'วัคซีน' อย่าพลาดซ้ำ งบโควิดเหลือไม่มาก

'วัคซีน' อย่าพลาดซ้ำ งบโควิดเหลือไม่มาก

ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนการฉีดวัคซีนทำไปได้เพียง 6.1 แสนโดส และหากจะเร่งหาวัคซีนในขณะนี้อาจช้าเกินไป ซึ่งรัฐควรเร่งดำเนินการควบคู่กับเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีน เนื่องจากรัฐบาลมีข้อจำกัดงบประมาณรับมือโควิดที่เหลือไม่มาก

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงเพิ่มขึ้นในระดับหลักพันคนต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,390 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดเพียง 6 คน ส่วนที่เหลือเป็นการติดเชื้อในประเทศ รวมแล้วทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสะสมขึ้นมาอยู่ที่ 43,742 ราย และถ้านับเฉพาะช่วงระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1-19 เม.ย.2564 มีผู้ติดเชื้อถึง 14,879 คน เกือบครึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ต้นปี 2563 การระบาดรอบนี้จึงถือว่าเร็วและรุนแรง

ในขณะที่การฉีดวัคซีนที่เป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดในประเทศไทย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 แต่ล่าสุดมีการฉีดไปได้ 618,581 โดส ในจำนวนนี้เป็นรวมการฉีดทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 โดยเมื่อวันที่ 9 เม.ย.2564 นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนรวดเร็ว ครอบคลุมการให้บริการประชาชนทั่วถึงและมีประสิทธิภาพขึ้น

คณะทำงานดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่เสนอแนวทาง และมาตรการในการจัดหาวัคซีนโควิด สำหรับใช้ในสถานพยาบาลของรัฐ และวัคซีนทางเลือกเพื่อนำมาให้บริการในสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งข้อเสนอการนำเข้าวัคซีนของภาคเอกชนถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งแต่กลางเดือน ก.พ.2564 ก่อนที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนโดสแรก ถัดจากนั้นมีข้อเสนอของภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีน โดยพร้อมที่จะออกเงินดำเนินการและช่วยวางระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

การเร่งหาวัคซีนในขณะนี้อาจจะช้าเกินไป เพราะการสั่งซื้อวัคซีน ณ เวลานี้ กว่าจะได้รับการส่งมอบวัคซีนต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน ดังนั้นการจัดหาวัคซีนเพิ่มจึงต้องเร่งดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด เพราะขณะนี้ไทยได้รับวัคซีนแล้ว 2.11 ล้านโดส และฉีดไปยังไม่ถึงครึ่งของจำนวนที่ได้รับ โดยขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการฉีดวัคซีนมาเพราะข้อจำกัดของรัฐบาลลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบประมาณรับมือโควิด-19

สำนักงบประมาณสรุปงบประมาณสำหรับโควิด-19 มีวงเงิน 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ งบตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เหลือ 2 แสนล้านบาท และงบกลางในปี 2564 เหลือ 1 แสนล้านบาท แต่งบกลางต้องกันไว้สำรองสำหรับเหตุฉุกเฉินอื่นด้วย จึงทำให้มีงบเหลือสำหรับโควิด-19 วงเงิน 2.5-2.6 แสนล้านบาท ทำให้นักวิชาการและภาคเอกชนมีข้อเสนอให้กู้เงินเพิ่ม ในขณะที่รัฐยังนิ่งกับข้อเสนอนี้ ทั้งการฉีดวัคซีน จำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงและงบประมาณที่จำกัดจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลต้องจัดการให้ดี