กทม.คนไข้โควิด19ตกค้างที่บ้านราว904ราย

กทม.คนไข้โควิด19ตกค้างที่บ้านราว904ราย

เผยผู้ติดโควิด 19 ตกค้างรอเตียงในกทม.ราว 904 ราย ตรวจจากค้นหาเชิงรุก604ราย -รพ.เอกชนราว 300 ราย คาด 1-2 วันเคลียร์คนไข้ตกค้างที่บ้านได้

เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ 19 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.สุขสันต์ กิติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรณีการค้นหาเชิงรุกแล้วพบผู้ติดเชื้อ กทม.จะรับผิดชอบในการดูแล โดยปัจจุบันมีเฉลี่ยราว 120-140รายต่อวัน โดยหากเป็นผู้ป่วยสีเขียว จะรับเข้าดูแลในรพ.สนามที่มีการดูแลรักษาตามมาตรฐานสธ. ขณะนี้มีเตียงรพ.สนามอยู่ 1,656 เตียง มีการเข้าใจปัจจุบัน 1,275 เตียงเหลือว่าง 381 เตียง แต่กรณีที่ยังไม่ได้มาพักทั้งที่มีเตียงว่าง โดยมีผู้ตกค้างอยู่ที่บ้านราว 600 ราย เนื่องจาก ประชาชนส่วนหนึ่งไม่พร้อมเข้ารับการดูแลรักษาที่โรงพยาบาลสนามปฏิเสธโรงพยาบาลสนาม อยากอยู่โรงพยาบาลหรือฮอสพิเทลมากกว่า และ เตียงโรงพยาบาลสนามมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลาเพราะมีคนเข้าเข้า-ออกอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม จะมีการขยายเตียงรพ.สนามในวันที 20 เม.ย.อีก 1,100 เตียง.รวมในพื้นที่กทม.จะมีเตียงรพ.สนามรวม 2,756 เตียง และมีแผนเปิดเพิ่มที่จ.นนทบุรีและนครปฐมอีก 170 เตียง.จะรวมเป็น 2,926 เตียง.ไม่รวมฮอสพิเทลที่กำลังประสาน

นอกจากนี้ ในส่วนของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ได้มีการมอบหมายให้สำนักเทศกิจทั้ง50 เขตเข้าร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) คาดว่า 1-2 วันจะเคลียร์ผู้ป่วยตกค้างที่บ้านได

ผู้ป่วยตกค้างระบบรพ.เอกชนราว 300 ราย

ศ.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ในภาวะวิกฤติสำหรับรพ.เอกชน มีมาตรการแจ้งแก่สมาชิก คือ 1. การเปิดฮอสพิเทล 2. ให้ขยายจำนวนเตียงที่อยู่ในรพ. เพื่อรองรับคนไข้ สีเหลือง และสีแดง อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ที่ผ่านมา รพ.เอกชนมีคนไข้ค้างอยู่ประมาณ 250-300 คน แต่ข้อมูลพบมีผลบวกติดเชื้แทุกวัน และระยะเวลากักกันตัวจะใช้เวลา 14 วัน จึงจำเป็นต้องหาเตียงเพิ่มขึ้น โดยคนไข้สีเขียวต้องไปอยู่ฮอสพิเทลเป็นส่วนใหญ่

“ในรพ.มีการหารือกันว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาโควิดลงปอดรวดเร็วมาก จึงต้องนำผู้ป่วยกลับมาดูแลในรพ. ทำให้โกลาหลนิดหนึ่ง เพราะต้องเอาคนไข้สีเขียวออกไปอยู่ในฮอสพิเทล แต่ก็ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการประสานของรพ.แต่ละแห่งกับโรงแรมในการส่งต่อว่า รวดเร็วแค่ไหน ขณะนี้ทุกรพ. มีการขยายเตรียมเตียงสำหรับคนไข้สีเหลือง/สีแดง ทั้งนี้ มีการตกลงกันในเครือข่ายรพ.เอกชนในกทม.หากใครเป็นคนตรวจแล็ป ต้องขยายฮอสพิเทลมารองรับคนไข้สีเขียว ไม่ปล่อยให้คนไข้เดือดร้อน เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมามีการร้องเรียนตรงนี้มาก ยืนยันว่าเรายินดีให้ความร่วมมือ ต้องช่วยกันต่อไปเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้"นพ.เฉลิมกล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงกรณีการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด 19 ว่า คนไข้ไม่ได้นอนโรงพยาบาลไม่ได้เท่ากับเตียงไม่พอ แต่ประเด็นปัญหา คือ 1.ไปตรวจโควิดในแล็ปเอกชน และตรวจเสร็จให้ไปรอที่บ้าน เมื่อโทรแจ้งผลบวก แต่แล็ปไม่มีเตียงรพ. รองรับในการนอนรักษาไม่ได้ 2.รพ.เอกชนบางแห่ง ระบุว่าเตียงไม่มี ไม่ขยายเตียง 3. การค้นหาเชิงรุกไปตรวจเชื้อ และให้กลับบ้าน เมื่อเจอเชื้อก็หาเตียงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายขณะนี้ คือ ผู้ติดเชื้อทุกราย ต้องได้รับการดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากระหว่างรอเตียงอยู่ที่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่โทรเยี่ยม โทรสอบถามอาการทุกวัน เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกราย