เปิดข้อเสนอ 200 ซีอีโอ “เร่งฉีด-เร่งเปิดประเทศ”

เปิดข้อเสนอ 200 ซีอีโอ “เร่งฉีด-เร่งเปิดประเทศ”

"กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 200 ซีอีโอองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ระหว่างวันที่ 7 เม.ย-16 เม.ย.2564 เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ และข้อเสนอในการลดผลกระทบจากวิกฤติ

บางความเห็นแนะว่า รัฐควรตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ทั่วถึงภายในปีนี้ สำคัญอย่างยิ่ง เปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีมาตรฐานนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรี โดยไม่จำกัดปริมาณ และควรให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่พร้อมจัดงบประมาณสำหรับจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชนในพื้นที่ของตัวเองได้ จะยิ่งทำให้การกระจายวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น 

รวมไปถึงอาจต้องดึงคนเก่งด้านแอพพลิเคชั่นทำโลจิสติกส์วัคซีน นัดฉีด และกำหนดสถานที่ฉีด ออกพาสปอร์ตวัคซีนได้ ประชาสัมพันธ์และเปิดให้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนในวงกว้างโดยเร็ว

นอกจากนี้ ซีอีโอ ยังแนะว่า ควรจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่สมควรได้รับวัคซีนและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างจริงจังและเหมาะสม นอกจากด่านหน้า บุคลากรทางแพทย์ที่เป็นต้องได้รับการฉีดก่อนแล้ว จากนั้นอาจต้องเริ่มกระจายฉีดไปยังเมืองท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงธุรกิจ MICE เพื่อการสร้างความเชื่อมั่นให้นักธุระกิจต่างประเทศเข้ามาทำธุระกิจในประเทศมากขึ้น

“รัฐควรทำแผนการกระจายวัคซีนจากพื้นที่เสี่ยงมากไปเสี่ยงน้อย การจัดลำดับการฉีดต้องชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เน้นให้ครอบคลุมเป็นจุดๆ ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ไม่ควรกระจายลักษณะเบี้ยหัวแตก”

สำหรับข้อเสนอแนะในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซีอีโอ มีข้อเสนอแนะ เช่น ให้รัฐเร่งช่วยผู้ประการรายเล็กและรายกลางโดยการเพิ่มวงเงินให้สภาพคล่องในธุรกิจ และออกมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศตามจังหวัดที่พร้อมโดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว

บางข้อเสนอเน้นให้รัฐหันมามีมาตรการสนับสนุนเรื่องแรงงานเพิ่มขึ้นด้วย อย่างประเทศอื่นใช้การ co-pay เพื่อรักษาระบบการจ้างงานไว้และจะธุรกิจฟื้นได้เร็วกว่า และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งมาตรการที่ซีอีโอแนะ คือ การลดภาษี ซึ่งรวมถึงการเยียวยาเอสเอ็มอีด้วย และการอัดมาตรการสินเชื่อต่างๆ ที่ประชาชนเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ลดหรือยกเว้นภาระอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ชั้นดีให้มากที่สุด เพื่อให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันควรเพิ่มความสามารถในการผลิตของภาคการเกษตร

ซีอีโอ แนะว่าวิกฤติครั้งนี้หนักมาก ดังนั้นรัฐต้องบาลานซ์ระหว่างการอัดฉีดระยะสั้นกับการลงทุนระยะยาว และเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล เน้นอุตสาหกรรมที่จำเป็นในอนาคตมากขึ้น สร้างทักษะ และ Business ecology ด้านพลังงานไฟฟ้า ด้านดิจิทัล และด้านเฮลท์แคร์ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการส่งออกจากสินค้าที่จับต้องได้เป็นบริการให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐอาจต้องผนึกกำลังกับภาคเอกชนและหามาตรการที่ยั่งยืนในแต่ละอุตสาหกรรม จัดคณะทำงานที่มีวิสัยทัศน์เรื่องเทคโนโลยีและการพัฒนาคน

นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้รัฐอาจต้องให้ความสำคัญกับงานที่ไม่สามารถทำได้เวลาเศรษฐกิจรุ่งเรือง หรือมีนักท่องเที่ยวมากๆเช่น ลอกคลองกำจัดขยะทุกคลอง ทำความสะอาดและบูรณะสถานที่สาธารณะทั้งหมด จ้างนักศึกษาให้ทำวิจัยโดยขอโจทย์จากภาคเอกชนเพื่อให้เกิด เรียล ดีมานด์ นำไปสู่นวัตกรรมที่สามารถตอบสนอง และ Commercialize ได้จริง