตขนาดใหญ่ของไชนาเนชันแนลไบโอเทคกรุ๊ป” เฟิ่งอ้างถึงบริษัทดังในอุตสาหกรรมผลิตวัคซีนของจีน ซึ่งไบโอเทคเป็นบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจไชนาเนชันแนล ฟาร์มาซูติคอลกรุ๊ป (ซิโนฟาร์ม) ส่วนบริษัทซิโนแวคผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว 250 ล้านโดส สำหรับใช้ในประเทศและต่างประเทศ

การผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้นหมายความว่าจีนมีโอกาสมากขึ้นในการเพิ่มอิทธิพลในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการวัคซีน ควบคู่ไปกับอินเดียและรัสเซีย แต่ผู้สังเกตการณ์เตือนว่า ก่อนจะเป็นซัพพลายเออร์ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติได้ วัคซีนจีนจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานนานาชาติ และผ่านการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เสียก่อน ซึ่งเฟิ่งยอมรับว่า การผลิตวัคซีนปริมาณมหาศาลพร้อมๆ กับได้คุณภาพที่ต่างประเทศยอมรับหรือสูงกว่าเป็นความท้าทายใหญ่หลวง

ชิลีเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้วัคซีนโคโรนาแวคของจีน ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดครอบคลุมมากที่สุด แต่เมื่อเร็วๆ นี้การติดเชื้อกลับพุ่งขึ้นอีก

ข้อมูลจากเว็บไซต์Our World in Data ชี้ว่า ประชากรเกือบ 40% ของชิลีได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส เป็นรองก็เฉพาะอิสราเอลและสหราชอาณาจักรเท่านั้น

แต่เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นเกิน 9,000 คนเป็นครั้งแรก สูงมากเมื่อเทียบกับฤดูร้อนที่แล้วที่เกือบ 7,000 คนต่อวัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไวรัสกลายพันธุ์ที่โอกาสติดเชื้อสูงขึ้น การผ่อนคลายมาตรการสาธารณสุข ผู้คนเดินทางมากขึ้น ไม่ค่อยรักษาระยะห่างและไม่สวมหน้ากาก

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยชิลีเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันก่อนพบว่า วัคซีนโคโรนาแวคได้ผล 56.5% สองสัปดาห์หลังฉีดโดสสอง ซึ่งถือว่าได้ผลมาก แต่เมื่อฉีดโดสเดียวกลับได้ผลแค่ 3%