เตรียมพร้อม 'ไอซียูสนาม' รองรับคนไข้โควิด-19 หนัก

เตรียมพร้อม 'ไอซียูสนาม' รองรับคนไข้โควิด-19 หนัก

สธ.ปรับระบบบริหารจัดการเตียง คัดกรองผู้ติดเชื้อตามอาการป่วยเป็นระดับสี กันเตียงรพ.ไว้รองรับป่วยมีอาการ-หนัก ทุกเครือข่ายเบ่งเตียงทุกประเภทเพิ่ม คาด 1-2 วันเคลียร์คนไข้ตกค้างที่บ้านได้ ร.ร.แพทย์ขยายเตียงไอซียู50-100% พร้อมเตรียม "ไอซียูสนาม"

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ 19 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์ โควิด 19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงกรณีการบริหารจัดการ "เตียงผู้ป่วยโควิด-19" ว่า คนไข้ไม่ได้นอนโรงพยาบาลไม่ได้เท่ากับเตียงไม่พอ แต่ประเด็นปัญหา คือ

1. ไปตรวจโควิดในแล็บเอกชน และตรวจเสร็จให้ไปรอที่บ้าน เมื่อโทรแจ้งผลบวก แต่แล็บไม่มีเตียงรพ. รองรับในการนอนรักษาไม่ได้

2. รพ.เอกชนบางแห่ง ระบุว่าเตียงไม่มี ไม่ขยายเตียง

3. การค้นหาเชิงรุกไปตรวจเชื้อ และให้กลับบ้าน เมื่อเจอเชื้อก็หาเตียงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นโยบายขณะนี้ คือ ผู้ติดเชื้อทุกราย ต้องได้รับการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากระหว่างรอเตียงอยู่ที่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่โทรเยี่ยม โทรสอบถามอาการทุกวัน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการคัดกรองผู้ป่วย กรณีการคัดกรองเชิงรุกแล้วพบผู้ติดเชื้อ จะแบ่งตามความรุนแรง คือ สถานะสีเขียว ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย จะให้ทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) รับไว้ใน รพ.สนาม ขณะที่ผู้ติดเชื้อจากการรับบริการ ไม่ว่าจะจากการไปตรวจที่แล็ปหรือ รพ.ใดก็ตาม หากความรุนแรงสถานะสีเขียว จะต้องเข้ารักษาในฮอสพืเทล(Hospitel)

ส่วน สถานะสีเหลือง-สีแดง จะรับไว้ในรพ. ที่มีเวียนกันทั้งสังกัดกทม. สังกัดรพ.มหาวิทยาลัย/โรงเรียนแพทย์ สังกัดกรมการแพทย์ และรพ.เอกชน โดยให้รพ.ทุกสังกัดสำรองเตียงไอซียู โดยกรมการแพทย์เป็นหน่วยบริหารจัดการ ในส่วน ของภูมิภาคและปริมณฑล อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานปลัดสธ.

  

  • เตียงยังว่างอยู่ 3,023 เตียง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดวันที่ 18 เม.ย. มีเตียงจากสังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร รพ.ตำรวจ โรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน รพ.สนาม และฮอสปิเทล ทั้งหมด 9,317 เตียงจากเดิมที่เคยมี 6-7 พันเตียง เป็นการเบ่งเตียงขยายจำนวนออกไป ในจำนวนนี้มีการครองเตียง 6,294 เตียง และยังว่างอยู่ 3,023 เตียง แต่ก็ยอมรับว่า มีประชาชนประสานมาแต่ยังเกิดปัญหาอยู่จริง เพราะบางรายไปตรวจแล็ปแต่ไม่มีเจ้าของไข้

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาว่า เมื่อประสานเตียงได้ แต่กลับไม่มีรถรับผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้ทางท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ไปหาทางเพิ่มรถนำส่งที่สามารถแบ่งคนไข้เป็นตอนหน้า และตอนหลังได้ มาช่วยจัดการ ขณะนี้ได้แล้ว 50 คันจาก 3 บริษัทในระยะแรกพื้นที่กทม. จากนั้นจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะมีการนำส่งผู้ป่วยเป็นเวร โดยกรณีนี้จะอยู่ในความดูแลของ 1669 ศูนย์เอราวัณ

