‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่31.21บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่31.21บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินรอคอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนพร้อมทยอยขายทำกำไรบางส่วนหลังสินทรัพย์เสี่ยงทำจุดสูงสุดใหม่เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่เงินบาทผันผวนฝั่งอ่อนค่า จากความกังวลสถานการณ์โควิด-19ในประเทศและแรงกดดันจากโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ คาดบาทแกว่งในกรอบ 31.15 - 31.30 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ31.21 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15 - 31.30 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมอยู่ในภาวะรอคอย (wait and see) รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ส่งผลให้ ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงที่ได้ทำจุดสูงสุดใหม่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ กดดันให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง นำโดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ที่ย่อลงเกือบ 1% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดลบราว 0.5%

เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ตลาดก็เลือกที่จะขายทำกำไรออกมาบ้าง ในช่วงฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน กดดันให้ ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงราว 0.3%

ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินก็พร้อมจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากรายงานผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีเกินคาด และมีแนวโน้มที่ผลประกอบการจะเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนโดยรวมจะไม่สดใส ทว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เพิ่มสถานะการถือครองพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเริ่มให้น้ำหนักประเด็นเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น (สอดคล้องกับ ผลสำรวจผู้จัดการกองทุนทั่วโลก โดย Bank of America ที่พบว่า ผู้จัดการกองทุนกว่า 60% เชื่อว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ หรือ Above-trend growth and Above-trend inflation) ซึ่งความกังวลประเด็นเงินเฟ้อดังกล่าว ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 3bps สู่ระดับ 1.61%

อย่างไรก็ดี แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักได้ โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) อ่อนค่าลงกว่า 0.4% สู่ระดับ 91.07 จุด กดดันโดย การแข็งค่าขึ้นกว่า 1% ของเงินปอนด์ (GBP) สู่ระดับ 1.399 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หนุนโดยแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอังกฤษที่ดีขึ้น หลังการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 สามารถทำได้ดีต่อเนื่อง จนยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นเดียวกับในฝั่งยุโรป ความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ได้หนุนให้เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.204 ดอลลาร์ต่อยูโร

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทอาจได้รับแรงหนุนให้แข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ทว่าปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ อาทิ ความกังวลสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งยังคงต้องติดตามยอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้ป่วยหนักที่อาจทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือได้

ขณะเดียวกัน ตลอดทั้งสัปดาห์ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า มากกว่าจะแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินบาทแข็งค่า ก็อาจจะไม่แข็งค่าไปมาก เนื่องจากผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ฝั่งผู้ส่งออกก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งหากผลประกอบการดีกว่าคาด ก็อาจจะพอช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนให้นักลงทุนกล้าจะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ต่อได้

ทั้งนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจนั้นจะอยู่ในฝั่งเอเชียเป็นสำคัญ โดยตลาดประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เริ่มสะดุดลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7D Reverse Repo) ที่ระดับ 3.50% และส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยหากจำเป็น เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ส่วนในฝั่งจีน เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (Loan Prime Rate) อายุ 1 ปี และ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% ได้ ตามลำดับ