“กรณีที่ว่าเตียงไม่พอ และกรมการแพทย์ออกแนวทางให้ผู้ป่วยแยกตัวที่บ้านนั้น เรื่องนี้เป็นแนวคิดว่า หากระบาดรอบใหม่ หรือการระบาดรอบ 4 มามากกว่านี้ สมมติเป็นหมื่นรายมากกว่ารอบ 3 จึงเตรียมไว้ล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยรอที่บ้านว่า ต้องทำอย่างไร แต่เราก็คาดว่าไม่น่าจะถึงวันละหมื่นราย ซึ่งหากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือช่วยเหลือกันก็จะช่วยกันได้ ซึ่งหากมีการแยกตัวที่บ้านจริงๆ หรือที่เรียกว่า Home Isolation ก็จะมีการเตรียมระบบต่างๆ แต่ตอนนี้ยังไม่มีการใช้แนวทางดังกล่าว”นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขอย้ำสายด่วน 1669 (ศูนย์เอราวัณ เป็นหลักในการจัดหาเตียงในกทม. ส่วน 1668 สายด่วนกรมการแพทย์(เฉพาะกิจ) รับสาย 08.00-22.00 น. ทุกวัน โทรเยี่ยมผู้ติดเชื้อช่วยประสานเตียง และ 1330 สายด่วน สปสช. (รับสายตลอด 24 ชั่วโมง) ประสานจัดหาเตียง หรือหากติดต่อไม่ได้ เพราะสายเยอะมาก ให้ติดต่อไลน์ “สายดีบอต” อย่างไรก็ตาม สุดท้ายขอฝาก 3 ส สติ สื่อสาร สามัคคี ทีมประเทศไทยจะฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

   

  • ร.ร.แพทย์ขยายไอซียูเพิ่ม50-100%

นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี ในฐานะประธานเครือข่ายโรงเรียนแพทย์(uhosnet) กล่าวว่ส รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีคนไข้กลุ่มสีเขียวจำนวนมาก แต่ระยะถัดจากนี้คนไข้สีเขียวส่วนหนึ่งอาการจะเปลี่ยนกลายเป็นสีเหลืองและสีแดง เพราะฉะน้นกลุ่มรพ.ระดับตติยภูมิทุกสังกัดในกทม.ทั้งศิริราช รามาฯ จุฬาฯ พระมงกุฎเกล้า และวชิระพยาบาล เดินหน้าร่วมกันในการจัดเบ่งขยายเพิ่มเตียงไอซียูเพิ่มเป็น 50 %และ100 % ในระยะต่อไป นอกจากนี้ จะะมีการยกเลิกกิจการบางอย่างเพื่อมาเสริมไอซียู หากรพ.ไหนมีเตียงไอซียูว่างก็จะโยกคนจากที่อื่นเข้าไปเสริม เพราะไอซียูต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ แต่บุคลากรสามารถโยกมาช่วยเหลือกันได้

  • เตรียมไอซียูสนาม

"หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น มีแผนถัดไปคือการตั้งไอซียูสนาม ซึ่งมีการเตรียไว้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก รวมทั้งการชักชวนเพื่อนๆชาวบุคลากรสาธารณสุขมาระดมพละกำลังเพื่อให้ผ่านวิกฤติไปอีกครั้ง ตอนนี้สถานการณ์เห็นว่ากราฟเริ่มลง แปลว่าประชาชนให้ความร่วมมือ ทุกคนเริ่มตั้งการ์ดกันกลับมาดูแลตัวเองกันอีก ขอให้ทำต่อไปอย่างเข้มข้น แล้วเมื่อได้วัคซีนจำนวนมาก เชื่อว่าปีหน้าจะผ่านโควิดไปไดั และเศรษฐกิจไปได้มากขึ้น" รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว